เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงการประชุมหารือแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและเอกชนที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานว่า ในเรื่องของการจัดหาวัคซีนรัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นที่จะให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาวัคซีน ทั้งนี้จากการประชุมหารือกันทางภาคเอกชนได้มีการชี้แจงว่า การจัดหาวัคซีนกับผู้ผลิตในต่างประเทศมีการติดต่อไปแล้ว แต่เกิดความล่าช้าในเรื่องของการส่งมอบเพราะผู้ผลิตในแต่ละที่แจ้งมาว่าจะสามารถส่งวัคซีนมาได้ในช่วงปลายปี ซึ่งอาจจะเกิดความล่าช้า และอาจทับซ้อนกับส่วนที่รัฐบาลหามาได้ จึงมีการสรุปว่าจะให้รัฐบาลเป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาวัคซีนตามแผนเดิมที่มีไว้ซึ่งหมายความว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีวัคซีนเข้ามา 100 ล้านโดส นายอนุชา กล่าวว่า ในส่วนของการจัดหาวัคซีนของโรงพยาบาลเอกชนนั้นยังดำเนินตามการกลไกของคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งแนวทางการจัดหาวัคซีนของโรงพยาบาลเอกชนยังคงดำเนินการอยู่และสามารถที่จะพูดคุยเจรจาเพิ่มเติมนำเข้าวัคซีนได้อีกทางเลือกหนึ่ง นายอนุชา กล่าว สำหรับการลงทะเบียนฉีดวัคซีนของประชาชน โดยเบื้องต้นจะเป็นการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ หมอพร้อม ซึ่งได้มีการวางแผนฉีดวัคซีนเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1.บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 3 ล้านคน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.จนขณะนี้มีการฉีดครอบคลุมบุคลากรกลุ่มนี้ครบ 77 จังหวัดแล้ว ซึ่งสามารถฉีดไปได้แล้ว 1,200,000 โดส เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มแรก 1,000,000 คนและเป็นผู้ที่รับวัคซีนเข็มที่สอง 200,000 คน และจะดำเนินการฉีดให้ครบได้อย่างต่อเนื่อง นานอนุชา กล่าวว่า ระยะที่ 2 ฉีดให้กับประชาชนสองกลุ่มจำนวน 16 ล้านคน โดยกลุ่มแรก คือประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 11,700,000 คน กลุ่มที่สองคือประชาชนที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคประกอบด้วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวานและโรคอ้วนจำนวน 4,300,000 คน ซึ่งอยากให้ทั้งสองกลุ่มนี้ลงทะเบียนก่อนประชาชนทั่วไป เพื่อที่จะได้รับวัคซีนในช่วงเดือนมิ.ย. ทั้งนี้หากคนใดไม่มีสมาร์ทโฟนให้ติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้านที่มีประวัติการรักษา ในส่วนต่างจังหวัดให้ไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือติดต่ออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โดยทั้งสองกลุ่มนี้จะเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.เป็นต้นไปและคาดว่าสามารถจะฉีดได้ครบ 16 ล้านคนภายในสิ้นเดือนก.ค. นายอนุชา กล่าวว่า หลังจากนั้นจะเป็นการฉีดในระยะที่ 3 คือประชาชนอายุ 18- 59 ปี ในกลุ่มนี้ที่มีประมาณ 31 ล้านคน โดยให้ลงทะเบียนหมอพร้อมในวันที่ 1 ก.ค. และจะเริ่มมีการฉีดเดือนส.ค.เป็นต้นไป ซึ่งเป็นส่วนการลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม หรือผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ก็สามารถลงทะเบียนได้ นายอนุชา กล่าวว่า ส่วนข้อกังวลของผู้ที่ติดเชื้อและไม่สามารถรักษาหรือหาเตียงได้ ทางรัฐบาลได้เปิดศูนย์แรกรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ กรุงเทพฯ ซึ่งผู้ที่จะได้รับการดูแลในเบื้องต้นจะผ่านการคัดกรองและแยกระดับอาการ ก่อนส่งต่อเพื่อลดปัญหาของผู้ป่วยที่ติดค้างอยู่ที่บ้าน และหลังจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อคลี่คลายลง ทั้งโรงพยาบาลสนามและศูนย์แรกรับที่เปิดขึ้น จะเปลี่ยนให้เป็นสถานที่ฉีดวัคซีนในอนาคต  นายอนุชา กล่าวว่า ส่วนการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมของเอกชน ได้มีการประชุมหารือว่าเอกชนพร้อมมีส่วนในการกระจายวัคซีนและฉีดวัคซีน โดยในการฉีดจะเป็นด้านบุคลากรการแพทย์ ส่วนการลงทะเบียน การดูแลด้านไอทีต่างๆภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระแพทย์ พยาบาลได้ทั้งหมด  นายอนุชา กล่าวว่า ส่วนเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับห้องพยาบาลห้องการรักษาไอซียูต่างๆทุกหน่วยงานก็ยังปรับเปลี่ยนปรับปรุงให้มีการรักษาได้เพิ่มขึ้นผู้ป่วยที่มีต้องใช้ห้องไอซียู โดยขณะนี้วันนี้ได้มีรายงานมาที่นายกฯในส่วนของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ห้องไอซียูได้เพิ่มเป็น 37 เตียงช่วยในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการสาหัสด้วย