นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ยื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผู้อำนวยการ ศบค. เรื่อง ขอให้ทบทวนคำสั่ง ศบค. ที่ไม่อนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารในร้านอาหาร ความว่า ..
เนื่องจากคำสั่งของ ศบค. ในวันที่ 29 เมษายน 2564 ที่ผ่านมาให้ร้านอาหารในพื้นที่ 6 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวดห้ามมีการให้บริการนั่งรับประทานอาหารในร้านเป็นเวลา 14 วัน
ทางสมาคมภัตตาคารไทยในฐานะผู้แทนกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารได้รับข้อร้องเรียน ปรับทุกข์ จากผู้ประกอบการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยมาตรการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของการระบาดโรคโควิด-19และจากมาตรการควบคุมใน 2 ระยะการระบาดที่ผ่านมา ทำให้มีร้านจำนวนไม่น้อยต้องยอมพ่ายแพ้เลิกกิจการพร้อมกับหนี้สิน และอีกจำนวนมากกำลังเข้าสู่จุดวิกฤติของกิจการสุ่มเสี่ยงต่อการต้องปิดกิจการจากมาตรการครั้งนี้ ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนั้นจะสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจประเทศตามมา ซึ่งมูลค่าความเสียหายของธุรกิจร้านอาหารโดยประมาณการจากคำสั่งล่าสุดนี้อยู่ที่ 1,400 ล้านบาทต่อวัน อีกทั้งธุรกิจร้านอาหารมีห่วงโซ่เชื่อมโยงต่อธุรกิจอื่น ๆ มากมาย โดยเฉพาะภาคการเกษตรอันจะสร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมาได้
ทางสมาคมภัตตาคารไทยในฐานะผู้แทนผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร จึงมีข้อเรียกร้องมายังท่านนายกรัฐมนตรีเพื่อกรุณาพิจารณา 2 ข้อ ดังต่อไปนี้
1.อนุญาตให้ร้านอาหารสามารถนั่งรับประทาน ในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. และงดนั่งดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน ขอให้พิจารณาอนุญาต ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ทั้งนี้ในช่วงการระบาดของโรคโควิด -19 ที่ผ่านมา ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ร่วมกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขจัดทำมาตรฐาน SHA (Amazing Thailand Safety & Health Administration) ขึ้นมาเพื่อให้สถานประกอบการภาคบริการทั่วประเทศเข้าร่วม โดยมาตฐาน SHA นับเป็นมาตรฐานด้านสาธารณสุขที่อยู่ในระดับเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ของสมัชชาการท่องเที่ยวโลก (World Travel and Tourism Council หรือ WTTC) ที่ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภาคธุรกิจร้านอาหารเป็นหนึ่งในกลุ่มกิจการที่เข้าร่วมมาตรฐาน SHA มีร้านอาหารจำนวนกว่า 2,000 ร้านที่ผ่านการตรวจสอบและให้การรับรองตามมาตรฐาน SHA ซึ่งร้านเหล่านี้เป็นร้านที่มีมาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ขั้นสูงสุด และยังมีร้านอาหารอีกจำนวนมากที่แม้จะไม่ได้อยู่ภายใต้มาตรฐาน SHA แต่ก็ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ศบค.กำหนดมาอย่างเข้มงวดเช่นกัน ร้านอาหารเหล่านี้ มีการใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อทำมาตรฐานสาธารณะทุกข้อ เป็นการแสดงออกถึงการให้ความร่วมมือกับศบค.ด้วยดีตลอดมา
จึงมั่นใจได้ว่า ร้านเหล่านี้มีมาตรฐานทั้งในการป้องกันการติดเชื้อจากทั้งลูกค้าและพนักงานในร้านอยู่ในระดับสูง มีความปลอดภัย สามารถเปิดให้บริการให้นั่งรับประทานได้ หากเทียบกับสถานที่สาธารณะอีกหลายประเภทที่ผู้คนจำนวนมากไปใช้บริการประจำวันหลายสถานที่ยังไม่สามารถปฏิบัติมาตรการด้านสาธารณสุขตามศบค. กำหนดได้
ร้านอาหารจึงนับว่าเป็นสถานที่ที่มีมาตรการด้านสาธารณสุขขั้นสูงมาก ร้านอาหารขณะนี้ ส่วนใหญ่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดทุกข้อที่รัฐบาลออกมาอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในเรื่องการตรวจวัดอุณหภูมิ การทำความสะอาด การเว้นระยะ และหรือ มีฉากกั้น ยิ่งปัจจุบันลูกค้าหรือผู้มาใช้บริการลดลงเกินกว่า 50% สามารถจัดการเว้นระยะได้เกินกว่ามาตรฐานกำหนด เพราะร้านอาหารทุกร้านตระหนักถึงความปลอดภัยของลูกค้าที่มาใช้บริการ รวมถึงภาพลักษณ์ของร้านที่ต้องรักษา
ดังนั้น ทางการแพทย์สามารถมั่นใจได้ว่า แม้จะมีการไปใช้บริการนั่งรับประทานอาหารในร้านก็จะไม่เกิดปัญหา ในช่วงที่เปิดหน้ากากรับประทานอาหาร สมาคมภัตตาคารไทยได้นำข้อกำหนดของกรมอนามัยมาศึกษาซึ่งสามารถปฏิบัติได้ด้วยการจัดการเว้นระยะของโต๊ะ การเว้นให้ลูกค้าในโต๊ะนั่งห่างกัน มีฉากพลาสติกกั้น และการจำกัดจำนวนลูกค้าเทียบกับพื้นที่ ซึ่งสมาคมฯ จะได้ร่วมกับกรมอนามัยและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประสานงานในการตรวจประเมินในช่วงที่ยังคงเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ควบคุมสูงสุด เพื่อให้ร้านอาหารสามารถเปิดบริการนั่งรับประทานในร้านได้ทันที
สำหรับร้านอาหารที่ยังไม่ได้ตราสัญลักษณ์SHA โอกาสนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีในการเชิญชวนให้ร้านอาหารต่าง ๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมมาตรฐาน SHA เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ โดยสมาคมภัตตาคารไทยจะเป็นผู้ประสานดำเนินการต่อไป
1.1 ร้านอาหารที่เป็นอาหารจานเดียวริมทางหรือร้านเล็ก ๆ ที่เป็นตึกแถว ขอให้พิจารณาอนุญาตกลับมาให้นั่งทานในร้านได้เช่นกันในวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 โดยมีข้อกำหนดบังคับให้ร้านอาหารประเภทดังกล่าวดำเนินการดังนี้
1.1.2 ต้องลดที่ลงอย่างน้อย 50% ของที่นั่งเดิม
1.1.3 ต้องมีการเว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะไม่ต่ำกว่า 1 เมตร
1.1.4 ไม่อนุญาตให้ลูกค้าที่ไม่ได้มาด้วยกันนั่งรวมโต๊ะเดียวกันเด็ดขาด
1.1.5 ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของสาธารณสุขก่อนเข้าร้านอย่างเคร่งครัด
1.1.6 หากตรวจพบว่าไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขเหล่านี้ได้ ทัองถิ่นและ สาธารณสุข มีสิทธิ์ที่ใช้อำนาจในการตักเตือนแก้ไขทันทีในครั้งที่ 1 หากยังไม่สามารถปฏิบัติตามได้อีก สามารถใช้อำนาจในการสั่งปิดต่ออีก 7 วัน ตามคำสั่งของ ศบค. ได้ทันที
1.2 ร้านอาหารประเภทปิ้งย่าง ชาบู บุฟเฟ่ต์ ไม่อนุญาตในนั่งโต๊ะเดียวกันเกิน 4 คน และต้องเว้นระยะห่างโต๊ะไม่ต่ำกว่า 2 เมตร หรือ 1 เมตร แต่มีฉากกั้น รวมทั้งไม่อนุญาตให้ตักอาหารบุฟเฟ่ต์เอง หากไม่มีมาตรการดูแลป้องกันอย่างถูกวิธี เช่น ลูกค้าต้องใส่แมสปิดปากปิดจมูกทุกครั้งที่ไปรับอาหารหรือตักอาหาร และร้านต้องให้ลูกค้าใส่ถุงมือพลาสติกส่วนตัวด้วยทุกครั้ง รวมทั้งจำกัดจำนวนคนในการเดินตักอาหารให้เหมาะสมด้วย
นอกจากข้อกำหนดดังกล่าวแล้ว มาตรการทั้งหมดที่เรียนแจ้งมานี้ ทางสมาคมภัตตาคารไทยยังขอเสนอให้ บังคับใช้กฎกระทรวงตาม พรบ.สาธารณสุข2535 ให้ร้านอาหารทุกร้านกลับไปใช้มาตรการตามกฎระเบียบของสาธารณสุขในครั้งช่วงโควิดระบาดรอบแรก เนื่องจากเป็นมาตรการที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีและปลอดภัยมาก ทั้งกับร้านอาหารเองและลูกค้า
2. มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหาร ด้วยสถานการณ์ผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ตั้งแต่รอบแรกจนมาถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการร้านอาหารส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจของภาครัฐ ด้วยเพราะมีข้อกำหนด หลักเกณฑ์มากมายไม่สอดคล้องต่อสภาพความจริงของการประกอบธุรกิจSME ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องประสบกับปัญหาด้านการเงินอย่างมาก สมาคมภัตตาคารไทยจึงใคร่ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีได้กรุณาพิจารณาเยียวยา ดังนี้
2.1 รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาค่าจ้าง เงินเดือน 50%
2.2 งดการจัดเก็บภาษีในรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีที่ผ่านมา ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ
2.3 ผ่อนผันการชำระดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือน และพักการชำระเงินต้นเป็นเวลา 1 ปี
2.4 ขอความกรุณารัฐบาลโดย ศบค.ประสานเจ้าของห้างสรรพสินค้าลดค่าเช่าอย่างน้อย 50% โดยเจ้าของพื้นที่ที่ให้ส่วนลดสามารถนำไปลดหย่อนภาษีจากรัฐบาลในรอบบัญชีถัดไป ซึ่งเป็นการช่วยประคับประคองร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบมาตลอดทั้งปี
2.5 การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ธนาคารมักจะมีทัศนคติว่า ร้านอาหารเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง อันที่จริงความเสี่ยงนั้นมีเฉพาะในช่วงโควิด ร้านอาหารในอดีตล้วนมั่นคงด้วยเป็นธุรกิจเงินสด ใช้สินเชื่อจากธนาคารเท่าที่จำเป็นเมื่อมีการขยายธุรกิจเท่านั้น
ทางสมาคมภัตตาคารไทยในฐานะผู้แทนผู้ประกอบการธุรกิจภัตตาคาร และร้านอาหารทราบดีมาตลอดถึงความห่วงใยของท่านนายกรัฐมนตรีที่มีมายังผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร และเราเองตระหนักในความสำคัญของการมีส่วนร่วมแก้ไขวิกฤตการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงให้ความร่วมมือด้วยดีตลอดมา แม้จะต้องแบกรับความเสียหายทางธุรกิจไว้โดยลำพังก็ตาม จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านนายกรัฐมนตรีจะพิจารณาผ่อนปรนมาตรการในส่วนของร้านอาหารและพิจารณามาตรการช่วยต่าง ๆ ตามที่ได้นำเสนอมานี้
ขอบคุณภาพ เฟซบุ๊ก - ฐนิวรรณ กุลมงคล