เมื่อวันที่ 6 พ.ค.64 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.และความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพปชร.ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบ 160(6) มาตรา 98 (10) และมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) จากกรณีที่ส.ส.พรรคฝ่ายค้านขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่ศาลออสเตรเลียได้มีคำพิพากษาจำคุกฐานนำเข้าและค้ายาเสพติด ว่า คำวินิจฉัยของศาลที่ออกมา มีผลผูกพันทุกองค์กร ดังนั้นร.อ.ธรรมนัส จึงไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม สามารถตำรงตำแหน่ง ส.ส.และรัฐมนตรี ได้ “ประเด็นเรียกร้องให้สอบเรื่องจริยธรรม เหตุดังกล่าวจะมีการพิจารณาเกิดขึ้นได้คือในขณะที่เป็นสมาชิกพรรค หากพบว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนจริยธรรม หรือข้อบังคับพรรคหรือไม่ ซึ่งพรรคพปชร.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อปี 2561 หากคนที่เป็นสมาชิกอยู่ในขณะนั้นกระทำผิดข้อบังคับพรรคในระหว่างที่เป็นสมาชิก ก็ต้องมีการตรวจสอบแต่กรณีร.อ.ธรรมนัส เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลาย 10 ปีก่อน จะที่จะเป็นสมาชิกพรรค จึงไม่ได้อยู่ในกรอบจริยธรรมตามข้อบังคับของพรรค” เมื่อถามถึงข้อสังเกตกรณีของร.อ.ธรรมนัส กับนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ที่ปรึกษารมว.ยุติธรรม ที่ส่งคนใกล้ชิดไปสอบภาษาอังกฤษแทน และถูกเสนอให้ถอดออกจากทุกตำแหน่ง กล่าวย้ำว่า การพิจารณาว่าขัดจริยธรรมหรือไม่ จะดูจากการกระทำในขณะที่เป็นสมาชิกพรรค เมื่อถามถึงกรณีที่มีการเตรียมยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป ช.) ให้ตรวจสอบจริยธรรม ร.อ.ธรรมนัสนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่าหากจะร้องก็ร้องไป แต่ตามหลักกฏหมายต้องดูระหว่างที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีการกระทำละเมิดจริยธรรมในขนาดดำรงตำแหน่งหรือไม่ ส่วนเหตุที่เกิดก่อนหน้านั้น เราเข้าไปดูไม่ได้ เพราะไม่เกี่ยวกับอำนาจที่จะไปตรวจสอบ ขอย้ำว่าเมื่อศาลมีคำวินิจฉัยออกมาก็ถือเป็นที่สุดแล้ว