ลามหนัก! ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ภายในประเทศพุ่ง 1,543 ราย ยอดสะสมกว่า 3.7 หมื่นราย "นายกฯ"กังวลตัวเลขติดเชื้อพุ่งไม่หยุด เรียกถก"ศบค.ชุดใหญ่"วันนี้ จ่อออก"มาตรการ-คำสั่ง"ยกระดับคุมเข้ม "วิษณุ"รับ"หมอ-แพทย์"หนุนใช้ยาแรงสกัดโควิด คาดที่ประชุม"ศบค."ใช้มาตรการยกระดับพื้นที่สี บางจังหวัดอาจประกาศเคอร์ฟิวส์ กังวลระบาดระลอกใหม่ขยายวงกว้างกว่าเดิม ขณะที่"รัฐบาล"แจงวัคซีนที่ไทยใช้มีประสิทธิภาพ-การบริหารจัดการเตียงเพียงพอ พร้อมเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อหลังวันหยุดยาวสงกรานต์ ขณะที่”ผบ.ทบ.” สั่งตั้ง“รพ.สนามกองทัพบก”รับผู้ป่วยโควิด เมื่อวันที่ 15 เม.ย.64 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,543 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,161 ราย และจากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 379 ราย ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 3 ราย และเสียชีวิตไม่มี ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 37,453 ราย ผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 28,383 ราย ส่วนยอดเสียชีวิตสะสมคงที่ 97 ราย วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ช่วงเดือนเมษายน ทำให้มีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งขณะนี้ประชาชนเริ่มทยอยเดินทางกลับจากภูมิลำเนาหลังเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีความกังวลจะเกิดการแพร่ระบาดต่อเนื่อง จึงได้มีการพูดคุยและหารือกับกระทรวงสาธารณสุข และศบค.เตรียมกำหนดมาตรการเข้มงวดและประกาศใช้โดยเร่งด่วน ทั้งนี้ ในเวลา 13.30 น. วันที่ 16 เม.ย.64 พล.อ.ประยุทธ์ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 5/2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล สำหรับการประชุมวาระแรกเป็นการรับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 4/2564 จากนั้นศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ และที่น่าจับตา คือ ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอการยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-19 ในการระบาดระลอกเดือน เม.ย.2564 และแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เตรียมออกประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง อาทิ การประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 11), ประกาศ เรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังคงมีผลใช้บังคับ, การประกาศ เรื่อง การให้ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังคงมีผลใช้บังคับ นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ 4/2564 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในช่วงท้าย การประชุมกองบัญชาการกองทัพไทย เสนอแนะแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตามแนวชายแดน ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังสามารถที่จะควบคุมการแพร่ระบาดติดเชื้อโควิด-19 ได้ โดยเฉพาะในช่วงนี้แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นหลักพันคนก็ตาม เนื่องจากที่ผ่านมาเคยใช้มาแล้ว อีกทั้งไม่ใช่แค่การประกาศใช้กฎหมาย หรือบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียว แต่มีการออกข้อกำหนด สั่งห้าม เพิ่มเติมด้วยซึ่งต้องรอผลการประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดใหญ่ก่อน พร้อมเห็นว่าบางจังหวัดมีความเป็นไปได้ที่จะประกาศเคอฟิวส์ ซึ่งส่วนตัวยังไม่กล้าเปิดเผย ต้องรอที่ประชุม ศบค. ก่อน ว่าจะมีการเสนอในประเด็นนี้หรือไม่ แต่ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่ายังไม่เห็นความจำเป็นเท่าไร การใช้มาตรการยกระดับพื้นที่สีต่างๆ ยังเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ในขณะนี้ แต่ยอมรับว่า ฝ่ายแพทย์และสาธารณสุข รายงานมายังรัฐบาลให้ใช้มาตรการที่เข้มแข็ง รุนแรง และเด็ดขาด แต่ทางทางฝ่ายเศรษฐกิจขอประเมินผลกระทบ โดยเฉพาะช่วงหลังสงกรานต์ 1-2 วันนี้ว่าจะมีความสัมพันธ์กับมาตรการที่จะบังคับใช้ใหม่อย่างไร และจะออกมาในแนวทางพบกันครึ่งทาง คือ การใช้วิธีเพิ่มสีให้เข้มขึ้น โดยบางพื้นที่อาจจะต้องยกระดับจากพื้นที่สีส้ม เป็นพื้นที่สีแดง เป็นต้น ขณะเดียวกัน นายวิษณุ ยอมรับมีความกังวล กับการระบาดครั้งนี้ เพราะจุดเริ่มต้นที่ทองหล่อ มีการเดินทางที่ขยายและกว้างไกลออกไป ไม่เหมือนที่ผ่านมา ที่เชื้อติดในพื้นที่กับผู้ใช้แรงงาน ซึ่งไม่มีการเดินทางที่ขยายออกไป แต่เวลานี้เป็นเรื่องของคนมีเงิน ไฮโซ ทำให้มีไทม์ไลน์ในการเดินทางในหลายพื้นที่ ส่วนจะกระทบต่อแผนการเปิดประเทศในวันที่ 1 ก.ค. นี้หรือไม่นั้น ขอให้รอดูการประชุม ศบค. ในวันพรุ่งนี้ และยังเห็นว่า การระบาดของโควิดครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการประชุมสภา ที่จะพิจารณากฎหมายสำคัญเพราะสภายังต้องเปิดทำงาน ตามพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมสามัญตามปกติ ในวันที่ 22 พ.ค. นี้ ซึ่งก็จะมีการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ และ พรบ.ประชามติ ตามลำดับโดยการพิจารณากฎหมายทุกอย่างยังเดินตามปกติ และยังอยู่ในกรอบเวลา อย่างไรก็ตาม ยังฝากถึงประชาชนต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ อีกครั้ง ซึ่งหากทุกคนร่วมมือเช่นนี้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมาออกข้อกำหนดมาบังคับใช้ พร้อมขอประชาชนอย่ากังวล หรือไม่มั่นใจกับโรงพยาบาลสนาม เพราะถือเป็นการเตรียมการณ์ไว้รองรับในอนาคต ซึ่งหากจำเป็นก็ต้องใช้ เพราะทั่วโลกก็ใช้กันแบบนี้ ทั้งนี้ นายวิษณุ ยังเปิดเผยว่า ตนเองครบกำหนดในการกักตัว 14 วันในวันจันทร์ที่ 19 เม.ย.นี้ และจะเริ่มทำงานในวันประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) คือ วันอังคารที่ 20 เม.ย. ซึ่งจากการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง ก็ไม่พบติดโควิด 19 และทราบว่าคนที่เข้าร่วมประชุมกับ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีศึกษาธิการ ก็ไม่มีใครติดเชื้อแต่อย่างใด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มไลน์ผู้สื่อข่าวทำเนียบฯ รัฐบาล ได้ส่งข้อความชี้แจงการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล ว่า กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันวัคซีนโควิดที่ไทยใช้มีประสิทธิภาพสูง และความปลอดภัย ประชาชนสามารถฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันและเพิ่มภูมิคุ้มกันของตัวเองได้ ข้อมูลทางระบาดวิทยาและข้อมูลทางวิชาการยืนยันว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ไทยนำมาใช้ในทั้งแอสตราเซเนกา และซิโนแวค เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ มีการฉีดวัคซีนสะสมรวม 579,305 โดสหรือเข็ม มีผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 505,744 คน ในทุกจังหวัดตามเป้าหมายและกำหนดเวลา ขณะนี้ยังมีการจัดหาวัคซีนซิโนแวคอีก 1 ล้านโดสซึ่งอยู่ในประเทศไทยแล้ว รอการตรวจทางห้องปฏิบัติการและเอกสาร จะมีการส่งมอบให้กรมควบคุมโรคต่อไป ในระยะถัดไปจะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะบุคลากรด่านหน้าให้ได้ 100% สำหรับวัคซีนหลักที่จะมาถึงไทยในเดือนมิถุนายน ประมาณเดือนละ 6 - 10 ล้านโดส สามารถจะฉีดให้กับประชาชนได้อย่างครบถ้วน รัฐบาลให้การรับรองโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่ขณะนี้มีความปลอดภัย มีจำนวนแพทย์และพยาบาลตามมาตรฐานที่วางไว้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีประสบการณ์การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามตั้งแต่การระบาดระลอกแรก รวมทั้งเตรียมพร้อมโรงพยาบาลสนามตามต่างจัดหวัดไว้แล้ว สำหรับ Hospitel ซึ่งเป็นการจัดบริการในโรงแรม กรมสนับสนุนบริการทางการแพทย์จะเข้าไปรับรองมาตรฐาน เช่นเดียวกับสถานกักกันของรัฐ (SQ/ ASQ) ซึ่งมีการตรวจ ประเมิน และติดตามสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการติดตามผู้ที่เดินทางกลับจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ด้วย ขณะที่ พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก มีความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในพื้นที่ต่างๆได้ติดตามและกำชับให้ทุกหน่วยทหารดำรงความช่วยเหลือส่วนราชการต่างๆ ให้การสนับสนุนสิ่งอุปกรณ์ต่างๆที่จำเป็นต่อการรักษาพยาบาลอาทิ เตียงนอน ที่นอน โดยเฉพาะการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามและการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในพื้นที่ต่างๆตามที่ได้รับการประสานจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กองทัพบก และ กรมแพทย์ทหารบก จัดตั้ง "โรงพยาบาลสนามกองทัพบก"ในพื้นที่ค่ายทหารหรือสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อดูแลรองรับประชาชน กำลังพลและครอบครัวที่ติดเชื้อและมีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ รวมทั้งผู้ที่ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลมาและอาการทุเลาลงแล้ว เพื่อเป็นการลดภาระด้านการรักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลสาธารณสุขในจังหวัดต่างๆ ล่าสุดโรงพยาบาลสนามกองทัพบกได้จัดตั้งแล้ว 2 แห่ง คือ 1. โรงพยาบาลสนามกองทัพบก(ค่ายธนะรัชต์) จ.ประจวบคีรีขันธ์ดำเนินการโดยศูนย์การทหารราบ และโรงพยาบาลค่ายธนะรัชต์ สามารถรองรับผู้ป่วย 69 เตียง ซึ่งเป็นการส่งต่อการรักษาพยาบาล จากโรงพยาบาลหัวหิน หรือโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อจาก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สำหรับแห่งที่ 2 คือโรงพยาบาลสนามกองทัพบก(เกียกกาย) กรุงเทพมหานคร โดยได้ดำเนินการปรับ อาคารรับรองเกียกกาย เขตดุสิต เป็นโรงพยาบาลสนาม ดำเนินการโดยกรมสวัสดิการทหารบก และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รองรับได้ 86 เตียง เป็นผู้ติดเชื้อที่อาการไม่หนัก ที่ส่งมาจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อสำรองเตียงในโรงพยาบาลไว้รองรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักต่อไป ขณะเดียวกัน นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงแผนรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ว่า กรมฯ ได้เดินหน้า 6 มาตรการหลัก เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า ช่วยบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการ และเป็นการปฏิบัติตามนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม รวมทั้งลดความเสี่ยง ความแออัด และความจำเป็นในการเดินทางมายังกรมฯ โดยได้ใช้ประโยชน์จากระบบการให้บริการแบบดิจิทัลที่กรมฯ มีอยู่ และยังเป็นบริการที่อยู่ภายใต้ 85 รายการของบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวของกระทรวงพาณิชย์ (MOC Online One Stop Service) ที่เป็นการดำเนินการตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สำหรับทั้ง 6 มาตรการ ได้แก่ 1.ขยายเวลาวันหมดอายุสำหรับบัตรประจำตัวผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้าและบัตรประจำตัวผู้รับมอบอำนาจ ที่จะหมดอายุในช่วงระหว่างวันที่ 15 เม.ย.-31 ก.ค.2564 ออกไปอีก 3 เดือน โดยอัตโนมัติ 2.อนุญาตให้ผู้ประกอบการส่งคำขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้าที่มีมาตรการควบคุมการส่งออก-นำเข้าผ่านทางไปรษณีย์ พร้อมสามารถตรวจสอบผลการพิจารณาและเลขทะเบียนผ่านระบบลงทะเบียนผู้ประกอบการออนไลน์ของกรมฯ (Registration Database) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 3.เชิญชวนให้ผู้ประกอบการเลือกใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) หรือการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (ASEAN Wide Self Certification: AWSC) สำหรับการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนแทนการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบกระดาษ 4.ผลักดันให้ผู้ประกอบการใช้ระบบการลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (ESS) ซึ่งสะดวกและรวดเร็ว เพื่อลดการสัมผัสกระดาษและลดระยะเวลาที่ใช้ในการรับบริการ ทั้งนี้ สำหรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทั่วไป (C/O ทั่วไป) ให้ผู้ประกอบการประสานผู้นำเข้าปลายทางเพื่อยกเ