"นายกฯ"สั่งทีมงานด้านเศรษฐกิจประเมินผลกระทบหลังออกมาตรการคุมโควิด-19 พร้อมเสนอให้"ศบศ."ออกแนวทางเยียวยาประชาชน ขณะที่“จับกัง 1” สั่งเร่งช่วยเหลือเยียวยาพนักงาน 191 คนห้างสรรพสินค้า “คลังพลาซ่า” กลางเมืองโคราช ปิดกิจการพิษโควิด
เมื่อวันที่ 2 พ.ค.64 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กำชับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เร่งประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการยกระดับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ เพื่อกำหนดแนวทางการเยียวยาผู้ที่ได้รับกระทบ ทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และประชาชน รวมถึงแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ โดยให้เตรียมความพร้อมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบศ. ซึ่งจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้
"นายกฯ ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามและประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จากการออกมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ระลอกใหม่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นที่มีการปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ฯลฯ ทั่วประเทศ กระทั่งมาถึงมาตรการล่าสุดที่เน้นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด รวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งแม้ก่อนออกมาตรการต่างๆ จะได้ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน แต่ก็ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังเร่งประเมินผลหลังมีมาตรการออกไปแล้วเพื่อกลั่นกรองเป็นแนวทางการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็ว"
รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์มีความห่วงใยประชาชน ทั้งที่ได้รับผลกระทบทางตรงและได้รับผลกระทบทางอ้อม โดยได้ขอให้กระทรวงอื่นๆได้เตรียมความพร้อม สำหรับมาตรการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชนด้วย เหมือนกับที่ก่อนหน้านี้มีมาตรการช่วยลดค่าครองชีพ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ รวมถึงแก๊ส ฯลฯ ซึ่งสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้เป็นอย่างดี ถือเป็นแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ รัฐบาลเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน โดยมาตรการเยียวยาต่างๆ จะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ รัดกุม และรวดเร็ว ให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ครอบคลุมที่สุด พร้อมกับมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของระบาดรอบนี้ ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลจะดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด
น.ส.ไตรศุลี ยังกล่าวด้วยว่า นายกฯ ได้กำชับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยว่าแม้ในช่วงระยะที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) กิจกรรมภาคการผลิตอุตสาหกรรมจะลดลงไปส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังมีความจำเป็นในการขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากทั้งกิจกรรมการผลิตอุตสาหกรรม และภาคการขนส่ง พร้อมได้กำชับว่าเมื่อได้มีการกำหนดเป้าหมายแล้วประเทศไทยจะต้องผลักดันภาคส่วนต่างๆ ทั้งส่วนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรม การขนส่งให้ได้ตามเป้าหมาย เช่นเดียวกับนานาชาติที่มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก บางประเทศกำหนดเป้าหมายการปล่อยมลพิษให้เป็นศูนย์ ประเทศไทยจะต้องเป็นส่วนหนึ่งกับนานาชาติในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ต้องอาศัยทั้งการลงมือปฏิบัติและใช้เวลาการเปลี่ยนแปลงจึงจะเกิดขึ้นได้
"นายกฯ ยังให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการลงทุนทั้งภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือกิจกรรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำการสื่อสารและมีมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการปรับปรุงการผลิต รวมถึงลงทุนในเทคโนโลยี มีนวัตกรรมใหม่เพื่อไปสู่การผลิตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ที่นอกจากจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยลดลง แนวทางดังกล่าวยังเป็นกระแสของโลกที่ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสนใจสินค้าจากผู้ผลิตที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม" น.ส.ไตรศุลี กล่าว
วันเดียวกัน นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ได้มอบให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เข้าไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างแล้ว โดยพนักงานตรวจแรงงานของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา ตรวจสอบข้อเท็จพบว่า บริษัท คลังพลาซ่า จอมสุรางค์ จำกัด จำเป็นต้องปิดกิจการ และเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของทางห้างสรรพสินค้า โดยห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์ยาตร์ หรือคลัง 2 ปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม นี้เป็นต้นไป เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 191 คน โดยพนักงานตรวจแรงงานได้พูดคุยทำความเข้าใจกับกลุ่มลูกจ้างในสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พึงได้รับจนเป็นที่พอใจ และมีหนังสือนัดนายจ้างมาพบในวันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม 2564 เพื่อตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริง และให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานมีมาตรการรองรับปัญหาการเลิกจ้าง โดยในเบื้องต้นมีเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมาบรรเทากรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย และมีเงินทดแทนระหว่างการว่างงานจากประกันสังคมในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 200 วันต่อปีปฏิทิน จัดหาตำแหน่งงานว่างมารองรับ และฝึกอบรมยกระดับฝีมือแรงงานหรือฝึกอาชีพตามที่ลูกจ้างสนใจ
ด้าน นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดี กสร. ในฐานะโฆษกกรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่มีการเลิกจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยการเลิกจ้างตามอายุงาน เช่น อายุงาน 10 ถึง 20 ปี ได้รับค่าชดเชย 300 วัน อายุงาน 20 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย 400 วัน ซึ่งในกรณีนี้ส่วนใหญ่มีอายุงานมากกว่า 20 ปี ทั้งนี้หากสิทธิวันลาพักผ่อนยังเหลืออยู่ก็ต้องนำมาคำนวณเป็นเงินที่ลูกจ้างพึงได้รับด้วย
โดยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ตัวแทนลูกจ้าง 15 คน ได้มาพบพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อรับทราบขั้นตอนและวิธีการยื่นคำร้องสิทธิที่ไม่ได้รับเงินผ่านระบบ e-service ของกรมฯ และได้มีการตั้งกลุ่มไลน์เพื่อสื่อสารกับกลุ่มลูกจ้าง โดยกลุ่มลูกจ้างได้กลับไปประชุมหารือกับนายจ้างเกี่ยวกับเรื่องเงินต่างๆ ที่ลูกจ้างพึงได้รับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หากไม่ได้รับสิทธิตามที่พึงได้สามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งกรมจะดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป