วันที่ 26 เม.ย.64 นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันดูเหมือนจะชะลอตัว แต่ยังต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ยังวางใจไม่ได้ ทั้งนี้ การติดเชื้อในระลอก 3 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ไม่ถึงเดือนมีผู้ติดเชื้อ 28,645 ราย ซึ่งมากกว่าระลอก 2 ช่วง 15 ธ.ค. 63 – 31 มี.ค. 64 ที่มี 24,626 ราย ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตโดยระลอกสาม เสียชีวิต 54 ราย คิดเป็น 0.19% เรียกว่าฐานการป่วยสูงขึ้น จำนวนเสียชีวิตเพิ่มแต่ละวันก็ดูจะสูงเช่นกันและมีคนมีอาการหนักอยู่ “สำหรับผู้เสียชีวิต 8 รายในวันนี้ ภาพรวมเป็นชาย 6 ราย หญิง 2 ราย อายุ 24-92 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 4ราย ระยะเวลาจากเริ่มป่วยถึงวันที่เสียชีวิตอยู่ที่ 3-10 วัน โรคประจำตัวที่พบ คือ เบาหวาน 1 ราย ความดันโลหิตสูง 3 ราย ไขมันในเลือดสูง 1 ราย เนื้องอกในระบบน้ำเหลือง 1 ราย หัวใจขาดเลือด 2 ราย ไตวายเรื้อรัง 1 ราย น้ำหนักเกิน 1 ราย ไทรอยด์เป็นพิษ 1 ราย และข้ออักเสบรูมาตอยด์ 1 ราย” นพ.เฉวตสรรกล่าว นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า ลักษณะของการเสียชีวิตระลอก ม.ค. 2563 ชายมากกว่าหญิง 3.3 เท่า ระลอกธ.ค. 63 ชายมากกว่าหญิง 2.8 เท่า ส่วนระลอกเม.ย. 64 ชายมากกว่าหญิง 1.7 เท่า ดูเหมือนจำนวนจะเริ่มใกล้กัน ซึ่งอาจเป็นเรื่องของฐานจำนวนผู้ติดเชื้อหรือความเสี่ยงการเสียชีวิตที่ต่างไปจากเดิม ส่วนเรื่องของอายุนั้นระลอกม.ค. 63 ผู้เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 45% ระลอกสอง ธ.ค.63 อายุ 60 ปีขึ้นไปมี 64% ส่วนระลอกปัจจุบันสูงอายุ 55% ถือว่ายังเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญและเกิดครึ่ง แต่เราให้ความสำคัญทุกกลุ่มอายุในการรักษาให้หาย นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ติดเชื้อในการระบาดระลอกเดือนเม.ย.จะพบว่ามีการกระจุกตัวอยู่ใน 6 จังหวัด รวมคิดเป็น 60%ของผู้ติดเชื้อ คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี นนทบุรี สมุทรปราการและปทุมธานี ดังนั้น ความกระจุกตัวของผู้ติดเชื้อไม่เท่ากันในทุกจังหวัด เพราะฉะนั้นมาตรการใน 6 จังหวัดนี้ก็จะมีมากกว่าจังหวัดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดในขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าที่จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงถือว่าดีขึ้นหรือไม่ แต่มีข้อสังเกตว่าเหมือนจะชะลอลง แต่มีข้อมูลในทุกประเทศว่าจำนวนผู้ติดเชื้อแต่ละวันมีการแกว่งตัวขึ้นลงได้ ต้องคอยสังเกตการเคลื่อนตัวของค่าเฉลี่ยไปทางไหน หากอยู่ระดับ 2 พันรายไปเรื่อยๆ ต่อเนื่อง ก็คาดหวังในทางดีว่าเป็นระฆังคว่ำ ถ้านิ่งอาจเป็นการชะลอตัวจริงๆ แต่อย่าวางใจ ขึ้นกับเราสามารถล็อกดาวน์ตนเอง ดูแลลดการสัมผัสเข้มข้นจริงจังหรือไม่ ถ้าทำได้เชื้อจะไม่สามารถแพร่กระจายและลดลงได้แน่นอน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข (ศปก.สธ.) ซึ่งมีมติให้ยกระดับพื้นที่จังหวัดเป็น 3 ระดับนั้น ในส่วนของพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สีแดงเข้ม มี 6 จังหวัด คือ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ เชียงใหม่ และชลบุรี พื้นที่ควบคุม สีส้ม มี 16 จังหวัด คือ แพร่ พะเยา นครพนม ตราด สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท อุทัยธานี แม่ฮ่องสอน พังงา สตูล น่าน ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ และพื้นที่ควบคุมสุด สีแดง มี 55 จังหวัดที่เหลือ โดยจะมีการเสนอศบค.ต่อไป