กรมประมง เดินหน้า “โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่” ไม่หยุดยั้ง ยกแปลง “ปลาดุกบิ๊กอุย” จังหวัดนครพนม ขึ้นลุยตลาดแปรรูป ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภค พร้อมเพิ่มมูลค่า และสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน หนุนใช้การรวมกลุ่มเพื่อยกระดับมาตรฐานผลผลิต ให้มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพครบวงจร สร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคงให้เกษตรกร เมื่อวันที่ 6 พ.ค. นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า “โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่” ได้เริ่มดำเนินโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 2559 ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้สังกัดเร่งผลักดันโครงการฯ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพิ่มศักยภาพการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าสินค้า และเชื่อมโยงสู่การตลาดได้อย่างยั่งยืน โดยในส่วนของกรมประมงนั้น ได้ดำเนินโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ทั้งด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด และสัตว์น้ำชายฝั่ง ซึ่งมีแนวทางในการลดต้นทุนการผลิต โดยการสนับสนุนลูกพันธุ์สัตว์น้ำที่มีคุณภาพให้กับเกษตรกร เพื่อเพิ่มอัตราการรอด และสนับสนุนจุลินทรีย์ ปม.1 ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายสารอินทรีย์ ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในด้านต่าง ๆ และมีการเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการ โดยการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ทั้งด้านการเลี้ยง การจำหน่าย รวมถึงการจัดหาปัจจัยการผลิตให้แก่สมาชิกภายในกลุ่ม การส่งเสริมการตลาด เพื่อให้เกษตรกรผลิตสินค้าตรงกับความต้องการของตลาด สนับสนุนการแปรรูปสินค้า เพื่อเพิ่มมูลค้าสินค้า รวมถึงประสานงานไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อมารับซื้อสินค้า และผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรสมาชิกได้โดยตรง มีปริมาณการซื้อที่แน่นอน บนเงื่อนไขราคาที่เป็นที่น่าพอใจทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรในการวางแผนการผลิตสินค้า และการยกระดับมาตรฐานสินค้า(GAP) และสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมีผู้จัดการโครงการ (Project manager) เป็นผู้ให้คำแนะนำ ติดตาม สนับสนุนข้อมูล ทางวิชาการและประสานงานเกษตรกรกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการในด้านต่างๆ ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมประมงมีพื้นที่ดำเนินโครงการฯ จำนวนถึง 150 แปลง พื้นที่รวมประมาณ 15,873.93 ไร่ ซึ่งมีชนิดสัตว์น้ำที่หลากหลายตามความเหมาะสมของพื้นที่และศักยภาพของเกษตรกร อาทิ ปลานิล ปลาตะเพียน ปลายี่สกเทศ ปลากะพงขาว ปลาดุก กบ ปลาหมอ ปลาแรด ปลาสลิด ปลาสวาย ปลาช่อน ปูทะเล กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล เป็นต้น โดยจำแนกเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ ปี 2559 จำนวน 9 แปลง กลุ่มแปลงใหญ่ ปี 2560 จำนวน 16 แปลง กลุ่มแปลงใหญ่ ปี 2561 จำนวน 50 แปลง กลุ่มแปลงใหญ่ ปี 2562 จำนวน 34 แปลง กลุ่มแปลงใหญ่ ปี 2563 จำนวน 26 แปลง และกลุ่มแปลงใหญ่ ปี 2564 จำนวน 15 แปลง สำหรับโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (สัตว์น้ำจืด) จังหวัดนครพนม อยู่ภายใต้การดำเนินโครงการของสำนักงานประมงจังหวัดนครพนม และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครพนม เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของโครงการฯ ที่สนับสนุนให้เกษตรกรมีการเพาะเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย ซึ่งเป็นหนึ่งในชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่กรมประมงได้สนับสนุนให้เข้าสู่โครงการฯ ในปี 2564 เนื่องจากเป็นสัตว์น้ำที่ตลาดมีความต้องการสูง ราคาดี โดยปัจจุบันมีสมาชิกในโครงการฯ ทั้งหมด 34 ราย ซึ่งอาศัยอยู่ในอำเภอเรณูนคร จำนวน 7 ราย และอำเภอนาแกอีกจำนวน 27 ราย มีรูปแบบการเลี้ยงทั้งแบบเดี่ยวและแบบผสมผสาน วัตถุประสงค์ในการเลี้ยงแบ่งเป็น การเลี้ยงแบบยังชีพจำนวน 7 ราย และเลี้ยงแบบพาณิชย์จำนวน 27 ราย โดยมีกำลังในการผลิตต่อคนเฉลี่ย 16,877.77 กิโลกรัม/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 10,319.29 กิโลกรัม/ไร่ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 52.11 บาท ผลผลิตของกลุ่มเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยรวมทั้งสิ้นกว่า 455,700 กิโลกรัม/ปี และสามารถ สร้างรายได้รวมทั้งปีได้ประมาณ 879,519.75 บาท/ราย คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 23 ล้านบาท ทั้งนี้ เกษตรกรยังได้มีการเพิ่มมูลค่าผลผลิตโดยการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างหลากหลาย อาทิ ข้าวเกรียบปลาดุก ไส้กรอกปลาดุก น้ำพริกปลาดุกฟู เบอร์เกอร์ปลาดุก เป็นต้น เพื่อจำหน่ายสู่ท้องตลาดในช่วงที่ราคาขายปลาสดตกต่ำ ซึ่งสามารถตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี จึงนับเป็นการต่อยอดผลผลิต เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพได้เป็นอย่างดีอีกทางหนึ่ง โดยกรมประมงจะได้เร่งผลักดันให้มีการขยายผลในเรื่องของการแปรรูปสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการฯ เพื่อเพิ่มมูลค่า และรองรับความต้องการของตลาดต่อไปด้วย ส่วนการดำเนินโครงการฯ ในปี 2564 นั้น กรมประมงได้เตรียมแผนการดำเนินงานโดยการเพิ่มแปลงใหม่ สำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด จำนวน 12 แปลง เกษตรกร 431 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช, นครพนม, กาฬสินธุ์, ราชบุรี, นครปฐม, ลำปาง, กาญจนบุรี, พะเยา, อุดรธานี, พิษณุโลก, หนองบัวลำภู และสุราษฎร์ธานี โดยชนิดพันธุ์สัตว์น้ำจืดที่ทำการสนับสนุน ได้แก่ ปลาดุก ปลาสลิด กุ้งก้ามกราม ปลานิล ปลาตะเพียนขาว และปลาหมอ ส่วนสัตว์น้ำชายฝั่งมีแผนการดำเนินงาน 3 จังหวัด ได้แก่ ตราด, สมุทรสาคร และสุราษฎร์ธานี รวมจำนวน 3 แปลง ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง 3 ชนิด คือ ปูทะเล, ปลากะพงขาว และปลากะรัง ซึ่งจะดำเนินการร่วมกับกลุ่มเกษตรกรที่มีความสมัครใจเข้าร่วมโครงการฯ และสามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนด "หากเกษตรกรท่านใดมีความสนใจต้องการเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัด หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง ได้ทุกแห่งทั่วประเทศ ในวันและเวลาราชการ"รองอธิบดีกรมประมง กล่าว