เมื่อวันที่ 29 เม.ย.นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร  โฆษกพรรคก้าวไกล  และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ  นำเสนอข้อเสนอการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด ต่อนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ต้องจ่ายยา Favipiravir ให้เร็วก่อนผู้ติดเชื้อจะมีอาการหนัก Remdesivir ปัจจุบันยังขาดแคลน รัฐบาลควรกระจายความเสี่ยงในการจัดหายาอื่นๆ เพื่อให้แพทย์ได้เลือกใช้ตามข้อบ่งชี้ เพื่อช่วยเหลือชีวิตประชาชนให้ได้มากที่สุด จากการประชุมหารือกับคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ “ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19” พบว่าปัจจุบันพบว่า ที่ผ่านมารัฐบาลประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไว้ต่ำเกินไป จากข่าวเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 64 ที่ผ่านมา [1] พบว่าประเทศไทยมีสต๊อกยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) อยู่เพียง 400,000 เม็ด (ตามข่าวระบุว่าใช้วัน 20,000 เม็ด คาดว่าจะใช้ได้จนถึงสิ้นเดือน เม.ย. 64) โดยผู้ติดเชื้อที่มีข้อบ่งชี้ให้ใช้ยา จะต้องกินยาชนิดนี้ ประมาณ 5-10 วัน (ขึ้นอยู่กับอาการ) โดยมีความจำเป็นต้องใช้ยานี้ประมาณ 50 เม็ดต่อผู้ป่วย 1 คน แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 19 เม.ย. เริ่มพบปัญหายา Favipiravir ที่เชียงใหม่ หมดสต๊อก [2] โชคยังดีที่วันที่ 26 เม.ย. ยา Favipiravir จำนวน 2 ล้านเม็ดได้มาถึงประเทศไทยได้อย่างทันการณ์ [3] ซึ่งตามข่าวระบุว่าเดือน พ.ค. นี้จะมาเพิ่มเติมอีก 1 ล้านเม็ด และมีแผนที่จะให้องค์การเภสัชกรรมจัดหาเพิ่มเติมอีก 2-3 ล้านเม็ด สำหรับการพัฒนายา Favipiravir คาดว่าจะสามารถยื่นข้อมูลขึ้นทะเบียนกับ อย. ได้ประมาณ มิ.ย.-ก.ค. สำหรับการผลิตเพื่อจำหน่ายนั้น จะทำได้ภายหลังการได้ทะเบียนตำรับยาจาก อย. และหากไม่มีข้อติดขัดด้านสิทธิบัตรยา ก็จะสามารถผลิตยา Favipiravir ได้ทันที [4] ยา Favipiravir ไม่ได้มีความสำคัญในการรักษาผู้ป่วยอาการหนักเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือ ที่ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุ หรือน้ำหนักตัวมาก หรือมีโรคประจำตัว) ที่เพิ่งจะเริ่มมีอาการ ไม่ต้องมีอาการที่ทรุดหนัก ไวรัสลงปอด จนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต ซึ่งการดูแลรักษาผู้ป่วยอาการหนัก นั้นเป็นภาระที่หนักมากๆ สำหรับระบบสาธารณสุข ซึ่งทั้งจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ จำนวนเตียง และจำนวนเตียง ICU มีอยู่อย่างจำกัด ณ ขณะนี้ โดยแนวเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์ ก็ระบุเอาไว้เองว่า ปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่ง ที่ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะรุนแรง ก็คือ การที่ผู้ติดเชื้อได้รับยา Favipiravir เร็วภายใน 4 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ เนื่องจากยา Favipiravir ช่วยลดปริมาณไวรัสได้ดี ดังนั้น จึงควรให้ยา Favipiravir เร็วก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการหนัก [5] ข้อเสนอแนะ 1) รัฐบาลควรจะต้องสำรองยา Favipiravir ให้เพียงพอต่อการจ่ายยาของแพทย์ โดยให้ครอบคลุมถึงการจ่ายยาให้กับการจ่ายยาตามดุลยพินิจของแพทย์ ให้กับผู้ติดเชื้อที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุ หรือน้ำหนักตัวมาก หรือมีโรคประจำตัว) ที่ยังไม่มีอาการ หรือเริ่มมีอาการ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีอาการทรุดหนักลง แพทย์เจ้าของไข้ทุกคน จะรู้สึกเสียใจอย่างมาก เมื่อเห็นคนไข้ที่ตนเองเป็นเจ้าของไข้มีอาการทรุดหนักลง ทั้งๆ ที่แต่เดิมไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย 2) ป้จจุบันคนไข้ต้องรอคิวตรวจ RT-PCR นานมาก บางรายต้องรอคิวนานถึง 2-3 วัน กว่าจะทราบผลว่าติดเชื้อ ก็พบว่าเชื้อลงปอด และอาการทรุดหนักลงแล้ว บางรายเสียชีวิตก่อนทราบผลว่าติดเชื้อก็มี เสียชีวิตวันเดียวกันกับที่ทราบผลว่าติดเชื้อก็มี [6] ดังนั้นจึงควรเปิดโอกาสให้แพทย์ใช้ดุลยพินิจในการจ่ายยา Favipiravir ได้อย่างทันการณ์ขึ้น หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการที่เข้าข่ายการเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีประวัติที่เสี่ยงที่จะมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หรือพบว่ามีผลตรวจ Rapid Antigen Test ซึ่งรอผลเพียง 30 นาที เป็น Positive (ติดเชื้อ) ควรอนุญาตให้แพทย์จ่ายยา Favipiravir ได้ทันที หากพบว่าผู้ป่วยเริ่มมีอาการ หรือกรณีผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุ หรือมีน้ำหนักตัวมาก หรือมีโรคประจำตัว) ควรอนุญาตให้แพทย์ใช้ดุลยพินิจจ่ายยา Favipiravir ได้ก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการได้ การรอยาโดยที่ผู้ป่วยมีอาการทรุดหนักลง โดยที่แพทย์เจ้าของไข้ไม่สามารถจ่ายให้ยาได้ เป็นความทุกข์ทรมานของแพทย์ ผู้ป่วย และญาติของผู้ป่วย ที่ต้องทนเห็นผู้ป่วยมีอาการทรุดลงอยู่ตรงหน้า โดยที่ทำอะไรไปกว่านี้ไม่ได้ ต้องยอมรับว่าการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 นั้นต้องแข่งกับเวลา หากผลตรวจด้วยวิธี RT-PCR ออกมาภายหลังว่าไม่ติดเชื้อ แพทย์ก็สามารถสั่งหยุดยาได้ทันที ผลข้างเคียงจากการรับยานั้นมีน้อยกว่า การสูญเสียชีวิตอันเนื่องจมาการเสียโอกาสที่ผู้ป่วยจะได้รับยา 3) สำหรับผู้ป่วยที่มีผลตรวจยืนยันว่าตนติดเชื้อ และอยู่ระหว่างการรอเตียง หากพบว่าเริ่มมีอาการ หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุ หรือมีน้ำหนักตัวมาก หรือมีโรคประจำตัว) ควรออกกฎหมายอนุญาตให้ใช้ Telemedicine ได้ โดยให้แพทย์สามารถจ่ายยา และมีบริการจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยถึงบ้าน ผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการ หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง เขาต้องรอตรวจ รอเตียง ก็แย่พออยู่แล้ว อย่าให้เขาถึงกับต้องรอยา และรอความตายเลย สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจ RT-PCR ควรซักประวัติเอาไว้ล่วงหน้าเลย หากพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุ หรือมีน้ำหนักตัวมาก หรือมีโรคประจำตัว เมื่อผลตรวจออกมาว่าติดเชื้อ และผู้ป่วยอยู่ระหว่างรอเตียง จะได้โทรศัพท์ไปแจ้งผล พร้อมกับจัดส่งยา Favipiravia ให้ได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะมีอาการทรุดหนักลง และต้องเข้า ICU ซึ่งเป็นภาระของระบบสาธารณสุขที่อยู่ในวิสัยที่จะสกัดกั้นล่วงหน้าได้ 4) รัฐบาลควรกระจายความเสี่ยงในการจัดหายารักษาโรคโควิด-19 อื่นๆ เพื่อให้แพทย์ได้เลือกใช้ตามข้อบ่งชี้ ได้อย่างเหมาะสม ปัจจุบันยาฉีด Remdesivir ซึ่งเป็นยาที่อยู่ในรายการแนวทางเวชปฏิบัติ [7] ก็มีสต๊อกเหลือน้อยมาก แทบจะเบิกใช้ไม่ได้ หรือยา Tocilizumab ที่ต้านการอักเสบของปอด ก็แทบจะไม่มีสต๊อกให้เบิก ทั้งๆ ที่ยานี้เคยอยู่ในแนวเวชปฏิบัติมาก่อน และปัจจุบัน รพ.ที่เป็นโรงเรียนแพทย์ ก็ยังแนะนำให้ใช้อยู่ หากมีข้อบ่งชี้ และปัจจุบัน มียาอีกเป็นจำนวนมากที่ผ่าน FDA แล้ว หรือกำลังจะผ่าน FDA ที่มีงานวิจัยยืนยันว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคโควิด-19 เช่น Monoclonal Antibody ยา Bamlanivimab และ Etesevimab ของ Eli Lilly หรือ ยา Molnupiravir (กำลังจะผ่าน FDA) รัฐบาลควรเร่งกระจายความเสี่ยงในการจัดหายารักษา เพื่อให้แพทย์ได้เลือกใช้ตามข้อบ่งชี้อย่างเพียงพอ ตอนนี้ย้ำว่า Remdesivir และ Tocilizumab ขาดแคลนอย่างมาก ขอให้รัฐบาลเร่งจัดหามาอย่างเร่งด่วน และการเจรจาซื้อยา (รวมทั้งวัคซีน) รัฐบาลควรจะต้องสั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศ เข้ามาช่วยกระทรวงสาธาณสุขในการเจรจาสั่งซื้อยาได้แล้ว เพื่อให้การสั่งซื้อยาจากต่างประเทศทำได้เร็วขึ้น 5. อุปกรณ์ที่มีความจำเป็นในการช่วยชีวิตผู้ป่วย และแพทย์มีความจำเป็นอย่างมาก ณ ขณะนี้ ก็คือ เครื่อง Oxygen High Flow ซึ่งกรมสมเด็จพระเทพฯ ท่านได้มีพระเมตตาพระราชทานเอาไว้ให้จำนวนหนึ่งแล้ว [8] แพทย์ต้องการให้รัฐบาลอนุมัติงบประมาณในการจัดซื้ออย่างเร่งด่วน เพราะจะช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีอาการหนักขึ้นได้ โดยที่อาจจะไม่จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หากมีเครื่อง Oxygen High Flow แพทย์ก็จะมีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วย โดยลดภาระของ ICU ได้ โดยเฉพาะโรงพยาบาลแรกรับ หรือศูนย์แรกรับ ที่รัฐบาลกำลังจัดจัดตั้งขึ้น เครื่อง Oxygen High Flow ถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ผมยืนยันว่า ผม ผู้เชี่ยวชาญ และคณะทำงาน ที่ได้หารือกัน คำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการรักษาชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ และพยายามที่จะนำเสนอแนะแบบเปิดผนึกไปยังรัฐบาล ด้วยข้อความเชิงบวก เพื่อให้รัฐบาลได้นำเอาไปพิจารณา และเร่งดำเนินการอย่างเร็วที่สุด จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะเปิดใจรับฟัง และเข้าใจความปรารถนาดีของผม และคณะทำงานที่ได้ร่วมประชุม และจัดพิมพ์ข้อเสนอแนะฉบับนี้ออกมา