การเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นมีด้วยกันหลายเหตุผล หลายเงื่อนไข ! บ้างเคลื่อนไหว เพราะอยู่ในฐานะว่า “ถือแต้มต่อ” มีหลายปัจจัยที่เหนือกว่า “คู่แข่ง” บ้างเคลื่อนไหว เพราะ จำเป็นต้องทำ ไม่อาจหยุด ยืน อยู่นิ่ง โดยไม่ฟุตเวิร์คได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะมีแต่เสียรังวัด ขาด “อำนาจต่อรอง” เข้าไปทุกขณะ สำหรับพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำฝ่ายค้านแล้ว ดูเหมือนว่าน่าจะอยู่ในเงื่อนไขอย่างหลัง นั่นคือต้องแอคชั่นเพื่อรักษา “สถานะ” การเป็นพรรคใหญ่เอาไว้ ไม่เช่นนั้นแล้วจะถูก “พรรคก้าวไกล” เบียดจนไร้ที่ยืน อีกทั้งยังต้องออกแอคชั่นเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองทางการเมืองของตัวเองเอาไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะอย่าลืมว่า การเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องของ “วันนี้” หากแต่ยังต้องทอดสายตาไปข้างหน้า เมื่อ “ศึกใหญ่” มาถึง หากเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใด อย่างหนึ่งในทางการเมืองขึ้นมาจริง ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภา หรือลาออกของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันว. เวลา น.เหมาะควร มาถึง น่าสนใจว่า ในความเป็นจริงแล้ว การออกมาติดตาม ตรวจสอบการบริหารงานแก้ปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 ของรัฐบาล โดยพรรคฝ่ายค้าน ชนิด “เกาะติด” จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ รายวัน จนถึงขั้นเพิ่มดีกรี จี้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ แล้วเปิดทางให้ “คนใหม่” ที่พวกเขาเชื่อและมั่นใจว่าทั้งดี ทั้งเก่งกว่าคนชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาทำงานต่อนั้น อาจเป็นได้แค่ “เสียงลม” ที่พัดผ่านมา แล้วเลยไป เชื่อเถอะว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะไม่มีทางเล่นเกมนี้อย่างแน่นอน !! หมายความว่า การลาออกของพล.อ.ประยุทธ์ จะไม่เกิดขึ้นเพราะเสียงโจมตี และการ “ถูกบีบ” ให้ลุกออกไป โดยที่ยังไม่ชนะสถานการณ์ที่เขาเองกำลังเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำนั่นเอง ในทางกลับกัน การตัดสินใจลาออกของพล.อ.ประยุทธ์ จะมีขึ้นต่อเมื่อมั่นใจว่า รัฐบาลจะได้กลับมาสู่อำนาจอีกครั้ง โดยที่ไม่ใช่เพียงเพราะมี “รัฐธรรมนูญ ฉบับ2560” อันเป็น “กติกาเก่า” ใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าเท่านั้น แต่ทั้งนี้ยังต้องเป็นเพราะประเมินแล้วว่า “เสียงสนับสนุน” ที่ประชาชนมีต่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ นั้นเหนียวแน่นและแข็งแกร่งมากพอ อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าในความเป็นจริงแล้ว พรรคการเมืองที่อาจเป็นฝ่ายเผชิญหน้ากับสถานการณ์อันยากลำบาก เมื่อการเลือกตั้งรอบหน้ามาถึงกลับจะกลายเป็น พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล เสียเองยังไม่นับ “พรรคเล็ก” ที่ยังอยู่ในระนาบของ “ฝ่ายค้าน” ซึ่งจะต้องเจอกับพิษ “บัตรเลือกตั้งสองใบ” อันเป็นกติกาที่พรรคพลังประชารัฐ เตรียมนำมาใช้เป็น “ไม้ตาย”ด้วยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของที่มาส.ส.ซึ่งมี “สัญญาณ” ว่า พรรคใหญ่ ๆ แม้แต่พรรคเพื่อไทย เองก็ยังสนับสนุนแต่ยังไม่ต้องการ “ออกตัวแรง” กลับมาที่พรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคใหญ่ พรรคแกนนำฝ่ายค้านเองมีแนวโน้มว่า ในการเลือกตั้งรอบหน้า หากพล.อ.ประยุทธ์ ลากยาวรัฐบาลได้จนครบเทอม ซึ่งการเลือกตั้งจะมีขึ้นในปี 2566 นั้น ที่สุดแล้วจะยังคงเหลือส.ส.อยู่ในพรรค โดยที่ไม่แตกแถวอีกเท่าใด ? ปัญหาของพรรคเพื่อไทย นั้นอาจไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยลำพังแค่ “การปรับโครงสร้างพรรค” ตามที่ “เจ้าของพรรคตัวจริง” อย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ สั่งการให้ปรับเปลี่ยน “ผู้เล่น” ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา เมื่อ “หัวใจ” ของส.ส.ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสาน ซึ่งเคยเป็น “จุดแข็ง” ด้วยมี “ทักษิณฟีเวอร์” กลับพบความเคลื่อนไหวในระดับพื้นที่ อันเต็มไปด้วยความคึกคัก นัยว่า ส.ส.คนเก่า คนดังในหลายจังหวัดภาคอีสาน ได้ “ผูกเสี่ยว” หาทางหนีทีไล่ “เปิดดีล” เอาไว้กับพรรคการเมืองอื่นๆไว้เรียบร้อยแล้ว และที่น่าสนใจไปกว่านั้น ปฏิบัติการผูกเสี่ยว ดองกันเอาไว้ก่อนถึงวันเลือกตั้งมาถึงนั้น คนของพรรคเพื่อไทย ใช่ว่าจะหนีทัพออกไปอยู่กับ “ศัตรู” ฝั่งตรงข้ามอย่างพรรคพลังประชารัฐ เสียที่ไหน เพราะสายข่าวแจ้งว่า ส.ส.คนดังๆ ฐานเสียงแน่นๆ ก็เลือกไปอยู่กับพรรคไทยสร้างไทย ของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” หลังจากที่เจ้าตัว ตัดสินใจเดินออกจากพรรค ด้วยขัดแย้งอย่างหนัก กับกลุ่มอำนาจในเพื่อไทย สายตรงกับ อดีตนายกฯทักษิณ นั่นเอง พรรคไทยสร้างไทยนั้นกำลังสร้างตัวเพื่อให้มี “อำนาจ” ในการต่อรองทางการเมืองรอบหน้า อย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะต่อรองที่ว่านั้น ย่อมไม่ใช่การกลับไป ผนึกรวมกับพรรคเพื่อไทย เพราะนับวันมีแต่จะ “เล็กลง” หากจะมองให้เห็นถึง “อนาคต” ก็ต้องมองให้ขาดว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า ถึงอย่างไร พรรคพลังประชารัฐ และ “3ป.” ก็แพ้ไม่ได้ หมายความว่าโอกาสที่พรรคเพื่อไทย จะเป็น “แม่เหล็ก” ทางการเมืองจึงเป็นไปได้ยาก ด้วยเหตุนี้โอกาสที่จะได้เห็น แม่ทัพฝีมือดีจากพรรคเพื่อไทย ทยอยทิ้งพรรค ก็อย่าได้สงสัย เพราะพวกเขาย่อมมองหา “ทางเลือก” ที่ดีกว่า