สถานการณ์ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา จนถึงการระบาดระลอกล่าสุด ทำให้เกิดวิถีปกติใหม่ หรือ New Normal พฤติกรรมการปรับตัวที่เห็นได้ชัดเจน คือ การหันมาให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น และเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า "อาหาร" เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ก้าวข้ามวิกฤตไปได้ ดังนั้น การสร้างความมั่นคงทางอาหาร จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งไม่ว่าในสถานการณ์ปกติหรือภาวะวิกฤต เช่นเดียวกับ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการส่งเสริมให้โรงเรียนและชุมชน สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนิน"โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน" ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 32 ภายใต้ความร่วมมือของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และภาคีเครือข่าย ซึ่งมีโรงเรียนที่เป็นสมาชิกของโครงการฯรวม 880 โรงเรียนจากพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ เรียกได้ว่าเป็น"คลังเสบียง" ที่สำคัญของชุมชนได้ ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด- 19 ตามมาดูการปรับตัวของโรงเรียนในโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ที่ต้องบริหารจัดการผลผลิตไข่ไก่ในช่วงปิดเทอม ซึ่งไม่สามารถส่งผลผลิตเข้าโครงการอาหารกลางวันได้ เพราะนักเรียนหยุดเรียน แต่ผลผลิตไข่ไก่และผลผลิตทางการเกษตรของโรงเรียน กลับเป็นแหล่งอาหารที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ชุมชนในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี นายบรรจรงค์ วรเศรษฐสุขศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแสนสุข ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เล่าถึง การทำงานในช่วงปิดเทอมและอยู่ในช่วงที่มีแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า โควิดทำให้ทุกคนไม่กล้าขยับไปไหน คนในชุมชนก็ไม่กล้าออกจากบ้าน โรงเรียนจึงทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง นำเสบียงไปจำหน่ายให้ชุมชนตามบ้าน ซึ่งโรงเรียนบ้านแสนสุข มีโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทและซีพีเอฟ ปัจจุบันเลี้ยงไก่ 100 ตัว มีผลผลิตวันละ 90 ฟอง หรือ 3 แผง ผมก็จะรับหน้าที่ Delivery นำไข่ไก่ไปส่งให้ตามบ้าน ประมาณ 2 วัน /ครั้ง รวมทั้งผลผลิตพืชผักสวนครัวที่โรงเรียนปลูกไว้ ทั้งผักสด และผลผลิตที่นำมาแปรรูปเป็นอาหาร เช่น หน่อไม้ นำมาทำเป็นแกงเปรอะ เป็นต้น ถึงจะอยู่ในช่วงโควิด แต่ชุมชนได้บริโภคสารอาหารครบถ้วน ทั้งโปรตีนจากไข่ไก่ และสารอาหารจากผลผลิตทางการเกษตรของโรงเรียน ขณะที่โรงเรียนมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตไข่ไก่และวัตถุดิบที่เป็นผลผลิตอยู่ที่ 1,200-1,800 บาทต่อครั้งที่จำหน่าย "ผลผลิตไข่ไก่จากโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ และผลผลิตผักสวนครัวของโรงเรียน มีประโยชน์อย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 เป็นคลังเสบียงให้ชุมชน สามารถช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของคนในชุมชนได้ โดยมีโรงเรียนทำหน้าที่เป็นสื่อกลางนำอาหารไปจำหน่าย " ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแสนสุขกล่าว ด้านโรงเรียนบ้านเมืองกาญจน์ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซี่งเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา และเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล1 – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีเด็กนักเรียน 400 คน ประกอบด้วยหลายชาติพันธุ์ ทั้งคนไทย ลาว พม่า ชาวเขาชาติพันธุ์ ม้ง มูเซอ ลั้ว ขมุ วันนี้ น้องๆนักเรียนไม่ได้มาโรงเรียนเพราะอยู่ในช่วงปิดเทอม แต่ยังมีคุณครูที่รับผิดชอบดูแลจัดการผลผลิตไข่ไก่ จำหน่ายให้แก่ผู้ปกครองนักเรียนและชุมชนที่มาซื้อไข่ไก่ถึงที่โรงเรียน นายวายุวัฒน์ ชัยวรรณะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเมืองกาญจน์ เล่าว่า โรงเรียนบ้านเมืองกาญจน์ เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่มาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่โรงเรียนนำมาใช้ และยังสอดคล้องกับพันธกิจของโรงเรียน คือ ส่งเสริมให้นักเรียน คิดเป็น ทำได้ ขายเป็น เป็นการวางพื้นฐานในการฝึกอาชีพให้แก่เด็กๆ เพื่อนำไปใช้ต่อไปได้ โดยปัจจุบันเลี้ยงไก่เป็นรุ่นที่ 2 แล้ว จำนวน 300 ตัว ได้ผลผลิตไข่ไก่วันละ 9 แผง (แผงละ 30 ฟอง) ในช่วงปกติจะนำผลผลิตไข่ไก่ส่งเข้าโครงการอาหารกลางวันนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้บริโภคอาหารที่ทำจากไข่ไก่สัปดาห์ละ 3 วัน แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งตรงกับช่วงปิดเทอม ไม่สามารถส่งผลผลิตไข่ไก่เข้าโครงการอาหารกลางวันได้ มีการบริหารจัดการโดยจำหน่ายให้แก่คุณครูและชุมชนในราคาแผงละ 80 บาท โดยชุมชนเข้ามารับซื้อถึงที่โรงเรียน ส่วนในช่วงสถานการณ์ปกติเปิดเทอม ชุมชนจะเข้ามาซื้อไข่ไก่จากสหกรณ์ของโรงเรียน นอกจากนี้ นักเรียนและคณะครูนำผลผลิตไปจำหน่ายตามร้านอาหารในตัวอำเภอ นอกจากยังมีโรงเรียนในโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันอีกหลายแห่ง ที่พร้อมเป็นคลังเสบียงให้ชุมชนในช่วงโควิดข19 นำผลผลิตไข่ไก่จำหน่ายสู่ชุมชน ได้บริโภคไข่ไก่ที่สด สะอาด ราคาย่อมเยา นายสรพงษ์ คำดี คุณครูที่รับผิดชอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน โรงเรียนบ้านเมืองเก่าศรีอินทราทิตย์ ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เมื่อปี 2563 มีจำนวนไก่ที่เลี้ยงไว้ 200 ตัว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟ เล่าว่า ถึงแม้ในช่วงปิดเทอม โรงเรียนจะไม่ได้ส่งผลผลิตไข่ไก่เข้าโครงการอาหารกลางวัน แต่ก็สามารถบริหารจัดการผลผลิตได้ทุกวัน โดยนำไปขายกับคุณครูในโรงเรียน หรือชุมชนที่เข้ามาขอซื้อไข่ไก่จากโรงเรียน เพราะราคาถูกกว่าท้องตลาด โดยในช่วงที่เด็กๆ ซึ่งเป็นอาสาสมัครรับผิดชอบดูแลโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯอยู่ในช่วงปิดเทอม โรงเรียนมอบหมายหน้าที่ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้พิการที่ทางซีพีเอฟจ้างมาช่วยงานในโรงเรียน ช่วยทำหน้าที่เก็บไข่ไก่ ให้อาหารไก่ และทำความสะอาดโรงเรือน ซึ่งสามารถแบ่งเบาภาระของโรงเรียนได้มาก ด้านนายประสงค์ สิทธิวงค์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านดู่(สหราษฎร์พัฒนาคาร) จังหวัดเชียงราย ดูแลโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน กล่าวว่า ช่วงที่เด็กๆปิดเทอม โรงเรียนมีการบริหารจัดการผลผลิตไข่ไก่ที่เก็บผลผลิตได้วันละ 7 แผง (แผงละ 30ฟอง) จากแม่ไก่ที่เลี้ยงไว้กว่า 200 ตัว นำผลผลิตไปจำหน่ายให้แก่ผู้ปกครองนักเรียนและคนในชุมชน โดยจะออกไปจำหน่ายให้ถึงที่บ้าน เพื่อำนวยความสะดวกในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ ยังมีผู้ปกครองนักเรียนบางท่านที่ทำงานโรงงานในพื้นที่ มาช่วยรับไข่ไก่จากโรงเรียนไปช่วยขายให้เพื่อนๆพนักงานในโรงงาน ถือว่าการที่โรงเรียนมีส่วนร่วมในการผลิตอาหาร เช่น ผลผลิตไข่ไก่ สามารถเป็นแหล่งอาหารของชุมชนได้อีกทางหนึ่ง "โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน" มีเป้าหมายหลักเพื่อบรรเทาปัญหาทุพโภชนาการของเด็กนักเรียน โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลและในถิ่นทุรกันดาร ขณะเดียวกัน โครงการนี้ช่วยวางฐานการสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนจากโรงเรียนสู่ชุมชน สามารถเป็นคลังเสบียงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระดับชุมชนได้ในภาวะวิกฤต ./