“ชีวิตมันต้องเดินตามหาความฝัน หกล้มคลุกคลานเท่าไหร่ มันจะไปจบที่ตรงไหน แต่จะยังไงก็ต้องไปให้ถึงที่สุดถ้ามันจะไม่คุ้ม แต่มันก็ดีที่อย่างน้อยได้จดจำว่าครั้งนึงเคยก้าวไป แค่คนที่เชื่อในความฝัน จะเหน็ดจะเหนื่อยก็ยังต้องเดินต่อไป” เสียงเพลงความเชื่อ ของบอดี้ สแลม ที่ “ตี๋”สินทวีชัย หทัยรัตนกุล บอกกับ “ID-Talk” ว่าเป็นเพลงที่เขาฟังในช่วงเวลาหลังประกาศอำลาสนามหลังรับใช้ทีมชาติมาอย่างยาวนาน 14 ปี นายทวารคนดัง จากทีมสุพรรณบุรี เอฟซี จะมาพูดคุยถึงจุดเปลี่ยนจากศูนย์หน้า มาเป็นผู้รักษาประตู และเป้าหมายอีก 5 ปีข้างหน้าของเขา …... -นอกจากพี่ชายที่เป็นแรงบันดาลใจให้เล่นฟุตบอลแล้ว ในวงการฟุตบอลทั้งในและต่างประเทศมีใครที่เราชื่นชมและยึดเป็นแบบอย่างบ้างไหม มีหลายคนเลยครับ ต่างประเทศเราก็ดู ปีเตอร์ ชไมเคิล สุดยอดผู้รักษาประตูระดับตำนานของสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และทีมชาติเดนมาร์ก ล่าสุดก็ มานูเอล นอยเออร์ ผู้รักษาประตู สโมสนบาเยิร์นมิวนิค ทีมชาติเยอรมนี เพราะฟุตบอลสมัยใหม่มีการพัฒนาอยู่ตลอด หลังๆ เราได้ดูคลิปจากสื่อต่างๆก็สามารถเอามาประยุกต์ใช้กับตัวเราได้ -ชีวิตวัยเด็กมีแต่โลกของฟุตบอล ส่วนใหญ่คลุกคลีกับฟุตบอล ไม่มีช่วงวัยรุ่นเลย ตั้งแต่เด็กก็เล่นฟุตบอล พอมาจริงจังกับฟุตบอลตอนอายุ14 แล้วก็ไปอยู่โรงเรียนประจำ อยู่กับฟุตบอล อยู่กับเพื่อนฝูง อยู่กับทีมมาตลอด มันเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าลีคจะปิด หรือไม่มีการแข่งขัน แต่เราก็ยังดูฟุตบอล หรือไปเตะฟุตบอลเพื่อสุขภาพ และออกกำลังกายอยู่เรื่อยๆ เวลาว่างก็ยังใช้ไปกับฟุตบอล นัดเพื่อนเจอกันในวันหยุด พบปะสังสรรค์ก็ใช้ฟุตบอลนี่แหละ เรียกเพื่อนมาเตะบอล นัดเจอกัน เพราะเดี๋ยวนี้มีสนามหญ้าเทียมเยอะมาก นักเจอเพื่อนที่สะดวก หาสนามใกล้บ้าน -เคยเสียดายไหมว่าไม่ได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นเหมือนเด็กคนอื่น ถ้าเปรียบเทียบกับสิ่งที่ผมได้จากฟุตบอลมา วันนี้ ผมไม่เสียดายเลย ผมยอมเสีย -จริงๆ เคยเล่นตำแหน่งศูนย์หน้า แล้วค้นพบตัวเองได้อย่างไรจึงมาเป็นผู้รักษาประตู เป็นความบังเอิญมากกว่า พ่อผมมีทีมฟุตบอลอยู่ส่งให้เข้าร่วมการแข่งขันในแต่ละรายการที่จัดในจ. สกลนครทุกปี วันหนึ่งผมเล่นตำแหน่งศูนย์หน้า และรู้สึกว่าผู้รักษาประตูทีมผมทำได้ไม่ดีพอ ผมก็คิดว่าถ้าเป็นผม ผมทำได้แน่ลูกนี้ ผมต้องรับได้แน่ลูกนี้ ผมทำได้ดีกว่านี้แน่นอน ก็เลยบอกกับพ่อว่า ขอเปลี่ยนไปเล่นประตูเอง พอไปเล่นปุ๊บก็ติดใจในตำแหน่งนี้ ตอนนั้นมันเป็นความสนุก พอเปลี่ยนมาแล้วสนุกมาก ได้เซฟ ได้ทุ่ม เลยเปลี่ยนมาเล่นตำแหน่างนี้ -เพราะเคยเป็นศูนย์หน้า ทำให้เรารู้ถึงจุดอ่อนของศูนย์หน้าด้วยหรือเปล่า ก็มีส่วน การเล่นศูนย์หน้า เราจะรู้ว่าจะยิงมุมไหนให้ประตูรับยาก เห็นจุดอ่อนของประตู พอได้เปลี่ยนตำแหน่งมาเป็นผู้รักษาประตู มันก็ทำให้เรารู้อีกมุมมองหนึ่ง -เคยไปเล่นในลีคต่างประเทศกับสโมสรเปอร์ซิบ บันดุง ที่อินโดนีเซีย ที่อินโดนีเซีย ถือเป็นประสบการณ์ช่วงหนึ่งที่ได้ไป และคำว่า “นักฟุตบอลอาชีพ” สำหรับผมมันเริ่มต้นที่นั่น เพราะถึงจะเป็นลีคในระดับอาเซียน ไม่ใช่ยุโรป แต่คนดูต่อเกมๆหนึ่งของแต่ละทีม ตก 2 หมื่นคนขึ้นไป เขาฟีเวอร์กันมาก ถึงวันนี้เขาก็ยังเป็นอย่างนั้น ผมไปอินโดนีเซียเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ทีมเปอร์ซิบ บันดุง มีคนดู เฉลี่ยเกือบ 3 หมื่นต่อเกม ตอนนั้นในประเทศไทยคนดูทีมใหญ่แต่ละเกมไม่น่าจะเกิน 3 พัน แต่ของเขา 3 หมื่นซึ่งมันเป็นประสบการณ์ที่ดีของผม -จริงๆแล้วลีคในไทยก็เพิ่งมาบูมได้ไม่กี่ปี ฟุตบอลไทยลีคมาบูมจริงๆ คือเมื่อ3-4 ปีที่แล้วบูมมาก ทุกดิวิชัน แต่ละจังหวัดมีทีมของตัวเอง แฟนบอลเยอะมาก และรายได้ก็เยอะ บางคนเลิกเล่นไปแล้วเห็นรายได้สูง ก็กลับมาฟิตร่างกายเพื่อที่จะกลับมาเล่นอีกครั้งหนึ่ง แฟนบอลเข้ามาดู ขนาดทีมเล็กๆ คนดูก็เยอะ เป็นกระแสฟีเวอร์ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าไทยลีคมีคนดูเยอะ นักฟุตบอลก็อยากจะเล่น อยากจะพัฒนาตัวเอง เพื่อลงไปเล่นโชว์ต่อหน้าแฟนบอล และเพื่อมีผลงาน แลกกับรายได้สูงๆ สิ่งเหล่านี้ ทำให้นักฟุตบอลรู้จักรักษาร่างกาย และพัฒนาศักยภาพของตัวเองอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นคุณภาพของนักเตะก็จะดีขึ้นตามลำดับ และผลที่มันตอบรับกลับมาคือ ได้นักเตะที่มีคุณภาพ ทีมชาติก็เลือกใช้ได้ มากขึ้นกว่าแต่ก่อน -เคล็ดลับที่ทำให้มีวันนี้ หลักๆ ที่ผมเชื่อและทำมาตลอด คือการมีวินัย และการฝึกซ้อมอย่างหนัก ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นกุญแจ แห่งความสำเร็จ และเป็นกุญแจแห่งความมั่นคงของกีฬาทุกประเภท -มีวิธีการสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองอย่างไร ก็จะมีคำคม ข้อความปลุกใจต่างๆ เป็นพวกบทความสั้นๆ ก็มี หรือแม้กระทั่งบทเพลงที่เราฟังอยู่ทุกวันของศิลปินดังๆ หลายๆท่าน เราก็สามารถเอาเพลงมาฟัง เป็นทั้งกำลังใจ ทั้งสร้างแรงกระตุ้นก่อนลงแข่งขันควบคู่กันไป -ถ้าให้นึกถึงเพลงหลังประกาศอำลาทีมชาติ ผมโพสต์เลือกเพลงๆหนึ่งพร้อมรูปที่ผมเคยเล่นทีมชาติ คือเพลง “ความเชื่อ” ของพี่ตูน บอดี้สแลม เนื้อหาในหลายบรรทัดและตัวอักษร มันบ่งบอกความรู้สึกของเราได้ดี เพลงนี้มันโดนทั้งเพลง ตั้งแต่เริ่มต้นเลย โดยเฉพาะท่านฮุกที่วา “ชีวิตมันต้องเดินตามหาความฝัน หกล้มคลุกคลานเท่าไหร่ มันจะไปจบที่ตรงไหน แต่จะยังไงก็ต้องไปให้ถึงที่สุดถ้ามันจะไม่คุ้ม แต่มันก็ดีที่อย่างน้อยได้จดจำว่าครั้งนึงเคยก้าวไป แค่คนที่เชื่อในความฝัน จะเหน็ดจะเหนื่อยก็ยังต้องเดินต่อไป” -การติดทีมชาติมันคือความใฝ่ฝันของนักฟุตบอลทุกคน ผมเชื่อว่าอย่างนั้น ถ้าเล่นฟุตบอลการเล่นให้กับทีมชาติ มันสูงสุดกว่าการเล่นให้กับสโมสร ที่สุดของประเทศนั้นๆ แล้วจริงๆ -การติดทีมชาตินี่ถือว่ามาไกลพอสมควร ผมว่าผมมาไกลมาก มาไกลเกินที่ฝัน ฝันไว้ว่าแค่อยากติดทีมชาติชุดใดชุดหนึ่ง เยาวชนก็ดีใจแล้ว แต่นี่ติดชุดใหญ่และติดทีมชาติมาเรื่อยๆ จนมาถึงเดี๋ยวนี้ มันเป็นอะไรที่เกินฝัน -อีก5 ปีข้างหน้าของสินทวีชัย จะยังอยู่ในวงการฟุตบอลใช่ไหม ในอีก 5 ปี สำหรับผมในการเล่นฟุตบอลอาชีพอยู่ในระดับไทยลีค ตั้งเป้าไว้ที่ 5 ปี ถ้าไม่มีการบาดเจ็บที่รุนแรง และยังมีแรงบันดาลใจในการเล่น 2 อย่างนี้ถ้ามันยังมีอยู่ ก็ตั้งเป้าไว้จะเล่นในลีคสูงสุดให้ครบ หลังจากนั้นก็จะไปเรียนโค้ชชิ่งต่างๆ เพื่อมีไลเซ็นไว้บวกกับทำธุรกิจเล็กๆน้อยๆคอยเสริม แต่หลักๆคงยังอยู่กับงวงการฟุตบอลอยู่แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่เรารัก และอยู่มาทั้งชีวิต -โลกโซเชียล ปัจจุบันมีผลทั้งให้กำลังใจและเสียงตำหนิติเตียนต่างๆ ในฐานะที่ผ่านทีมชาติที่ผ่านมามีกระแสมากมาย รับมือกับกระแสในโซเชียลอย่างไรบ้าง อย่างแรกเลย เราเลือกได้ ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ สื่อโซเชียลจะค่อนข้างเร็วและค่อนข้างที่จะหนักหน่วงมาก ผมคิดว่า ถ้าเราเลือกเสพได้ เราก็ควรที่จะเลือก และที่สำคัญคือ เราควรแยกแยะให้ออกว่า “คำวิจารณ์” กับ “คำด่า” คุณค่ามันแตกต่างกัน คำวิจารณ์ ก็เหมือนกระจกที่คอยสะท้อน ให้เราดูตัวเองว่าเป็นอย่างไร่ ทำให้เราปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้มันดีขึ้น แต่ส่วนคำด่า เราก็เลือกที่จะไม่รับมัน ถ้าจะแนะนำ ผมแนะนำว่าเลือกที่จะไม่เสพดีกว่า ไม่อ่านคอมเมนต์ต่างๆ หรือเข้าไปดูในคอมเมนต์ที่มันรุนแรง ผมคิดว่ามันไม่มีประโยชน์ที่เราจะเข้าไป -เคอเจอไหมคอมเมนต์ที่อ่านแล้วแทบทรุดเลย เคยมี เพื่อนหวังดีส่งมาให้ แน่นอนว่าในวันที่เล่นดี มันก็มีคำชมเชยมามากมาย วันที่เล่นไม่ดี ก็มีคนว่า ผมว่า นักฟุตบอลส่วนใหญ่ก็รู้ว่า วันไหนเขาเล่นไม่ดี ยิ่งเขาเล่นในนามทีมชาติ มันแบกทุกอย่างไว้ เป็นตัวแทนของทีมชาติ นักวิจารณ์และความคาดหวังของคนดูทั้งประเทศมันง่ายต่อการพิมพ์ หรือมันง่ายต่อการพูดอะไรก็ได้ โดยที่ไม่คิดอะไรอยู่แล้ว แต่ว่าคำพูดบางคำ หรือหลายๆคำที่ส่งเข้ามา ผมว่านักฟุตบอลเขารับไม่ไหวหรอก ถ้าจะไปเสพสื่อ หรือไปอ่าน มันบั่นทอนมาก ถ้าเป็นไปได้ ผมเลือกที่จะแนะนำน้องๆว่าอย่าไปอ่านคอมเมนต์ มีเฟสบุ๊ก หรืออินสตาแกรมเพื่อเอาไว้ดูข่าว เสพสิ่งที่มันเป็นประโยชขน์ต่อเรา เช่น ดูคลิปวิดีโอที่มันช่วยพัฒนาทักษะของเรา ในส่วนตัวผมไม่อ่าน ไม่แนะนำเลย วันไหนเล่นดีแค่ไหน ก็ไม่ควรเข้าไปอ่าน อ่านไปก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเลย ผมผ่านการรับมือ ทั้งต่อหน้า และในสื่อโซเชียลมาแล้วในหลายๆ รูปแบบ การรับมือคำวิจารณ์และคำด่าทั้งหลายได้ดีที่สุด ก็คือการอยู่เฉยๆ และการไม่เข้าไปอ่าน มีหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด สิ่งสำคัญคือกำลังใจจากคนรอบข้าง ครอบครัว คนรัก และเพื่อนที่ดี ต้องเป็นกระจกที่ดีด้วย ถ้าเล่นไม่ดี ต้องแนะนำกันว่าวันนี้ไม่ดีตรงไหน ต้องแก้ไขนะ จบ ไม่ต้องมาอวยกัน ไม่ใช่เล่นไม่ดี ก็ยังบอกว่าดีแล้ว ฉะนั้น กำลังใจจากคนรอบข้าง ครอบครัว ต้องเป็นกระจกที่ดีด้วย และที่สำคัญเลย ไม่จำเป็นต้องเข้าไปอ่าน ID-Talk /เรื่อง : จินตนา จันทร์ไพบูลย์ /ขอบคุณภาพ จาก IG sinthaweechai/ninsiri