เมื่อวันที่ 6 พ.ค.นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ Facebook ส่วนตัว ข้อความว่า ผมเห็นคำสั่ง นายกรัฐมนตรี ที่ 6 / 2564 เรื่อง จัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลงนามโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 แต่งตั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานคณะกรรมการศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์ โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งถือว่าตัวพลเอกประยุทธ์เอง ได้ตัดสินใจอาสามาบัญชาการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วยตนเอง เป็นความคิดที่ถูกต้อง เพราะพลเอกประยุทธ์ เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐบาล และใน ศบค. จำเป็นจะต้องเข้ามารับผิดชอบการแพร่ระบาดในครั้งนี้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก เปรียบเสมือนเป็นการเอาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเดิมพัน ถ้าหากคณะกรรมการชุดนี้ ไม่สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดได้เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ได้ ก็จะลุกลามแพร่ระบาดไปทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเท่ากับเป็นความล้มเหลวของรัฐบาล และจะมีการแพร่ระบาดไปทั้งประเทศ "เมื่อรัฐบาลไม่สามารถรับมือและแก้ปัญหาได้ ก็จะมีแรงกัดดันให้แสดงความรับผิดชอบในปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งจะมีแรงกดดันถาโถมเข้ามาในทุกทิศทาง จนรัฐบาลไม่สามารถยืนหยัดบริหารประเทศต่อไปได้ แต่ถ้าพล.อ.ประยุทธ์สามารถแก้ปัญหาการแพร่ระบาดในครั้งนี้ได้ลุล่วงไปด้วยดี ก็จะทำให้รัฐบาลชุดนี้มีอายุต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งถือว่าสอบผ่านการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือว่าเป็นด่านแรกของรัฐบาล ก่อนจะถึงด่านที่2 ที่รออยู่ คือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้"นายเทพไท กล่าว นายเทพไท กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังโพสต์ตั้งข้อสังเกตุ เรื่องการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ว่า ผมแปลกใจมากกับ คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๗/๒๕๖๔ (ผอ.ศบค.) จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่มีการแต่งตั้ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็น ประธาน ซึ่งเป็นตำแหน่งของพลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่เคยเป็นนายทหารในกองทัพมาก่อน ไม่ได้แต่งตั้งผู้มีหน้าที่รับผิดชอบด้านสาธารณสุขโดยตรง ให้เป็นประธาน คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่กลับแต่งตั้งให้เป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น หรือเป็นเพราะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้อำนวยการ ศบค.แล้ว มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่จำเป็นต้องแต่งตั้งรัฐมนตรีที่มีฐานะเป็นฝ่ายการเมือง เข้ามาเป็นคณะกรรมการแต่อย่างใด จึงได้การแต่งตั้งคณะกรรมการที่มาจากข้าราชการประจำทั้งหมด