"ธกส."อัดฉีดหมื่นล้าน"ฟื้นฟู-พักหนี้"เยียวยาภาคเกษตรช่วงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส "ปลัดฯพลังงาน"สั่งด่วน"ปตท.-กฟผ." ช่วยเหลือทุกรูปแบบ สกัดโควิดพื้นที่ชุมชนคลองเตย เมื่อวันที่ 3 พ.ค.64 นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 ซึ่ง ธ.ก.ส. พร้อมดำเนินการตามนโยบายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เกษตร และสถาบันเกษตรกร ผ่าน 2 มาตรการดังนี้ 1) มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท โดยเติมวงเงินอัตราดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งที่เป็นเกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สหกรณ์ภาคการเกษตร และสหกรณ์นอกภาคการเกษตรที่ประกอบธุรกิจพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และบริการ โดยลูกค้าเดิม สามารถขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม สูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อธุรกิจ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรือ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท โดยให้นับรวมวงเงิน Soft Loan เดิม ที่เคยได้รับ กรณีลูกค้าใหม่ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อธุรกิจกับสถาบันการเงินทุกแห่ง ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 กู้ได้ไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก และปีต่อไปคิดดอกเบี้ยร้อยละ 4.875 ต่อปี หรือร้อยละ 6.50 ต่อปี ตามประเภทลูกค้า โดยรัฐบาลรับภาระจ่ายดอกเบี้ยแทนในช่วง 6 เดือนแรก กำหนดระยะเวลาชำระคืนภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ลูกค้าได้รับเงินกู้ หรือตามที่ ธปท. กำหนด โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อตามมาตรการนี้ 2) มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (พักทรัพย์ พักหนี้) วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่และได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ยังมีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส. ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564 ทั้งนี้ เพื่อช่วยรักษาโอกาสไม่ให้ถูกกดราคาบังคับขายทรัพย์สิน (Fire Sale) และช่วยให้สามารถกลับมาสร้างงานและ ทำรายได้เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ซึ่งในการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ จะให้สิทธิลูกค้าที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือบุคคลอื่นซึ่งผู้ประกอบธุรกิจและเจ้าของทรัพย์สินกำหนด สามารถเช่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันและซื้อคืนได้ภายตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่เกิน 5 ปี กรณีมีต้นเงินและดอกเบี้ยส่วนที่เหลือจากการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ จะดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กำหนดอายุสัญญาไม่เกิน 20 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก และปีต่อไป กรณีเป็นผู้ประกอบการและสถาบัน คิดอัตราดอกเบี้ย MLR-1 (ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 4.875 ต่อปี) และกรณีเป็นเกษตรกรและบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ย MRR 1 ต่อปี (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.50 ต่อปี) นอกจากนี้ สามารถขอสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) ได้ ทั้งนี้ คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการต้องประกอบธุรกิจในประเทศไทย มีสถานะไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPLs) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และไม่เป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand : SET) เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้-9 เมษายน 2566 ซึ่งลูกค้าที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือที่ Call Center 02-555-0555 วันเดียวกัน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน ได้เร่งช่วยเหลือทั้งผู้ป่วย และเร่งหามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. ) และ กลุ่ม บมจ.ปตท.ได้เร่งช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเงิน ด้านอุปกรณ์การแพทย์ทั้งโรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลต่างๆ โดยในพื้นที่ชุมชนคลองเตย นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงานสั่งการให้ กฟผ.และกลุ่ม ปตท.เข้าไปร่วมประสานกับ กทม.,โรงพยาบาลจุฬาฯ,กระทรวงสาธารณสุขว่าขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ หรือหากมีความต้องการเครื่องไม้ เครื่องมืออะไรจะเข้าไปช่วยดูแล ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงาน มีทั้งการผลิตเจลแอลกอฮอล์,ตู้ตรวจโควิด และอื่นๆถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ดำเนินการ สำหรับการทำงานของกระทรวงพลังงานในขณะนี้ได้เข้มงวดเรื่องการป้องกันการระบาดโควิด-19 โดยข้าราชการทำงานที่บ้าน(WFH) ร้อยละ 95 ทั้งนี้งานโดยรวมยังเดินหน้าได้ เพราะมีการประชุมและทำงานออนไลน์ต่อเนื่อง