โควิดไทยดับ!ทุบสถิติ 15 ราย ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 2,179 ราย ระบุระยะเวลาติดเชื้อไม่ถึงสัปดาห์“อาการทรุดลง-เสียชีวิต”รวดเร็ว “ศบค.”แนะจับตาคลัสเตอร์ใหม่ใน 4 จว.อาจพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ระบุ 10 จว.ติดเชื้อสูงสุด “กทม.”ยังพุ่งติดเชื้อ 993 ราย สะสมนับหมื่น ห่วง “นนทบุรี-เชียงใหม่” ส่วน “ศธ.”เคาะเลื่อนเปิดเทอมเป็น1 มิ.ย. “นายกฯ”ยอมรับบกพร่องไม่สวมแมส ขอทุกคนศึกษากฎหมายคุมโควิดระบาด ขณะที่ “ครม.” ไฟเขียวงบ 321 ล้าน จัดหาวัคซีน “Sinovac” เพิ่ม 5 แสนโดส
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 27 เม.ย.64พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่ผู้ว่าฯกทม. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เข้ามาเปรียบเทียบปรับ 6,000 บาท ในทำเนียบฯ หลังจากที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัยขณะนั่งประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษา ว่า หลังจากที่มีการนำภาพขึ้นเฟซบุ๊ก ตนเห็นข่าวจากโทรทัศน์และเฟซบุ๊กแล้วก็รู้สึกไม่สบายใจ จึงได้ปรึกษาฝ่ายกฏหมาย ให้ประสานไปยัง กทม.ว่ากรณีที่ตนไม่ใส่หน้ากากอนามัยขณะประชุม ถือว่า มีความผิดหรือไม่ ซึ่งก็ได้รับแจ้งว่า มีความผิดและเขาได้นำเจ้าหน้าที่มาเปรียบเทียบปรับ ก็แค่นั้น
“ผมยอมรับว่า ผมบกพร่อง เรื่องไหนที่มันจบก็ให้มันจบไป เรื่องมันจบไปแล้วก็ให้มันจบไป สิ่งสำคัญที่สุดต้องเข้าใจว่า มีกฎหมายหลายตัว ทั้งของตำรวจ พรก.ฉุกเฉิน และมาตรการต่างๆ ของผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นต้องพิจารณาว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ถูกปรับ เมื่อออกนอกเคหะสถาน ที่สำคัญคือการสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะ แม้ว่าจะอยู่คนเดียวก็ตาม ในวัดถ้ามากกว่า 1 คนก็ต้องสวมหน้ากาก จัดรายการในสตูดิโอก็ต้องสวมหน้ากากทุกคน เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบอนุโลม ไม่ต้องใส่หน้ากาก สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐาน ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับกฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบันว่า ต้องใส่หน้ากากกันอย่างไร ส่วนการขับรถยนต์นั้นถ้านั่งหลายคนก็ต้องใส่ ผมนั่งรถมาก็ใส่มาตลอดทาง เพราะเราไม่ต้องการแพร่เชื้อให้กับคนอื่นหรือคนใกล้ตัวต้องระวังทั้งหมด” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติ กรอบวงเงินจำนวน 321,604,000 บาท ในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับบริการประชากรในประเทศไทยเพิ่มเติม จำนวน 5 แสนโดส จากบริษัท Sinovac Biotech จำกัด ตามแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการให้วัคซีน โควิด-19 เพื่อให้คนไทยทุกคนเข้าถึงวัคซีน ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีน 5 แสนโดส ประกอบด้วย เป็นค่าวัคซีนโควิด-19 จำนวน 271.25 ล้านบาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 18.99 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในบริหารจัดการวัคซีนในการเตรียมความพร้อมในระดับพื้นที่ เพื่อรองรับการฉีดวัคซีน จำนวน 31.36 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 321,604,000 บาท โดยดำเนินงานในเดือนพ.ค.64 สำหรับโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 5 แสนโดสนี้ เพื่อบริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า เจ้าหน้าที่ผู้สนับสนุนผู้ป่วย ผู้ที่มีโรคประจำตัว ประชาชนทั่วไป และแรงงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุด รวมไปถึงพื้นที่การระบาดของโรคด้วย เพื่อลดอัตราป่วย การเสียชีวิตและค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วย
ขณะที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้ประชุมหารือเรื่องการเปิดภาคเรียนและการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ร่วมกับ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) และเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) โดยที่ประชุมมีมติว่าจะเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จากวันที่ 17 พ.ค.เป็นวันที่ 1 มิ.ย. เนื่องจากสถานการณ์โดยรวมการแพร่ระบาดโควิด-19 อาจจะมีความรุนแรงมากขึ้น และจะกระทบต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนส่วนใหญ่ของสถานศึกษา ประกอบกับผู้ปกครองก็ได้แสดงความห่วงใยในบุตรหลาน
“ทางศธ. ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน เพื่อไม่ให้การเลื่อนวันเปิดภาคเรียนกระทบต่อโอกาสในการเรียนรู้และสิทธิของผู้เรียน ดังนี้ ช่วงเวลาจากวันที่ 17–30 พ.ค.ให้สถานศึกษา ครูและบุคลากร เตรียมความพร้อมในด้านอาคารสถานที่ การจัดการเรียนการสอน และอื่นๆ เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียน, สื่อสารและทำความเข้าใจกับผู้ปกครองในการเลื่อนวันเปิดภาคเรียน, ครู อาจไปเยี่ยมนักเรียน นักศึกษา ที่บ้าน, จัดกิจกรรมเสริมให้แก่ผู้เรียน ซึ่งอาจใช้ระบบออนไลน์ หรือระบบอื่นๆที่เหมาะสม โดยจะให้การเลื่อนวันเปิดภาคเรียนกระทบต่อนักเรียน น้อยที่สุด อย่างไรก็ตามสำหรับโรงเรียนที่อยู่นอกเขตเมือง ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่มาก ก็สามารถเตรียมการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบปกติเป็นหลักเช่นเดิม
ส่วน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่เพิ่มขึ้น 2,179 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 2,174 ราย จากระบบเฝ้าระวังฯ 2,149 ราย จากการคัดกรองเชิงรุก 25 ราย มาจากต่างประเทศ 5 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 59,687 ราย หายป่วยแล้ว 33,551 ราย เหลือที่รักษาอยู่ 25,973 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 15 ราย ยอดสะสม 163 ราย
ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตทั้ง 15 ราย แบ่งเป็นชาย 9 ราย หญิง 6 ราย อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ 9 ราย นครสวรรค์ 2 ราย ชัยภูมิ เพชรบุรี สมุทรปราการ และสระบุรี จังหวัดละ 1 ราย อายุอยู่ในช่วง 24-88 ปี ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไตเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจ มะเร็ง มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า ทั้งในครอบครัว ที่ทำงาน และไปสถานที่เสี่ยง เช่น สถานบันเทิง และตลาด ระยะเวลาที่ทราบผลติดเชื้อจนถึงเสียชีวิต อยู่ระหว่าง 1-6 วัน จากข้อมูลพบว่า ผู้เสียชีวิตมีอาการทรุดลงและเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุม EOC วิเคราะห์สถานการณ์รายจังหวัด โดยในกทม.พบผู้ป่วยมากที่สุดในวันที่ 24 เม.ย. ส่วนใหญ่ติดโควิด-19 มาจากคลัสเตอร์ใหม่ต่อเนื่อง ทั้งการสัมผัสผู้ป่วยในครอบครัว สถานดูแลผุ้สูงอายุ ชุมชนแออัด (คลองเตย) สำนักงานตำรวจ/ศาล ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ส่วนจ.เชียงใหม่ พบผู้ป่วยโควิด-19 มากที่สุดในช่วงสงกรานต์ จากนั้นตัวเลขลดลง ขณะนี้มีคลัสเตอร์ใหม่ และผู้ป่วยโควิดต่อเนื่องจากเรือนจำ ศูนย์เด็กเล็ก งานเลี้ยง ลานธรรม สถานบันเทิง และค่ายอาสานักศึกษา จ.นนทบุรี ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงในช่วงหลังสงกรานต์เช่นกัน จากนั้นเริ่มลดลง และขณะนี้กำลังจะขยับสูงขึ้น เชื่อมโยงจากคลัสเตอร์งานสัมมนา สถานบันเทิง ตลาด ร้านอาหาร และจ.สมุทรปราการก็ขึ้นๆ ลงๆ แต่ตอนนี้ดูเหมือนจะเป็นขาขึ้น โดยสรุปจากสถานบันเทิง การร่วมงานอีเว้นท์ต่างๆ ฟิตเนส งานสัมมนา และก็พนักงานของรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง
“ตัวเลขการติดเชื้อในวันนี้พบว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 993 ราย ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 1-27 เม.ย. มีจำนวน 10,069 ราย ถือเป็นยอดผู้ติดเชื้อหลักหมื่นภายในเดือนเดียว และเป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อในจังหวัดที่สูงสุดในประเทศไทย สำหรับ 10 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศรายใหม่สูงสุด มีดังนี้ 1.กรุงเทพมหานคร 993 ราย 2.นนทบุรี 149 ราย 3.สมุทรปราการ 93 ราย 4.ปทุมธานี 93 ราย 5.ชลบุรี 80 ราย 6.สุราษฎร์ธานี 62 ราย 7.สมุทรสาคร 61 ราย 8.เชียงใหม่ 60 ราย 9.นครราชสีมา 33 ราย 10.พระนครศรีอยุธยา 30 ราย ทั้งนี้จังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าเมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา คือ นนทบุรี สุราษฎร์ธานี ปทุมธานี”
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุมศบค. มีการรายงานเรื่องตัวเลขการฉีดวัคซีน เมื่อวานนี้มีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น 77,366 โดส ทำให้ยอดรวมสะสมอยู่ที่ 1,200,000 กว่าโดส โดยเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรก 1,012,388 ราย ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนช่วยกัน ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อวางแผนในการกระจายวัคซีนล็อตที่จะมาถึง ตนในฐานะผู้ตรวจราชการได้ให้ทีมงานที่อยู่ทุกจังหวัดได้คิดแผนต่างๆ ไม่ใช่ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะทำงานฝ่ายเดียว ต้องขอขอบคุณภาคเอกชน ภาควิชาชีพต่าง ๆ ที่มีคนติดต่อมาบอกส่วนตัวเพื่อให้ความร่วมมือในทุกๆ ด้าน
นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงกรณีการชะลอให้ชาวอินเดียเดินทางเข้าประเทศไทย ว่า มาตรการดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.64 โดยพิจารณาจากข้อมูลการระบาดวิทยา ส่วนผู้ที่เดินทางเข้ามาก่อนหน้านี้ หรือเข้ามาระหว่างนี้ เป็นกลุ่มคนที่ได้รับอนุญาตไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เช่น เป็นญาติ หรือเป็นบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตเข้ามาทำงานในประเทศไทย ทุกคนที่เข้ามาจะต้องเข้ากักตัวในสถานกักกันที่มีมาตรฐานทุกราย ไม่ได้ปล่อยปละให้ออกมาเดินในชุมชนตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา รวมทั้งจะไม่มีการเดินทางมาเป็นกลุ่มก้อนใหญ่อีก