องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานดัชนีราคาอาหารของ (The FAO Food Price Index : FFPI) เดือนมีนาคม 2564 เฉลี่ย 118.5 จุด สูงกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2.4 จุด หรือสูงขึ้น 2.1% เป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 สู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 7 ปี นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 การเพิ่มขึ้นดังกล่าวนำโดยดัชนีย่อยน้ำมันพืช เนื้อสัตว์ และนม ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ธัญพืชและน้ำตาลดัชนีราคาลดลง ดัชนีราคาเนื้อสัตว์ของ FAO ในเดือนมีนาคม ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 98.9 จุด เพิ่มขึ้น 2.2 จุด จากเดือนกุมภาพันธ์ หรือเพิ่มขึ้น 2.3% ซึ่งเป็นแนวโน้มราคาที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน โดยเฉพาะราคาสัตว์ปีกและเนื้อสุกรที่เพิ่มขึ้นได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการนำเข้าของประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศจีน ขณะเดียวกันในฝั่งยุโรป ราคาเนื้อสุกรภายในประเทศเพิ่มขึ้น จากการเฉลิมฉลองในเทศกาลอีสเตอร์ที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียและอาเซียน ราคาเนื้อสุกรแทบทุกประเทศดีดตัวขึ้นไปหลายเท่าตัว จากการที่ต้องเผชิญปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ส่งผลให้ผลผลิตสุกรเสียหายอย่างมาก ทำให้ปริมาณสุกรไม่เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ ยกตัวอย่างเช่น สุกรมีชีวิตของประเทศจีนราคาสูงถึง 132 บาทต่อกิโลกรัม เวียดนามราคา 103 บาทต่อกิโลกรัม กัมพูชาราคา 108 บาทต่อกิโลกรัม และเมียนมาราคา 88 บาทต่อกิโลกรัม ไทยยังคงสถานะ “สุกรราคาถูกที่สุดในอาเซียน” ด้วยราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม 79-80 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งๆที่ไทยนั้นถือว่ามียุทธศาสตร์การป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ASF ที่เข้มแข็งที่สุด กระทั่งกลายเป็น “ประเทศเดียวที่ปลอดจาก ASF” ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นับจากพบโรคครั้งแรกในประเทศจีน ความโดดเด่นดังกล่าวนี้ ทำให้ทุกประเทศข้างต้น ต้องการนำเข้าสุกรมีชีวิตรวมถึงเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์จากไทย เพื่อไปทดแทนความต้องการของประชาชน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศต่างๆ เชื่อมั่นในคุณภาพสุกรไทยและมั่นใจว่าไทยปลอด ASF คือการที่ยังสามารถผลิตสุกรได้เพียงพอกับการบริโภคทำให้คนไทยไม่เคยขาดแคลน และยังสามารถส่งออกสุกรนำเงินตราเข้าประเทศได้ โดยปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งออกสุกรไปถึง 2 ล้านตัว สร้างมูลค่าสูงว่า 13,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นถึง 344.30% ยังมีผลิตภัณฑ์จากสุกรอีกกว่า 43,000 ล้านตัน มีมูลค่าถึง 5,100 ล้านบาท ไทยจึงเป็นที่ยอมรับว่าปลอดจากโรคร้ายในสุกรและเป็นแถวหน้าที่สามารถเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคได้อย่างแท้จริง ความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาเนื้อสัตว์ของโลกดีดตัวขึ้น ไทยก็ไม่ต่างกันปริมาณความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่เกษตรกรยังต้องคงราคาขายสุกรหน้าฟาร์มไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อดูแลค่าครองชีพคนไทย แม้ว่าเกษตรกรจะต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้นเกินกว่า 77.49 บาทต่อกิโลกรัม ตามที่ สศก. ได้ประมาณการณ์ไว้ เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดส่งผลกระทบกับการเลี้ยงสุกร ทำให้อัตราเสียหายฝูงสัตว์เพิ่มขึ้น ขณะที่ภัยแล้งเริ่มลุกลามเกษตรกรหลายพื้นที่กำลังขาดแคลนน้ำ จนต้องซื้อน้ำมาใช้กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ยังไม่นับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับขึ้นทั้งราคากากถั่วเหลือง มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และรำข้าว รวมทั้งปัญหาโรคที่มากับหน้าร้อนอย่าง PRRS วันนี้สิ่งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงควรได้รับคือ การปล่อยให้ราคาสุกรสอดคล้องกับดัชนีราคาอาหารโลก เพื่อต่อลมหายใจให้กับพวกเขา และสถานการณ์เช่นนี้ควรจะเป็นโอกาสของสินค้าเกษตรปศุสัตว์ไทย โดย : บรรจบ สุขชาวไทย นักวิชาการอิสระ : [email protected]