พระพิมพ์ คือ การสร้างรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยการนำวัสดุ เช่น ดินเหนียว โลหะ ผงว่านมงคล ต่างๆ กดลงไปในพิมพ์ พิมพ์มักจะสร้างด้วยหิน โลหะ ดินเผา ไม้ และกระดูกสัตว์ พระพิมพ์ในเมืองสุโขทัยถูกสร้างขึ้นตามอิริยาบถต่าง ๆ ของพระพุทธองค์ คือ นั่ง นอน ยืน และเดิน หรือสร้างตามเหตุการณ์สำคัญในพระพุทธประวัติ พระพิมพ์ถูกสร้างแพร่หลายในเมืองสุโขทัย โดยมีคติและความเชื่อที่ว่าเป็นการสั่งสมบุญบารมีให้กับผู้สร้าง และยังเป็นการสืบต่ออายุของพุทธศาสนา เพื่อให้คนเหล่านั้นสืบหาความหมายในพระธรรมของพระพุทธเจ้าจากพระพิมพ์ที่คนโบราณได้สร้างไว้
ศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ หรือบ้านพระพิมพ์ลักษมณศิลป์ ตั้งอยู่ที่ ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย ได้รวบรวมพระพิมพ์ ของเมืองสุโขทัยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น พระพิมพ์ที่ถูกค้นพบจากเมืองศรีสัชนาลัย และเมืองเก่าสุโขทัย พร้อมทั้งได้รวบรวมประวัติของวัด ผู้สร้างวัด รวมไปถึงชื่อของพิมพ์พระให้ถูกต้องเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ศิลปะของเมืองสุโขทัยรวมไปถึงเมืองที่มีประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเดียวกัน เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และมรดกของบรรพชนให้แก่เยาวชน นักท่องเที่ยว และผู้สนใจทั่วไป
ณรงค์ชัย โตอินทร์ เป็นคนรุ่นใหม่ที่ลงมือทำงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสุโขทัย เป็นนักเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้ามาอย่างลึกซึ้ง สืบเชื้อสายตระกูลช่างแกะสลักไม้ทำพระพุทธรูป แต่เขามีความสนใจในเรื่องงานดินมากกว่า จึงเริ่มศึกษาการทำพระพิมพ์ดินเผาสุโขทัยจริงจัง
นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้รูปแบบของพุทธศิลป์สุโขทัยในแบบต่าง ๆ แล้ว นักท่องเที่ยวยังจะได้เรียนรู้การ “พิมพ์พระ” และ “การเผา” เพื่อให้ได้พระพิมพ์ดินเผาเนื้อแกร่งจากจากคุณณรงค์ และคุณญาณภัทร์ โตอินทร์ (พี่กบและพี่แก้ม) ซึ่งสามารถให้ความรู้ทั้งในด้านประวัติของพระพิมพ์เมืองสุโขทัยและในด้านเทคนิคของการพิมพ์พระ การร่วมทำกิจกรรม “พิมพ์พระ” ไม่ใช่เพียงการเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมของพื้นที่ผ่านการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่นักท่องเที่ยวจะได้มีส่วนร่วมในการ “สืบต่อพระพุทธศาสนา” สืบต่อไป
+++++++++++