“ถาวร”ร้องคัดค้านศาลรธน.รับวินิจฉัยชี้ขาดปมหลุดคุณสมบัติส.ส. หลังนอนคุกคดีก่อม็อบ ยกข้อกฎหมายชี้โดนศาลสั่งขังมิชอบ-ขัดรธน. เมื่อวันที่ 22 เม.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายถาวร เสนเนียม อดีตรมช.คมนาคม และส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้มอบหมายตัวแทนไปยื่นคำร้องคัดค้าน ต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ศาลฯรับคำร้องของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดปมขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่ หรือไม่ โดยคำร้องคัดค้านของนายถาวร ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 4 มีเนื้อหาความยาวรวม 16 หน้า จำนวน 6 ข้อ โดยประเด็นหลักในข้อต่อสู้ดังกล่าวเรื่องการถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษ 2 วัน ซึ่งถือเป็นการขังชั่วคราว ระหว่างการพิจารณาให้ประกัน รวมถึงเป็นการสั่งขังในสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่อาจเข้าข่ายมิชอบ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคสี่ บัญญัติว่าศาลจะพิจารณาคดีก็ได้ แต่การจะพิจารณาคดี ต้องไม่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.และในวันที่ถูกสั่งขังมีการประชุมรัฐสภาวันที่ 24-25 ก.พ.2564 การที่ผู้ถูกร้องที่ 4 ต้องคำพิพากษาของศาลอาญาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่ระหว่างรอคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยหมายของศาลอาญา ซึ่งเป็นกระบวนการต่อเนื่องกัน เป็นเหตุให้ผู้ถูกร้องที่4ซึ่งมีสถานะส.ส.ถูกขัดขวางไม่สามารถเข้าร่วมประชุมรัฐสภาได้ จึงเป็นเหตุให้กระทบต่อการทำหน้าที่ส.ส.ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 125 จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ถูกร้องที่ 4 ต้องถูกคุมขังอยู่ระหว่างรอคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวตามที่กฎหมายบัญญัติ สมาชิกภาพของส.ส.จึงยังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 101 (6)ประกอบมาตรา 98(6) ตามที่ผู้ร้องขอให้ศาลวินิจฉัย ทั้งนี้ นายถาวร ให้สัมภาษณ์ว่า การยื่นคำร้องคัดค้าน ต่อศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เนื่องจาก ตนเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2556 ระบุว่าการที่ตนและกลุ่มประชาชนได้รวมตัวกันชุมนุมคัดค้านรัฐบาลในสมัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ออกกฎหมายลบล้างความผิดให้นายทักษิณ ชินวัตร และยังดำเนินการเกี่ยวกับการกู้เงินจำนวน 2 ล้านล้านบาท มาใช้ในนามรัฐบาลโดยที่ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้นั้น เป็นการใช้เสรีภาพ เป็นสิทธิของบุคคลในฐานะพลเมืองที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และเป็นการแสดงออกเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การที่ศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2564 ว่าการกระทำของพวกตนเป็นความผิด ข้อหาบุกรุกและยุยง ปลุกปั่น รวม 5 กระทงความผิด ให้จำคุก 5 ปีนั้น ตนจึงไม่เห็นด้วย และได้ยื่นขออุทธรณ์ ที่สำคัญ ในวันที่ไปฟังคำพิพากษานั้น เราได้รีบยื่นเรื่องขอประกันตัวเพื่อใช้สิทธิต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ แต่ปรากฏว่าศาลอาญาไม่มีการพิจารณาว่าจะสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้หรือไม่ กลับส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่ง ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ไม่ได้มีคำสั่งใดๆในคืนวันดังกล่าวด้วย ส่งผลให้พวกตนถูกนำตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร นายถาวร กล่าวอีกว่า ต่อมา วันที่ 25 ก.พ. กระบวนการทางราชการของศาลทำให้พวกตนถูกขังฟรีอีก 1 คืน แล้วมาอนุญาตให้ปล่อยตัวพวกตนเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา จากนั้น ทางสภาผู้แทนราษฎรได้ยื่นคำร้องต่อ กกต.เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าตนพ้นจากสมาชิกภาพของ ส.ส.แล้วหลังจากถูกขัง 2 วัน แต่ตนเห็นว่าการสั่งขังดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ขณะที่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคสี่ บัญญัติว่าในกรณีที่มีการฟ้องส.ส.หรือส.ว.ในคดีอาญา ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมก็ได้ แต่ต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุม ดังนั้น การที่ศาลไม่พิจารณาคำขออนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งที่เราได้รีบยื่นคำร้องภายในวันเดียวกับที่ศาลพิพากษานั้น จึงถือเป็นการขังที่มิชอบ และเป็นการขัดขวางการทำหน้าที่ของ ส.ส.ในการไปประชุมสภาฯ ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่อยู่เหนือกว่ากฎหมายอื่นๆ และกระบวนการพิจารณาของศาล เพราะฉะนั้น คุณสมบัติความเป็นส.ส.ของตนยังคงอยู่