นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน กำลังพิจารณาตามนโยบายของ นายกรัฐมนตรีที่ให้ทุกกระทรวงเตรียมความพร้อม สำหรับมาตรการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกที่ 3 ทั้งเรื่องการลดค่าไฟฟ้า และอื่นๆ ซึ่งสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้เป็นอย่างดี ถือเป็นแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง โดยในส่วนนี้ได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ,บมจ.ปตท.ร่วมพิจารณาทั้งการช่วยเหลือประชาชน และเร่งลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยล่าสุด นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน สั่งการให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาต่ออายุการขยายมาตรการผ่อนผันยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) เป็นการชั่วคราวให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ หรือครอบคลุมประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า ประเภทที่ 3 ประเภทที่ 4 ประเภทที่ 5 ประเภทที่ 6 และประเภทที่ 7 จากเดิมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทดังกล่าวต้องเสียค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) ซึ่งคิดจากค่าไฟฟ้าในอัตราขั้นต่ำในช่วงภาวะเศรษฐกิจปกติ มาเป็นการเสียค่าไฟฟ้าตามจริงในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง ซี่งมาตรการนี้ สิ้นสุดการช่วยเหลือ เดือน เม.ย.64 คาดว่าน่าจะต่ออายุอย่างน้อย 3 เดือน หรือ เดือน พ.ค.-ก.ค.64 ซึ่งกรณีนี้ก็จะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะโรงแรมที่ได้รับผลกระทบอีกระลอกหนึ่งจากการระบาดรอบนี้ ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาทุกแนวทางว่าจะมีมาตรการลดค่าครองชีพเพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบของประชาชนได้อย่างไร โดยจะเร่งประชุมหาข้อสรุปโดยเร็ว โดยเฉพาะต้องยอมรับว่ากลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม เอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง รมว.พลังงาน จึงสั่งให้ต่ออายุ ยกเว้น Demand Charge ไปก่อน ขณะเดียวกันในด้านความต้องการพลังงานโดยรวมก็มีโอกาสที่จะชะลอลงในช่วงนี้ และอาจส่งผลไปยังการใช้ก๊าซธรรมชาติ เพื่อผลิตไฟฟ้า และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี ในส่วนของรายใหม่ที่จะมีการนำเข้า โดยยอมรับว่า ในช่วงนี้กระทรวงพลังงานเน้นย้ำเรื่องการช่วยเหลือผู้ป่วยและรับมือสถานการณ์โควิด-19 ร่วมกับรัฐบาล จึงยังไม่ได้พิจารณาเรื่องปริมาณนำเข้าแอลเอ็นจีในส่วนของรายใหม่