"...คำพิพากษา-ศาลเตี้ยในโลกออนไลน์ที่ตัดสินกันง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส...."
โลกโซเชียลถือจอบขุดกันไม่ยั้ง กับข่าวลือเตียงหักของนักแสดงสาวชื่อดัง กระทั่งลามไปถึง ผู้ประกาศข่าว-พิธีกรสาวคนสวย อีกครั้งที่ตอกย้ำภัยน่ากลัวในโลกออนไลน์ ที่นึกจะด่าจะว่าใครก็ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า ก่นว่าสารพัดด้วยถ้อยคำหยาบๆ คายๆ ชนิดที่ใครใจไม่แข็งแรง...ไม่ด้านพอ... ก่อจิตตก ชีวิตดิ่งจมกับความทุกข์ จากถ้อยคำที่รุมกระหน่ำ จนแทบจะไม่มีที่ให้ยืนในสังคม ความรุนแรงโดยที่ไม่มีการลงมือกระทำความรุนแรงในโลกออนไลน์ แต่กลับรุนแรงยิ่งกว่าถูกรุมยำ... ว่ากันว่าเดี๋ยวนี้โกรธใครไม่ต้องออกไปต่อยหน้ามัน แต่ด่ากันในโซเชียลแทน สะใจกว่า... แถมยังมีเกรียนคีย์บอร์ดพวกเดียวกัน ที่พร้อมทุกเมื่อเรื่องรุมกระหน่ำ ระเบิดอารมณ์ใส่เต็มที่... เพราะคิดสั้นๆ ไม่มีใครเห็น -จับมือใครดมไม่ได้... เหยื่อในโลกโซเชียลรายล่าสุด ที่ตกเป็นข่าวมือที่ 3 จึงขอฟ้องเอาผิดคนโพสต์ให้ถึงที่สุด บอก โลกโซเชียลพอมาเจอเข้ากับตัวน่ากลัวกว่าที่คิด "ข้อมูลที่มันผิด หรือเท็จ ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ สามารถทำลายชีวิตของคนได้เลย" เธอว่า... หากจำกันได้ ปลายปี 57 มีแชร์กระหน่ำ ช่วยกันประจานหนุ่มโรคจิตซ่อนกล้องจิ๋วในรองเท้าขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส... เพียงคลิกกันง่ายๆ ตัดสินกันรัวๆ แบบถล่มทลาย โดยไม่ต้องสืบค้นความจริง กลายเป็นถูกสังคมตราหน้าว่าโรคจิต ชีวิตเขาแทบจะพังทลาย แค่รองเท้าบังเอิญขาดเป็นรูเท่านั้น... "คุณไม่รู้หรอกว่า ช่วงเวลานั้นมันแย่แค่ไหน" คำพิพากษา-ศาลเตี้ยในโลกออนไลน์ที่ตัดสินกันง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัสของคนในยุคนี้ อดคิดไม่ได้ถึง "คำพิพากษา" ของ ชาติ กอบจิตติ นักเขียนซีไรต์ 2สมัย ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2525 กลับยังสะท้อนชัดถึงความไม่แตกต่างในยุคปัจจุบัน 2560 ที่ต่อให้โลกก้าวหน้าก้าวล้ำไปไกล... ตัวละคร "ฟัก" ที่ถูกสังคม (ชาวบ้าน) พิพากษา จนเหมือนตายทั้งเป็น กระทั่งจบชีวิตลงอย่างน่าเวทนา... บ้านเราที่อัตราการใช้โซเชียลมีเดียติดอันดับโลก แต่กลับแตกต่างกับหลายประเทศที่ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อหาข้อมูลความรู้ใส่ตัว แต่ของเราใช้เพื่อความบันเทิงเป็นที่ตั้ง... ทั้งยังใช้เป็นที่ระบายอารมณ์เต็มที่ และมีการตั้งข้อสังเกตกัน ดูเหมือนนับวันจะยิ่งกลายเป็นการปลุกปั่นความเกลียดชัง แบ่งแยกแบ่งฝ่าย และน่ากลัวที่สุด หากจะทำให้กลายเป็นสังคมที่คุ้นชินกับความรุนแรงไป...ซึ่งนักจิตวิทยาบ้านเราเป็นห่วงกันมากมายในจุดนี้ ในหลายประเทศ บางบริษัทเขาถึงขั้นคัดกรองพวกเกรียนคีย์บอร์ด โดยขอดูข้อมูลการใช้โซเชียลประกอบรับคนเข้าทำงาน ทำนองเข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยง หากพบใช้ถ้อยคำก้าวร้าว คึกคะนอง แม้กระทั่งเขียนผิดๆ ถูกๆ ผิดไวยากรณ์ ก็ชวดไป... ขณะองค์การอนามัยโลกเตรียมบรรจุการเสพติดสื่อออนไลน์ เข้าข่ายจิตเวช พร้อมกับเตือนเล่นเน็ตเกินวันละ 3 ชม. เสี่ยงพฤติกรรมอันตราย... "สร้างสรรค์" หรือ "ทำลาย" เป็นความต่างสุดขั้ว ที่จะเลือกหยิบใช้กันจริงๆ...