สำรวจความพร้อมแต่ละพื้นที่ จะใช้วิธีจัดการเรียนสอนแบบใด หากเรียนได้ในรร.ได้ จะให้ On-Site เรียนได้ปกติในพื้นที่ปลอดภัย-เว้นระยะห่าง หรือเรียนออนไลน์ หรือเรียนทางไกล หรือใช้ใบสั่งงาน ย้ำต้องไม่เพิ่มภาระให้ผู้ปกครอง เมื่อวันที่ 5 พ.ค.64 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้งที่ 9/2564 โดยมีผู้อำนวยการสำนักต่างๆ ของ สพฐ. เข้าร่วมประชุมผ่านระบบห้องประชุมออนไลน์ (ZOOM) นายอัมพรกล่าวว่า ในที่ประชุมได้ร่วมกันประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามที่ ศบค. กำหนดพื้นที่สีแดงต่างๆ ซึ่งได้สำรวจความพร้อมในเชิงพื้นที่ของโรงเรียนว่าหากเปิดเรียนวันที่ 1 มิ.ย. ในแต่ละพื้นที่แต่ละโรงเรียนนั้น จะสามารถเปิดเรียนให้นักเรียนมาเรียนได้ตามปกติหรือไม่ จะมีอยู่กี่แห่งและมีนักเรียนกี่คน ซึ่งในกรณีที่เปิดไม่ได้แล้วต้องใช้วิธีอื่น โรงเรียนจะใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนกี่วิธี ในรูปแบบใดบ้าง ซึ่งตอนนี้เราได้ข้อมูลมาเพียงพอต่อการตัดสินใจแล้วว่า จะใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนกี่วิธี และมีจำนวนนักเรียนที่จะเข้าเรียนในแต่ละวิธีหรือผสมกันหลายวิธีอยู่เท่าไหร่ เมื่อได้วิธีมาแล้วจะมาถอดบทเรียนร่วมกันว่าปัญหาอุปสรรคใน 1 ปีที่ผ่านมา ที่พบจากการจัดการเรียนการสอนในแต่ละวิธีนั้นมีอะไรบ้าง และจะสนับสนุนหรือแก้ไขปัญหาให้กับโรงเรียนและนักเรียนในแต่ละวิธีได้อย่างไร ซึ่งได้มีการกำหนดช่วงเวลาไว้ว่า ตั้งแต่วันนี้ถึง 16 พ.ค. จะเตรียมสนับสนุนในเรื่องของการจัดทำสื่อและคลังสื่อทั้งหลายที่มีอยู่ โดยจัดจำแนกไว้สำหรับนักเรียนในแต่ละชั้นเรียน ทั้งอนุบาล ประถม มัธยมต้น-มัธยมปลาย ไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้โรงเรียนสามารถนำสื่อหรือแพลตฟอร์มการเรียนเหล่านี้ไปใช้ได้อย่างรวดเร็วคล่องตัวยิ่งขึ้น โดยได้ร่วมมือกับสช. ในการพัฒนาครูให้มีทักษะจัดการเรียนการสอน ขณะเดียวกันทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) ได้ประสานกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเรื่องการพัฒนาครูให้สามารถสอนแบบออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ได้ประสานกับ DLTV ในเรื่องการจัดตารางการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับการจัดตารางเรียนปกติที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. อีกทั้งจะจัดหาอุปกรณ์เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนออนแอร์ได้ เป็นต้น นายอัมพร กล่าวว่า หากสามารถเรียนในโรงเรียนได้จะใช้วิธี On-Site เป็นหลัก แต่หากเรียนในโรงเรียนไม่ได้ เราจะดูที่นักเรียนเป็นสำคัญ เช่น นักเรียนสามารถเรียนออนไลน์ได้หรือไม่ หากเรียนออนไลน์ไม่ได้สามารถเรียนออนแอร์ได้หรือไม่ หากทั้ง 2 วิธีไม่ได้ ให้ลองดูวิธีอื่นๆ เช่น On Demand หากไม่ได้อีกก็ให้ใช้วิธี On Hand จัดชุดใบงานให้นักเรียนแทน โดยการจัดการเรียนการสอนครั้งนี้ จะไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ปกครอง แต่เพื่อให้ผู้ปกครองมีความผ่อนคลายและสบายใจมากขึ้นว่า บุตรหลานจะได้เรียนและมีเครื่องมืออุปกรณ์พร้อมที่จะ เรียนได้ นอกจากนี้จะร่วมกับ กศน. ในการนำตารางเรียนหรือเนื้อหาการเรียนที่ กศน. มีอยู่ ซึ่งจัดการเรียนการสอนผ่านทางระบบโทรทัศน์และวิทยุอยู่แล้ว โดยดูว่าส่วนไหนที่มีเนื้อหาตรงกัน สามารถใช้ทดแทนกันได้ ก็จะให้คุณครู นักเรียน และผู้ปกครอง สามารถเข้าไปรับชมรับฟังกันได้ “ทั้งนี้ เมื่อเลื่อนการเปิดภาคเรียนไปเป็นวันที่ 1 มิ.ย.แล้ว รมว.ศธ. ก็มีความห่วงใยว่าน้องๆ นักเรียนที่อยู่บ้านในช่วงระหว่างวันที่ 17-31 พ.ค. จากเดิมที่จะเป็นช่วงเปิดเทอม ในช่วงระหว่างนั้นจะมีกิจกรรมอะไรที่เหมาะสมให้เด็กนักเรียนทำบ้าง เราเองก็มองว่าน่าจะเป็นในลักษณะของกิจกรรมทางเลือก ให้นักเรียนเลือกได้ตามความสมัครใจ หรือจะไม่เลือกทำก็ได้ โดยจะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับทักษะชีวิต เช่น เรียนรู้การอยู่อย่างไรในช่วงโควิด-19 ให้มีความปลอดภัย โดยไม่มุ่งเน้นการประเมินผลว่านักเรียนต้องเข้าใจเท่าไหร่ อย่างไร เพียงแต่มุ่งเน้นให้นักเรียนได้เข้าไปศึกษาหาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร ปลูกผักสวนครัว วาดภาพ ทำงานบ้าน หรือการฝึกอาชีพ ให้เป็นงานอดิเรกสำหรับนักเรียน หรือหากโรงเรียนใดจะใช้โอกาสนี้ในการซักซ้อมการเรียนออนไลน์หรือออนแอร์ก็สามารถทำได้ เพื่อให้วันที่ 1 มิ.ย. สามารถปรับการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพไร้ปัญหา” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว