กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00-31.40 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 31.15 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 31.15-31.49 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับระดับปิดสิ้นเดือนมีนาคม ท่ามกลางสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลกสะท้อนจากกิจกรรมด้านการผลิตและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น เงินดอลลาร์ฟื้นตัวเมื่อเทียบกับเงินยูโรและเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯที่ปรับตัวสูงขึ้นตามข้อมูลเศรษฐกิจที่บ่งชี้ทิศทางการเติบโตอย่างสดใส ขณะที่ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0-0.25% ตามความคาดหมายของตลาด และระบุว่าจะหนุนเศรษฐกิจต่อไป โดยเฟดจะยังคงเข้าซื้อพันธบัตรสหรัฐฯอย่างน้อย 8 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนและหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (Mortgage-backed Securities) อย่างน้อย 4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน แม้เฟดประเมินภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มของวิกฤตโรคระบาดในทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 3,332 ล้านบาท และ 13,800 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้มองว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับตัวเลขภาคบริการและการจ้างงานเดือนเม.ย.ของสหรัฐฯซึ่งคาดว่ายังคงบ่งชี้การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตามการกระจายวัคซีนที่รวดเร็วและการกลับมาเปิดเมือง อย่างไรก็ตาม ในการแถลงล่าสุดประธานเฟดมองว่าการจ้างงานยังคงอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายและเน้นย้ำว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ทางด้านรมว.คลังสหรัฐฯได้กล่าวช่วงต้นสัปดาห์นี้ว่าอาจต้องปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นบ้างเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป ส่งผลให้นักลงทุนระมัดระวังมากขึ้น ขณะที่ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ(บีโออี)ในวันที่ 6 พ.ค.อาจสร้างความผันผวนให้กับเงินปอนด์ได้เช่นกัน โดยตลาดจะติดตามสัญญาณเกี่ยวกับช่วงเวลาถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของบีโออีในระยะถัดไป สำหรับปัจจัยในประเทศ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ตามเดิม ในวันนี้ (5 พ.ค.) หลังธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเดือนมีนาคมขยายตัว 1.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเติบโต 5.7% อย่างไรก็ดี กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดือนเมษายนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในประเทศระลอกสามและยังต้องติดตามว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อเพียงใด ขณะที่การส่งออกสินค้าดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวมีลักษณะแตกต่างกัน (uneven recovery) มากขึ้น