นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เผยว่า วันนี้ (26เม.ย.) ได้ประชุมออนไลน์ร่วมกับเอกชนผู้ให้บริการมือถือ และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ได้แก่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ และทริปเปิลทรี บรอดแบนด์ (3BB) รวมทั้งผู้ให้บริการแอปพลิเคชันสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์ ได้แก่ ไมโครซอฟท์ ซิสโก้ ไลน์ และ Zoom เพื่อพิจารณารูปแบบและค่าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้นักเรียน นักศึกษา เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชันเพื่อการศึกษา ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ
ทั้งนี้เบื้องต้นผู้ให้บริการมือถือทุกรายได้รับในหลักการ ว่าจะไปพิจารณาร่วมกัน ในการออกแพคเกจรายเดือน 5GB ในความเร็วไม่ต่ำกว่า 4Mbps ไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน (Unlimited Data) เพื่อรองรับการใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ ที่มีความเหมาะสมกับนักเรียนและนักศึกษาในการเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อเป็นการเตรียมการรองรับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าว กระทรวงฯ จะนำเสนอหลักการดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
"ถือเป็นหนึ่งในภารกิจของดีอีเอส ในการขับเคลื่อนให้เกิดการนำเทคโนโลยี เข้ามาบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ช่วยแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายในการเรียนการสอน ที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของประเทศ นักเรียน-นักศึกษากว่า 8 ล้านคน ต้องหยุดการเรียนการสอนในโรงเรียน สถานศึกษาต้องมีการปรับเปลี่ยนสู่รูปแบบการเรียนการสอนทางไกล โดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และหลายคนต้องปรับตัวกับระบบการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ทั้งที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีและบริการอินเทอร์เน็ต"
หลังจากนี้ ดีอีเอส จะประสานกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อสรุปรายชื่อนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย และหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อจัดทำฐานข้อมูล สำหรับการลงทะเบียนใช้สิทธิ์การสนับสนุนเรียนการสอนออนไลน์ในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยธนาคารกรุงไทย จะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องระบบการลงทะเบียน