เมื่อวันที่ 22 เม.ย. นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการประกาศเชิญชวนผู้สนใจให้เข้าร่วมประมูลยางแผ่นรมควันอัดก้อนยางแท่ง STR 20 และยางอื่นๆ จำนวน 104,763.35 ตัน ของโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง นั้น ขณะนี้ได้ทราบผลการประมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทที่ประมูลได้คือ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) โดยมีเงื่อนไขในการประมูลว่าจะต้องรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอีก 1 แสนตันและรับมอบยางในสต็อกให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค. "เหตุผลที่ กยท.เลือกบริหารระบายสต๊อกยางในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นช่วงปิดกรีด ก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาด ทำให้ปริมาณยางในตลาดมีน้อย อีกทั้งยางในสต๊อกนี้เป็นยางที่เสื่อมสภาพ การนำยางเหล่านี้ไปใช้จึงต่างจากยางใหม่ที่มีอยู่ในตลาด ดังนั้นการระบายยางในสต๊อกออกมาช่วงนี้จึงไม่กระทบต่อตลาดยางปกติ พร้อมกันนี้ยังมีข้อกำหนดให้ผู้ที่ซื้อยางล็อตนี้ไปจะต้องซื้อยางใหม่ของเกษตรกรชาวสวนยางในปริมาณที่เท่ากันอีกด้วย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับประโยชน์ ไม่มีปัจจัยกดดันในเรื่องราคายาง และที่สำคัญยังเป็นการช่วยลดภาระและค่าใช้จ่ายของภาครัฐอีกด้วย"ผู้ว่าการ กยท. กล่าว ทั้งนี้ การระบายยางในครั้งนี้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 เห็นชอบให้ กยท. ดำเนินการระบายสต๊อกยางในโครงการดังกล่าวให้หมดไปโดยเร็ว โดยให้คำนึงถึงระยะเวลา และราคาจำหน่ายที่เหมาะสม ซึ่งยางจำนวน 1.04 แสนตัน เป็นยางจาก 2 โครงการของรัฐบาล ในช่วงปี 2553-2557 ที่ผ่านมา มีภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารยางทั้ง 2 โครงการ มูลค่า 3,822.054 ล้านบาท และเพื่อให้เกิดความโปรงใส่ ทาง กยท. ได้มีการตั้งคณะกรรมการบริหารสต๊อกยางเพื่อดำเนินการตรวจสอบปริมาณยาง กำหนดหลักเกณฑ์การปรับลดคุณภาพยาง และการตรวจสอบคุณภาพยางเป็นประจำ เพื่อให้ทราบถึงคุณภาพยางที่มีอยู่ รวมถึงได้ว่าจ้างบริษัทผู้ประเมินอิสระ ทำการตรวจสอบคุณภาพยาง พร้อมประเมินมูลค่าสต๊อกยางเพื่อให้การระบายสต๊อกยางในครั้งนี้เป็นไปอย่างเหมาะสมและโปร่งใสที่สุด นายณกรณ์ กล่าวว่า การกำหนดทีโออาร์ และคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ได้ดำเนินการอย่างรัดกุม เพราะไม่อยากให้มีปัญหาซ้ำรอยเหมือนในปี 60 ที่มีผู้เข้าร่วมประมูลเป็นจำนวนมากแต่เมื่อถึงเวลากลับทิ้งประมูลจนทำให้เกิดการตกค้างของยางล๊อตนี้ ดังนั้นทาง กยท. จึงต้องมีการระบุคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรและราคายาง โดย ผู้ที่ชนะประมูลจะต้องซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอีก 1 เท่าของปริมาณยางที่ประมูลได้ ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มยอดสั่งซื้ออีกกว่า 1 แสนตันภายใน 1 ปี นับจากวันที่ลงนามในสัญญา และ ทางบริษัทฯจะเริ่มทำการขนยางในสต๊อกตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน และจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงตั้งแต่ก่อนที่ผลผลิตใหม่จะออกสู่ตลาด "ปัญหาการระบายยางในสต็อกเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ต่อเกษตรกรสวนยางพารา เวลาที่มีข่าวว่า จะมีการระบายยางพารา ก็จะเกิดกระแสคัดค้าน เพราะเกรงว่า จะทำให้ยางราคาตก ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ประกอบการที่รับซื้อยางรายใหญ่ๆ มักจะเอามาเป็นข้ออ้างในการกดราคารับซื้อยางพารา ทั้งๆ ที่ยางพาราในสต็อกเป็นยางเก่าที่เสื่อมสภาพ มีอายุ 8-9 ปี ไม่กระทบกับยางใหม่ ต่อไปนี้ เมื่อระบายยางเก่าในสต๊อกหมดไป ปัจจัยกดดันในเรื่องราคายางก็จะหายไปด้วย"นายณกรณ์ กล่าว