ระบุ 3 เหตุผลหากใช้ไม่สมเหตุสมผล อาจทำให้ยาขาดแคลน-ยังไม่มีหลักฐานชัดป้องกันปอดอักเสบได้ และห่วงอาจเกิดเชื้อดื้อยาในภายหลังได้ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “ยาฟาวิพิราเวียร์ได้รับการจดทะเบียนยาและอนุมัติให้ใช้ในผู้ป่วยโควิด-19 เป็นกรณีพิเศษสำหรับศึกระลอกแรก เนื่องจากมียาจำกัดจึงให้ใช้เฉพาะในรายปอดอักเสบรุนแรง การเก็บข้อมูลย้อนหลังโดยคณะทำงานพบว่ายานี้น่าจะช่วยลดความรุนแรงและการสูญเสียจากโรค และใช้ได้ปลอดภัย แต่เนื่องจากยานี้ไม่มีใช้ในประเทศทางตะวันตก จึงไม่มีข้อมูลเชิงวิชาการที่หนักแน่นรองรับ แต่คณะกรรมการจัดเตรียมยาของประเทศก็ได้จัดเตรียมไว้ให้เพียงพอในระลอกสอง ซึ่งไม่เกิดปัญหาเพราะมีอัตราการใช้ราว 20% ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยที่คณะกรรมการวิชาการได้ขยายข้อบ่งใช้ให้ครอบคลุมตั้งแต่ปอดอักเสบขั้นต้นและผู้ป่วยที่อาจเกิดปอดอักเสบรุนแรง ซึ่งผมในนามสมาคมอุรเวชช์ฯ ได้ทำเรื่องเสนอคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อบรรจุยานี้ไว้สำหรับให้ทุกโรงพยาบาลจัดซื้อได้เองเพื่อให้มีใช้งานเพียงพอ ในระหว่างดำเนินการนี้เกิดศึกระลอกสามตามมาอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ป่วยเพิ่มแบบทวีคูณควบคู่ไปกับยอดการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยมีอัตราการใช้ระหว่าง 20-70% แล้วแต่ความสะดวกการเข้าถึงยาในพื้นที่ เป็นที่มาของความฉิวเฉียดของการมียาสำรองใช้เกือบไม่เพียงพอ ขอบคุณยาต้นแบบจากญี่ปุ่นที่เข้ามาช่วยไว้ทันจำนวน 2.2 ล้านเม็ด (รักษาผู้ป่วยได้ราวสามถึงสี่หมื่นคน) ขณะนี้มีแนวคิดขยายการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ให้เข้าใกล้ 100% โดยส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยโดยมีเหตุผลดังนี้ การกวาดให้ยาแบบไม่แยกแยะ มีข้อเสียคือ 1. ยาอาจขาดมือจากที่สำรองไว้ ทำให้ผู้ป่วยรายที่จำเป็นอาจไม่ได้ยาชั่วคราวหรือได้ไม่เต็มจำนวน 2. การใช้ยาตั้งแต่แรกอาจทำให้แพทย์นิ่งนอนใจในประสิทธิภาพของยา จนอาจทำให้ละเลยการเฝ้าระวังการเกิดปอดอักเสบ ยานี้ยังไม่มีหลักฐานว่าป้องกันการเกิดปอดอักเสบหรือทำให้ปอดอักเสบเล็กน้อยไม่ลุกลาม 3. การใช้ยาฆ่าเชื้อที่ไม่สมเหตุสมผล (non-rational drug use) จะนำมาซึ่งการเกิดเชื้อดื้อยาภายหลัง # รำลึกพ่อหลวงที่ให้เราใช้สติทำงานมีปัญญาชี้นำ