ยืนยันมีเตียงเพียงพอ ปัจจุบันมี 9,317 เตียง จากเดิมที่เคยมี 6-7 พันเตียง มีการครองเตียง 6,294 เตียง และยังว่างอยู่ 3,023 เตียง แต่ก็ยอมรับว่า มีประชาชนประสานมาแต่ยังเกิดปัญหาอยู่จริง เพราะบางรายไปตรวจแล็บไม่มีการประสานงานสั่งแก้ปัญหาแล้ว
19 เม.ย.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ รศ.นพ. สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันการแพทย์แห่งประเทศไทย(UHOSNET) นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ร่วมแถลงความพร้อมในการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด-19
โดย นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่มีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดคำถามถึงประเด็นการจัดหาเตียง รวมถึงมีหลายท่านตรวจโควิดในแล็บเอกชน ผลเป็นบวกแต่แล็บไม่มีรพ.ส่งต่อ หรือแม้แต่ปัญหา รพ.เอกชนบางแห่ง ระบุว่าเตียงไม่มี ไม่ขยายเตียง ในเรื่องนี้ขอย้ำว่า แนวทางการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด ทุกรายต้องได้รับการดูแลของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หากระหว่างรอ เราจะมีคนโทรเยี่ยม โทรสอบถาม นอกจากนี้ โรงพยาบาล แล็บเอกชน ที่ตรวจพบโควิด ต้องประสานการดำเนินการในเครือข่ายเพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกราย ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) เข้าดำเนินการแก้ไข ส่วนกรณีการตรวจเชิงรุก (Active cases finding : ACF) ที่มีระดับความรุนแรงสีเขียว คือ ไม่มีอาการ อาการน้อย มอบหมายให้ กทม.รับเข้าไว้ในรพ.สนาม เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่มีผลยืนยันจากแล็บหรือจากที่ไหนก็ตาม หากความรุนแรงสีเขียวจะรับไว้ในรพ.สนามและHospitel แต่หากความรุนแรงระดับสีเหลือง หรือสีแดง ต้องรับไว้ในรพ. อีกทั้ง ให้รพ.ทุกสังกัดสำรองไอซียู โดยกรมการแพทย์เป็นหน่วยบริหารจัดการร่วมกับทางโรงเรียนแพทย์ เนื่องจากต้องเตรียมพร้อม เพราะคาดการณ์ว่า ผู้ป่วยที่เกิดขึ้นมากและในสัปดาห์นี้อาจมีบางส่วนเป็นผู้ป่วยหนักต้องมีห้องไอซียูรองรับ ยืนยันว่าขณะนี้เรามีเตียงเพียงพอ จำนวน 9,317 เตียง จากเดิมที่เคยมี 6-7 พันเตียง มีการครองเตียง 6,294 เตียง และยังว่างอยู่ 3,023 เตียง แต่ก็ยอมรับว่า มีประชาชนประสานมาแต่ยังเกิดปัญหาอยู่จริง เพราะบางรายไปตรวจแล็บ
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อมีการประสานเตียงได้แล้วจะพบปัญหาไม่มีรถรับผู้ติดเชื้อส่งโรงพยาบาลนั้น ขณะนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ไปหาทางเพิ่มรถนำส่งที่สามารถแบ่งคนไข้เป็นตอนหน้า และตอนหลังได้ มาช่วยจัดการ ขณะนี้ได้แล้ว 50 คันจาก 3 บริษัทในระยะแรกพื้นที่กทม. จากนั้นจะเพิ่มเป็น 100 คันทั่วประเทศ ซึ่งก็จะมีการนำส่งผู้ป่วยเป็นเวร โดยกรณีนี้จะอยู่ในความดูแลของ 1669 ศูนย์เอราวัณ สำหรับกรณีให้ผู้ป่วยโควิดแยกตัวอยู่ที่บ้าน หรือที่เรียกว่า Home Isolation ก็จะมีการเตรียมระบบต่างๆไว้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีการใช้แนวทางดังกล่าว อย่างไรก็ตามขอย้ำว่าผู้ติดเชื้อสามารถประสานงานเรื่องเตียงผ่านสายด่วน 1669 (ศูนย์เอราวัณ เป็นหลักในการจัดหาเตียงในกทม. ส่วน 1668 สายด่วนกรมการแพทย์(เฉพาะกิจ) รับสาย 08.00-22.00 น. ทุกวัน โทรเยี่ยมผู้ติดเชื้อช่วยประสานเตียง และ 1330 สายด่วน สปสช. (รับสายตลอด 24 ชั่วโมง) ประสานจัดหาเตียง หรือหากติดต่อไม่ได้ เพราะสายเยอะมาก ให้ติดต่อไลน์ "สายดีบอต
ด้านนพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.มีเตียงสามารถรองรับผู้ป่วยโควิดขณะนี้ประมาณ 2,756 เตียง และจะขยายต่อไปอีกรวม 2,926 เตียง ทั้งนี้กทม.ทำการค้นหาเชิงรุก 100-140 ราย โดยเมื่อวาน 18 เม.ย. จำนวน 135 ราย และวันนี้ 99 ราย ส่วนผู้ป่วยมีโรงพยาบาลสนามจากการรับเคสค้นหาเชิงรุก คือ โรงพยาบาลสนามพระมงกุฏเกล้า 86 เตียง โรงพยาบาลสนามชั่วคราวของตม. 200 เตียง โรงพยาบาลเอราวัณ 1 (ศูนย์กีฬาฯบางบอน) และโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ 450 เตียง รพ.ราชพิพัฒน์ 200 เตียง และไม่รวมกับโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน อีก 500 เตียง ซึ่งตอนนี้เหลือ 381 เตียง และจะเปิดเพิ่มที่หน่วยทหารบกอีก 200 เตียง ในวันพรุ่งนี้