วันที่ 5 พ.ค.64นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบต่อมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยใช้เงินที่เหลือจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ว่า การนำเงินกู้ จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท มาช่วยเหลือประชาชนขอให้ทำให้สำเร็จ แต่ที่ผ่านมาในการตรวจสอบ และติดตามของกมธ.ฯ พบว่า การใช้เงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ประสบความสำเร็จ เช่น เงินกู้เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี ในรายการเงินกู้ซอฟท์โลน พบว่าธนาคารปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบธุรกิจที่มีความเข้มแข็ง แต่ผู้ประกอบธุรกิจที่มีปัญหา และได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาล เช่น สั่งปิด กลับเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือดังกล่าว “ที่ผ่านมา กมธ.ฯ ได้แต่มานั่งเถียงกันว่าจะช่วยคนที่มีปัญหาอย่างไร เคยเสนอปัญหาให้รัฐบาล แต่ไม่พบการแก้ไข ตอนนี้กมธ.ฯ เริ่มท้อ เพราะกมธ.มาประชุมกันน้อยลง เสนออะไร รัฐบาลไม่ตอบรับ ปัญหาก็แก้ไม่ได้ ไม่มีอะไรคืบหน้า การประชุมแต่ละครั้ง เหมือนมานั่งฟังกันบ่น เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็ไม่มา แต่การทำงานของกมธ. ยังเดินหน้าต่อไป จนกว่าเม็ดเงินจากการกู้ จะหมด” นายชูวิทย์ กล่าว นายชูวิทย์ กล่าวด้วยว่าสำหรับมาตรการช่วยเหลือประชาชน เช่น โครงการคนละครึ่ง ที่เตรียมเปิดเฟสสาม ตนมองว่าเป็นโครงการแจกเงินที่ถูกประชาชนด่ามากที่สุด ทั้งนี้ตนมองว่าสิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ ไม่แบ่งกลุ่ม หากจะช่วยต้องช่วยทุกคนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป แต่หากแบ่งแยกคนที่ได้รับสิทธิ ตนเชื่อว่าโครงการจะไม่สำเร็จ และกรณีที่จ่ายเงินผ่านบัตรสวัสดิการ ตนเชื่อว่ามีเฉพาะกลุ่มนายทุนที่ได้ประโยชน์ ส่วนการปล่อยเงินกู้ให้กลุ่มเอสเอ็มอี หรือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิด นั้น ตนมองว่าควรปล่อยเงินกู้ให้เพื่อผู้ประกอบการซ่อมแซม ปรับปรุงร้าน โดยเฉพาะบาร์เบียร์ ที่พัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับประเทศ ควรปล่อยกู้ให้รายละ 20,000 บาท เพื่อซ่อมแซมร้าน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนช่างรับเหมาในพื้นที่ให้มีงานทำด้วย นายชูวิทย์ ยังกล่าวถึงข้อเสนอให้เลื่อนการนัดประชุมสภาฯ หลังจากมีพ.ร.ฎ.เปิดสมัยประชุม ปลายเดือนพฤษภาคม นี้ว่า หากมีวาระสำคัญสภาฯ ต้องเดินหน้าประชุมเพื่อพิจารณา ส่วนส.ส.ที่กังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ตนเชื่อว่า ส.ส.ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มจะมีภูมิคุ้มกันโรค ส่วนส.ส.ที่รู้ตัวว่าติดขอให้งดการร่วมประชุม ส่วนใครที่ไม่ป่วยต้องมาประชุมได้