รมว.แรงงาน รับข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ จากประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติฯ เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรี 7 ข้อ แบ่งเป็น 16 ประเด็น
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม เป็นประเพณีปฏิบัติที่ผู้นำแรงงานจะได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน ซึ่งในวันนี้มีผู้แทนคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2564 นายสุชาติ ไทยล้วน ประธานคณะกรรมการ และนายอาวุธ ภิญโญยง เลขานุการคณะกรรมการได้มายื่นข้อร้องเรียนเพื่อเสนอต่อรัฐบาล
ทั้งนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลและกำกับกระทรวงแรงงานตระหนักถึงความสำคัญของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน โดยให้พิจารณาดำเนินการตามข้อเรียกร้องของผู้นำแรงงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพสูงและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานและครอบครัว ให้มีความมั่นคงและสามารถดำรงชีพได้อย่างยั่งยืนและมีศักดิ์ศรี เกิดการพัฒนาทุกด้านอย่างสมดุลในทุกมิติ ทั้งในด้านการป้องกันและเเก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ความปลอดภัยในการทำงานการส่งเสริมการมีงานทำ การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวการสร้างหลักประกันทางสังคมแก่แรงงานนอกระบบและกลุ่มเปราะบาง การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน รวมถึงการยกระดับประกันสังคมเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องในปีที่ผ่านมา
สำหรับข้อเรียกร้องที่เสนอต่อรัฐบาล มีจำนวน 7 ข้อ แบ่งเป็น 16 ประเด็นได้แก่ ข้อ 1 ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 เรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และฉบับที่ 98 เรื่องการเจรจาต่อรอง
ข้อ 2 ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนำร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. .... ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านการประชาพิจารณ์มาแล้วเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในรัฐสภาฯ โดยเร่งด่วน
ข้อ 3 ให้รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
3.1 ให้รัฐบาลยกเว้นภาษีเงินได้ก้อนสุดท้ายที่ลูกจ้างเอกชนได้รับ กรณีการเกษียณอายุตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
3.2 ให้รัฐบาลดำเนินการหามาตรการให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 อย่างเคร่งครัด
3.3 ให้รัฐบาลประกาศยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 7 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
3.4 ให้รัฐบาลจัดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินที่นายจ้างต้องจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานอยู่ในบุริมสิทธิลำดับที่ 2
ข้อ 4 ให้รัฐบาลปฏิรูป แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม ดังนี้
4.1 ปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท
4.2 ในกรณีผู้ประกันตนเกษียณอายุ และรับบำนาญแล้ว เมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ต่อ ให้มีสิทธิรับเงินบำนาญต่อไป และผู้ประกันตนที่รับบำนาญชราภาพให้คงสิทธิไว้ 3 กรณี ได้แก่ การรักษาพยาบาล ทุพพลภาพ และค่าทำศพ
4.3 ในกรณีผู้ประกันตนพ้นสภาพจากมาตรา 33 และประกันตนต่อตามมาตรา 39 การคำนวณเงินค่าจ้างเดิม 60 เดือน เป็นค่าทดแทนต่างๆ ขอให้ใช้ฐานค่าจ้างจากมาตรา 33
4.4 เพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลประกันตน มาตรา 40 เหมือนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39
4.5 ขยายอายุผู้ประกันตนจากเดิม 15-60 ปี ขยายเป็น 15-70 ปี เพื่อให้เข้ากับสังคมผู้สูงอายุ
4.6 ในกรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อสร้างแรงงานจูงใจและลดความ เหลื่อมล้ำ ให้รวมทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกเดียวกัน
4.7 กรณีผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปี และส่งเงินสมทบครบ 180 เดือนแล้วให้มีสิทธิเลือกรับเงินบำเหน็จ หรือบำนาญได้
ข้อ 5 ให้รัฐบาลเร่งรัดออกกฎหมายคุ้มครองส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบและมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้
ข้อ 6 ให้รัฐบาลจัดระบบกองทุนสวัสดิการเพื่อการเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจให้เทียบเคียงกับระบบสวัสดิการของทางราชการ และลูกจ้างในระบบของภาคเอกชนรวมถึงขอให้รัฐลดหย่อนภาษีเงินได้ก้อนสุดท้ายที่ได้รับจากนายจ้างที่เรียกว่าค่าตอบแทนความชอบในการทำงานในกฎหมายรัฐวิสาหกิจ
ข้อ 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2563
สำหรับข้อเรียกร้องที่เพิ่มมาจากจากปี 2563 คือ ในข้อ 3 ให้รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในข้อย่อย ข้อ 3.3 ให้รัฐบาลประกาศยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 7 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และ ข้อ 3.4 ให้รัฐบาลจัดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินที่นายจ้างต้องจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานอยู่ในบุริมสิทธิลำดับที่ 2