ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดเสวนาทางคลับเฮ้าส์ หัวข้อเรื่อง "เอาไงดี ! ค่าโดยสารรถไฟฟ้า ทางออกที่ดีของผู้ใช้บริการ" ซึ่งมีหลายภาคส่วนเข้าร่วม ประกอบด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง จากสภาองค์กรของผู้บริโภค นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เข้าร่วม
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้แสดจุดยืนในการคัดค้า การต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้ารถไฟฟ้าสีเขียว ที่มีการเชื่อมโยงกับราคาค่าโดยสาร รถไฟฟ้า ไปแล้ว ซึ่งตามข้อมูลที่ระบุว่า เมื่อขยายสัญญาสัมปทานออกไปอีก 30 ปี จากปี 2572 ถึงปี 2602 เอกชนจะมีการจัดเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท โดยสภาองค์กรผู้บริโภค ได้ทำหนังสือคัดค้าน ไปถึง คณะรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร โดยเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องทำให้ราคารถไฟฟ้า เป็นราคาเดียวที่ถูก เพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยทุกกลุ่ม สามารถเข้าใช้บริการได้ ไม่เกิดปัญหาเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่รัฐบาล ใช้ประโยชน์จาการลงทุนโครงข่ายรถไฟฟ้า เพื่อเป็นบริการสาธารณะอย่างคุ้มค่า
นางสารี กล่าวอีกว่า ราคาที่สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอ 25 บาท โดยไม่มีการติดค่าแรกเข้าเป็นราคาที่ทำได้จริง 25 บาททำได้จริง โดยเมื่อพิจารณา ข้อมูลของกรุงเทพมหานคร ที่ระบุว่า หากกำหนดราคาโดยสาร 65 บาท กทม.จะได้ผลตอบแทน 240,000 ล้านบาท ตลอดสัมปทาน 30 ปี ส่วนข้อมูล ของกระทรวงคมนาคม หากใช้ราคา 49.83 บาท จะทำให้กทม.มีรายได้ 380,200ล้านบาท ในระยะเวลา 30 ปี หากนำเงินจำนวนนี้ใช้หนี้เดิมในช่วง 2560-2572 ประมาณ100,000 ล้านบาท กทม.ยังมีกำไรสูงถึง 280,200 ล้านบาท ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภค อยากถามว่า กทม.ซึ่งเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่น จะทำกำไรร่ำรวยไปทำไมเป็นแสนล้าน ควรกำหนดค่าโดยสารให้ประชาชนได้ประโยชน์มากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ องค์กรฯจะติดตามคัดค้านไม่ให้รัฐบาล เอาเรื่องขยายสัมปทานฯ กำหนดราคา 65 บาท เข้า ครม.เด็ดขาด เพราะจะกลายเป็นข้อผูกมัดรัฐบาลและผู้ใช้บริการ ต้องจ่ายค่าโดยสารแพง
นายสุเมธ องกิตติกุล จากทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัญหาการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า ที่มีปัญหาราคาแพงนั้น ที่ผ่านมา เกิดจากการที่รัฐจำเป็นต้องนำเอกชนมาร่วมลงทุน และมีสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า หลายสัญญาตามเส้นทาง และมีความแตกต่างกันเงื่อนไขของสัมปทาน ซึ่งเรื่องนี้ ทีดีอาร์ไอเห็นว่า ในอนาคต จะต้องมีการกำหนดโมเดล ราคาค่าโดยสารมาตรฐานเดียว เป็นโมเดลในทุกระบบร่วมกัน โดยสามารถทำได้ โดยการที่นำรถไฟฟ้าที่รัฐกำลังประมูลก่อสร้าง มากำหนดเงื่อนไขราคา และในอนาคตรัฐสามารถนำเอารถไฟฟ้าที่หมดสัมปทานจากเอกชนมารวมในโมเดล ส่วนรถไฟฟ้าที่เซ็นสัญญากับเอกชนไปแล้ว และสัมปทานไม่หมด ก็เจรจาให้เอกชน เข้ามาอยู่ในโมเดลค่าโดยสารนี้
"เรื่องสัญญาสัมปทานรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องไปเร่งพิจารณาต่อ แต่ควรเร่งจัดทำโมเดลราคาค่าโดยสารมาตรฐาน ให้ได้ข้อสรุป เพื่อไม่ให้มีปัญหาตามมา สำหรับรถไฟฟ้าที่จะเปิด หรือประมูลใหม่ ซึ่งเมื่อเกิดโครงข่ายมากขึ้น จะมีปัญหาเรื่องการเจรจาตามมา ทั้งปัญหาค่าแรกเข้า และการแบ่งปันรายได้ในแนวเส้นทาง หากผู้โดยสารเดินทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าหลายระบบ"
ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม มีการตั้งคณะทำงานฯ เพื่อศึกษาโครงสร้างราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมต่อประชาชน และสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงสามารถเข้ามาใช้บริการได้มากขึ้น
ส่วนเรื่องการขยายสัมปทานฯ ที่กระทบกับราคาค่าโดยสารนั้นย้ำว่า ในส่วนตัวและในฐานะคนกทม. เห็นว่า ในอนาคต จะมีการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งแน่นอน จะมีผู้สมัครหลายราย เสนอรูปแบบในการจัดการสัมปทานรถไฟฟ้าในเมือง และราคาค่าโดยสารที่เหมาะสม และหากผู้สมัครรายนั้น ชนะเลือกตั้ง ก็จะนำนโยบายที่หาเสียงไปสู่การปฏิบัติได้
ส่วนนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่าที่ ผ่านมาได้มีการหยิบยกปัญหาความไม่ชอบมาพากล ในการเตรียมขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียวล่วงหน้าถึง 8 ปี รวมอายุสัมปทานใหม่ ก็จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้า มีราคาแพงไปอีกเกือบ 40 ปี ซึ่งเรื่องนี้ ได้มีการอภิปรายในสภาฯ ไปแล้ว และล่าสุด ส.ส.พรรคเพื่อไทย 75 คนได้เข้าชื่อ เสนอเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเรื่องการต่อสัมปทานโดยไม่ดำเนินการตามกฎหมาย พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ แต่กลับไปใช้คำสั่ง คสช. ในการพิจารณาต่อสัมปทานให้เอกชน ซึ่งเรื่องนี้เห็นว่า หากมีการขยายสัมปทานไป ประชาชนจะเสียประโยชน์ใช้รถไฟฟ้าแพงไปอีกหลายสิบปี และไม่มีทางที่นโยบายค่าโดยสารราคาเดียวจะเกิดได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเสวนาฯ มีผู้สนใจเข้าฟัง และได้แสดงความเห็น ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าจริงในปัจจุบัน บางราย ระบุว่า ปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้า นี้สะท้อนความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน โดยผู้มีรายได้น้อย นอกจากไม่มีรายได้พอ จะซื้อที่อยู่อาศัยในเมืองแล้ว ต้องไปซื้อบ้านอยู่ชานเมือง ปริมณฑล เมื่อจะใช้บริการรถไฟฟ้า เดินทางเข้าเมือง ก็ซ้ำร้าย ค่าโดยสารก็แพง ไม่สามารถใช้บริการได้อีก