ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) กระจายและสำรองให้กับทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างเพียงพอ รัฐบาลเร่งจดสิทธิบัตรเพื่อผลิตในไทย ใช้ลดความรุนแรงและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 3 พ.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระลอกนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการบริหารจัดการยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการกระจายไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศอย่างเพียงพอและทั่วถึงโดยกระทรวงสาธารณสุข มีระบบบริหารจัดการจากส่วนกลาง ซึ่งเป็นหน่วยสำรองยาระดับประเทศ และกระจายยาไปโรงพยาบาลในทุกจังหวัดที่รับผู้ป่วย พร้อมทั้งสำรองในโรงพยาบาลแม่ข่ายทั้งในกรุงเทพฯและภูมิภาคทุกเขตสุขภาพมากกว่า 20 โรงพยาบาล เช่น ในกรุงเทพฯ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย สังกัดกรุงเทพฯืเป็นแม่ข่าย กระจายยาให้ทั้งภาครัฐและเอกชนทุกสังกัด ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26-30 เมษายน 2564 มีการกระจายยาไปยังทุกจังหวัดที่มีผู้ป่วยทุกเขตสุขภาพแล้ว 765,600 เม็ด อาทิ โรงพยาบาลราชวิถี 190,500 เม็ด โรงพยาบาลนครพิงค์ 48,000 เม็ด โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า 78,200 เม็ด โรงพยาบาลชลบุรี 70,000 เม็ด โรงพยาบาลหาดใหญ่ 18,500 เม็ด โรงเรียนแพทย์ แห่งละ 4,000–6,000 เม็ด และโรงพยาบาลภาคเอกชนกว่าแสนเม็ด รวมทั้งมีการวางแผนจัดส่งยาฉุกเฉิน โดยองค์การเภสัชกรรม ผ่านทางสายการบินพาณิชย์ และรถโดยสารในจังหวัดที่ไม่มีสนามบินไว้ด้วย ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาที่ให้ในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการ ตามแนวทางการรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงพร้อมกระจายยาและสำรองยาให้กับทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนที่รับผู้ป่วยมีอาการอย่างทันท่วงที และเพียงพอกับความต้องการใช้ เพื่อลดความรุนแรงและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในส่วนของนโยบายรัฐบาลที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ในภูมิภาคนั้น ขณะนี้ได้ให้องค์การเภสัชกรรม เร่งดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเจรจากับผู้ขอรับสิทธิบัตร เพื่อให้ได้สิทธิผลิตยาชนิดนี้ในประเทศไทยได้เอง โดยองค์การเภสัชกรรม กำลังดำเนินการตามขั้นตอนการเพื่อให้ได้สิทธิยาฟาวิพิราเวียร์เข้ามาผลิตในประเทศ โดยการการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์นั้น รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของยาฟาวิพิราเวียร์ที่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนโยบายในการจัดหายาให้เพียงพอต่อความจำเป็นอย่างทันท่วงที ซึ่งทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอร่วมลงทุนผลิตยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตในภูมิภาค อีกทั้งยังมีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาตำรับยาขึ้นใหม่จากสารออกฤทธิ์หลักของยาฟาวิพิราเวียร์ที่ไม่มีสิทธิบัตรในประเทศไทย ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอผลการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรในยาฟาวิพิราเวียร์รูปแบบยาเม็ด ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญายืนยันว่าการดำเนินการทุกขั้นตอน เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย และมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่าโรงพยาบาลเอกชนนั้นก็ยังสามารถนำเข้ายาชนิดนี้ได้โดยรัฐไม่ได้มีการผูกขาดการนำเข้าแต่อย่างใด