นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ในการส่งออกขาดแคลนว่า การแก้ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ในการส่งออกขาดแคลน มีการดำเนินการของกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชนและกระทรวงคมนาคม ในการจับมือแก้ไขปัญหาและสถานการณ์เริ่มคลี่คลายขึ้น สาเหตุหลักสำคัญที่ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนเพราะเป็นเรื่องที่ขาดแคลนไปทั่วโลก และประเทศไทยเรามีการส่งออกมากกว่าการนำเข้าเยอะ จึงมีแต่ตู้ออกไปต่างประเทศแต่ตู้ที่กลับมามีน้อยกว่า อย่างไรก็ตามในการร่วมมือกันฝ่ายแก้ไขปัญหา ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นลดภาระให้ภาคเอกชนมากขึ้นเช่น ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม มีการช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกลดภาระค่าบริการหน้าท่าลง 1,000 บาทต่อตู้ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนของผู้เช่าออกไปได้ ทั้งนี้ประเด็นที่ภาคเอกชนต้องการมากคือทำอย่างไรให้เรือขนาด 400 เมตรเข้ามาเทียบท่าที่แหลมฉบังได้ เพื่อสามารถนำตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาส่งออกสินค้าคราวละมากๆโดยเรือขนาด 400 เมตร สามารถรับสินค้าส่งออกของไทยไปยังปลายทางได้เลยไม่ต้องไปถ่ายลงเรือเล็กที่สิงคโปร์อีกทอดหนึ่ง ปกติถ้าใช้เรือเล็กขนของที่แหลมฉบังจะต้องไปถ่ายสินค้าที่สิงคโปร์ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นหลายทอด ถ้าใช้เรือขนาดใหญ่จะสามารถออกจากแหลมฉบังตรงไปยังปลายทางได้ทันที "มีข่าวดีโดยวันนี้ถือเป็นวันแรกที่จะมีเรือขนาด 399 เมตร มาเทียบท่าที่แหลมฉบังโดยจะมาเทียบท่าที่ท่า D1 เป็นเรือของบริษัทเมอร์ก โดยเรือลำนี้มาจากสหภาพยุโรป สิงคโปร์ แล้วก็มาไทยจากนั้นจะไปปลายทางที่จีนและสหรัฐอเมริกา โดยขนตู้เปล่ามาประมาณ 6,000 ทีอียู ซึ่งสามารถช่วยส่งสินค้าออกให้กับประเทศไทยในภาพรวมได้ประมาณ 120,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 12,000 ล้านบาทในภาพรวม โดยจะขนของของไทยออกไปในวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 สินค้าที่ส่งออกประกอบด้วย ข้าว อาหารกระป๋อง ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น ถือว่าเป็นภาพความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน " โดยหลังจากนี้จะมีเรือมาเทียบท่าอีก 3 ลำ วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 เป็นเรือ MSC ขนาด 399 เมตร วันที่ 2 มิถุนายน 2564 เรือ MSC 395 เมตร และวันที่ 19 มิถุนายน 2564 เรือ MSC ขนาด 398 เมตร จะช่วยคลี่คลายเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนได้