อาการนอนกรน เป็นปัญหาต่อ ตัวผู้กรน และคู่นอน ทำให้การนอนหลับไม่เพียงพอ และไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ง่วงหลับในเวลากลางวันมีผลต่อการทำงาน การเกิดอุบัติเหตุในขณะขับรถและที่สำคัญอาจทำให้เกิด ภาวะ หยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea ) สาเหตุ อาจเนื่องมาจาก ทางเดินหายใจที่แคบ เช่น ภูมิแพ้จมูกเยื่อบุจมูกบวม ทอนซิลโต โดยเฉพาะในคนอ้วน ซึ่งจะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณคอ และทรวงอกหนาตัวขึ้น ทำให้อากาศเข้าปอดได้ยาก ทำให้ออกซิเจน ในร่างกายไม่เพียงพอ มีผลต่อสุขภาพ ทั้งด้านระบบประสาท และสมอง หัวใจและหลอดเลือด จากกรณีที่มีเรื่องแชร์ส่งต่อกันบนโลกโซเชียลอย่างมากมายถึงสูตรน้ำสมุนไพร หรือเครื่องดื่มที่ช่วยรักษาอาการนอนกรนได้ ส่วนประกอบคือ มะนาว ขิง แอปเปิ้ล และแครอท นำมาคั้นหรือปั่นรวมกัน แล้วดื่มก่อนนอนทุกวันนั้น วันนี้ทีมไขประเด็นได้นำข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขมาเพื่อให้ทราบถึงวิธีการรักษาการนอนกรนนั้นที่จริงควรรักษาอย่างไร ซึ่งแท้จริงแล้วการรักษาอาการนอนกรนนั้น จะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ การรักษาโดยการผ่าตัด และการรักษาแบบไม่ผ่าตัด ในการรักษาแบบไม่ผ่าตัดนั้น สามารถปรับพฤติกรรม และการปฏิบัติตัวง่ายๆ คือ 1.การลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร และออกกำลังกายสม่ำเสมอ 2.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วง 4 ชั่วโมง ก่อนนอน เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้การนอนหลับแย่ลง และกดการหายใจ 3.หลีกเลี่ยงยาชนิดที่ทำให้ง่วง เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาแก้แพ้ชนิดง่วง 4.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือสัมผัสควันบุหรี่ ในช่วง 4-6 ชั่วโมง ก่อนนอน 5.นอนศีรษะสูงเล็กน้อย ประมาณ 30 องศาจากแนวพื้นราบ และพยายามนอนตะแคง เพราะอาการจะน้อยกว่านอนหงาย 6.ใช้ยาสเตียรอยด์ พ่นจมูก วันละ 1 ครั้งก่อนนอน 7.การใช้เครื่องเป่าลมในทางเดินหายใจส่วนบน (CPAP) 8.การใช้เครื่องมือทางทันตกรรม (Oral appliance) ซึ่งอุปกรณ์แบ่งเป็น เครื่องช่วยจัดตำแหน่งของขากรรไกรล่าง และเครื่องมือปรับตำแหน่งลิ้นให้ยื่นมาด้านหน้า เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็ไม่ควรหลงเชื่อการแชร์ที่ผิดๆ และรีบรักษาอาการนอนกรน เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่รบกวนคุณภาพชีวิตทั้งตนเอง และคนรอบข้างอย่างมาก