ปธ.กมธ.เศรษฐกิจฯ ก้าวไกล ข้องใจ "คลัง" ดึง การบินไทยกลับเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนกระแสวิกฤต ศก.ประเทศ ชี้หวังใช้เงินภาษีอุ้มนายทุน ต่างจากชาวบ้าน เจอพิษโควิดรอบ3 ยังไร้การเยียวยา พร้อม บี้ รบ.อย่าเอาใจเจ้าหนี้ แนะทางออกหากไม่รับแผนฟื้นฟูฯ ควรปล่อยให้ล้มละลาย ตั้งสายการบินแห่งชาติใหม่ วันที่ 2 พ.ค.64 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาฯ ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกระแสข่าวที่กระทรวงการคลังเตรียมแผนดึงการบินไทย กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้งว่า ถือเป็นความพยายามของกระทรวงการคลังต้องการใส่เงินเพื่อเพิ่มทุนลงไป ทั้งที่ความเป็นจริงไม่ควรจ่ายเงินจำนวนมหาศาลโดยคาดว่าประมาณปีละ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน และ ยังถือเป็นเรื่องผิดปกติที่การทรวงการคลังจะเข้าไป เพราะตามความเป็นจริง เมื่อบริษัทขาดทุนจนเรียกว่ากินทุนไปแล้ว ผู้ถือหุ้น และ เจ้าหนี้ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย แต่กลับพบว่าเจ้าหนี้ ส่วนใหญ่คือธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ไม่ยอมแฮร์คัท หรือยอมลดมูลหนี้ที่ติดค้างสักบาทเดียว ขณะที่กระทรวงการคลังกลับไปยอมเขาและ มีข้อเสนอจะเพิ่มทุนให้ใช่หรือไม่ ซึ่งจะส่งผลมาที่หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกต ที่ผ่านมาการบินไทย ก่อนยุคโควิด ยังขาดทุนมาแล้ว เพราะการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่คนไทยทราบกันอยู่ แต่อยากถามว่ายิ่งยุคโควิด ที่สายการบิน อื่นๆ ยังเจ๊ง แล้วการไปเพิ่มทุนให้การบินไทยในตอนนี้ จะไปรอดหรือไม่ ถือเป็นเรื่องที่สวนกระแสโลก และ สวนกระแสรายได้ และ งบประเทศของประเทศที่กำลังเป็นปัญหา อาทิ เก็บรายได้ไม่เข้าเป้า และหนี้สาธารณะก็เยอะอยู่ในเวลานี้ "ความพยายามของกระทรวงการคลังแตกต่างจากเวลาช่วยเหลือประชาชน ที่เดือนร้อนจากการสั่งให้ปิดกิจการ คนตกงาน ในยุคโควิดรอบ3 รัฐบาลกลับอ้างว่ามีหนี้สาธารณะจำนวนมาก และขณะนี้ยังไม่ยอมใช้เงินเยียวยาประชาชน แต่เป็นกรณีของการบินไทย กระทรวงการคลังกลับว่าง่าย แม้สถานะเพิ่มทุนไม่ได้ แต่ก็มีความพยายามดิ้นรนให้เป็นรัฐวิสาหกิจด้วยการเพิ่มทุน ซึ่งถือว่าเป็นความพยายายามที่ไม่สมเหตุสมผลทั้งปวง และ ยังผิดระเบียบของรัฐด้วยใช่หรือไม่" น.ส.ศิริกัญญา กล่าวและว่า ตามกระแสข่าวที่เกิดขึ้น จึงเห็นว่ากระทรวงการคลัง ไม่ปกป้องผลประโยชน์ภาษีของประชาชน แต่เลือกที่จะปกป้องเจ้าหน้าหนี้มากเกินไปโดย สันนิษฐานว่าจะทำให้เจ้าหนี้ได้เงินคืนครบใช่หรือไม่ รวมทั้ง ผู้ถือหุ้นกู้ต่างๆ ของการบินไทย ซึ่งเป็นธนาคารต่างๆด้วยใช่หรือไม่ ทั้งนี้ ในความเห็นของตนหากจะทุ่มเงินภาษีของประเทศจำนวนมากเพื่อทำให้การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ ควรเปลี่ยนไปเป็นตั้งบริษัทสายการบินใหม่ของชาติแทนจะเป็นทางออกที่เหมาะสมกว่า "ต้องติดตาม การประชุมเพื่อโหวตแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยในวันที่ 12 พ.ค. นี้ ว่าจะออกมาเป็นเช่นใด แต่หากสุดท้ายเจ้าหนี้ไม่ยอมให้ผ่าน ก็ควรปล่อยให้ล้มละลาย เพื่อให้พวกเขาไปลุ้นเอาเงินคืนจากการขายสินทรัพย์ต่างๆน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า ไม่เป็นภาระภาษีของประเทศ ซึ่งระหว่างนี้ ทางพรรคก้าวไกล และ กมธ.ฯ จะติดตามเรื่องนี้แทนประชาชนอย่างต่อเนื่อง " ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาฯ กล่าว