ในวิกฤตโควิดยังมีเรื่องน่ายินดี กับตัวเลขการส่งออกหมูมีชีวิต ปี 2563 จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ ไทยมีการส่งออกรวม 2.45 ล้านตัว มูลค่า 16,814 ล้านบาท โดยตลาดกัมพูชาอันดับ 1 ปริมาณ 1.49 ล้านตัว มูลค่า 9,856 ล้านบาท ส่วนการส่งออกเนื้อหมูแช่แข็งและแปรรูป ในปี 2563 ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามีมูลค่า 3,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 265% จากปี 2562 ตลาดอันดับ 1 คือ ฮ่องกง มูลค่า 3,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 356% และอันดับ 2 ตลาดกัมพูชา มูลค่า 59.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 259% นี่คือพลังหมูที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชาติ นำเงินตราเข้าประเทศในวิกฤตเช่นนี้ การส่งออกที่พุ่งสูงขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า สะท้อนความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมหมูไทย และความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่สามารถป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF โรคสำคัญในหมูที่มีความรุนแรง อัตราเสียหายสูง ยังไม่มีทั้งวัคซีนป้องกันและยารักษาที่จำเพาะเจาะจง ไม่ต่างอะไรกับเชื้อโควิดที่กำลังแพร่กระจายทั่วโลกตอนนี้ที่ต้องรักษากันไปตามอาการ นับจากการแพร่ระบาดของโรค ASF ที่เริ่มต้นจากประเทศจีนเมื่อสิงหาคม 2561 แล้วแพร่ไปประเทศต่างๆในเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งเวียดนาม รัสเซีย กัมพูชา เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินเดีย กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ขณะที่ไทยยังยืนหยัดป้องกันโรคนี้ไว้ได้ จนเป็น “ประเทศปลอดจาก ASF” เพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคนี้ ที่สามารถรักษามาตุภูมิของอุตสาหกรรมหมูไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง โดยมีการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นเครื่องการันตี นำไปสู่แบรนด์หมูที่ได้ชื่อว่าปลอดภัยปลอดโรค จากแนวทางการป้องกันและเฝ้าระวังโรคที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่องตลอดเกือบ 3 ปี หมูไทยจึงเป็นที่ต้องการของทุกประเทศ ทั้งการนำเข้าหมูมีชีวิตเพื่อทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโรคนี้ และผลิตภัณฑ์หมูเพื่อป้อนประชาชนในประเทศให้บริโภคอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรไทยยังต้องตั้งการ์ดป้องกัน PRRS หรือเพิร์ส อีกโรคสำคัญในหมู ที่เวลานี้พบการระบาดในหลายพื้นที่ ซึ่งแนวทางเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค ASF ที่ทุกภาคส่วนดำเนินการมาตลอด ถือเป็น know how ที่ดีเยี่ยม ใช้เป็นต้นแบบการป้องกันทุกๆโรคในหมู รวมถึงการทำปศุสัตว์อื่นๆ ได้อย่างดี ตั้งแต่การแยกส่วนการเลี้ยงออกจากส่วนสำนักงาน ส่วนขาย และบ้านพักอาศัย การใช้อาหารสัตว์ที่รู้แหล่งที่มา กรณีฟาร์มรายย่อยที่ไม่ได้ให้หัวอาหารก็ต้องต้มเศษอาหารจนเดือดปุดๆ เพื่อฆ่าเชื้อโรคทั้งหมดก่อน ถึงนำไปเลี้ยงหมูได้ ที่สำคัญต้องห้ามบุคคลภายนอกเข้าไปในฟาร์มหรือในเล้าหมูอย่างเด็ดขาด แม้แต่คนในฟาร์มเองก็ต้องเน้นเปลี่ยนรองเท้าเฉพาะใช้ในเล้า และล้างมือก่อนทุกครั้ง ควบคู่กับเน้นการป้องกันโรคที่เข้มงวดทุกช่องทาง และการเข้าเลี้ยงหมูในแต่ละรอบต้องมั่นใจว่ารับหมูจากแหล่งที่ปลอดภัย ปลอดโรค ยึดหลัก All In All Out เข้าเลี้ยงครั้งเดียวและขายหมูให้หมดเป็นรอบๆ ต้องดูแลขั้นตอนการขายให้ดีมีการฆ่าเชื้อโรคทุกครั้ง หลักการง่ายๆที่จะช่วยเสริมพลังชาวหมูสำหรับการป้องกันโรคคือ “รู้เร็ว​ แจ้งไว​ รีบทำลาย​ งดเคลื่อนย้าย​ จ่ายชดเชย” หากเกษตรกรทั้งหมดร่วมมือกันเช่นนี้ ไม่ว่าจะ ASF PRRS หรือโรคอะไรก็ตาม เชื่อว่าคนเลี้ยงหมูต้องเอาอยู่ และสามารถปกป้องอุตสาหกรรมหมูและอุตสาหกรรมต่อเนื่องมูลค่ากว่า 200,000 ล้านได้แน่นอน โดย : บรรจบ สุขชาวไทย นักวิชาการด้านปศุสัตว์