พปชร.ร้าวหนัก! “บิ๊กป้อม”สั่งสอบปมนักการเมือง “ส.”ส่งคนสอบป.เอกแทน “สมศักดิ์”เชื่อเกมการเมือง ดิสเครดิตเลือกกก.บห.พรรค รับมีผู้ช่วยรมว.ยธ.เรียนหลักสูตรนี้ ภท.พร้อมเลือกตั้งหากมียุบสภา แม้กติกาเดิม ด้านปชป.เปิดร่างแรกรธน.แก้4มาตรา เกี่ยวกับสิทธิ-ประโยชน์ประชาชน จากกรณีทีมีกระแสข่าวนักการเมือง ส. สังกัดกระทรวงยุติธรรม เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ส่งคนไปสอบแทนในหลักสูตรภาษาอังกฤษ ระดับปริญญาเอก ของสถาบันแห่งหนึ่งนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 เม.ย.64 น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส. กทม. ในฐานะโฆษกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพปชร.ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยมีคณะกรรมการฯ 3 ท่าน คือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ และนายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ เพื่อดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและให้กลับมารายงานผลภายใน 14 วัน เพราะถือว่าเป็นเรื่องของจริยธรรม และกระทบต่อภาพลักษณ์พรรค ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวยืนยันว่า ไม่ใช่นักการเมือง “ส.” ที่ถูกกล่าวหา ตนไม่เคยเรียนปริญญาเอกและไม่ได้ติดต่อประสานกับบุคคลากรของมหาวิทยาลัยดังกล่าว แต่สื่อบางสำนักนำรูปตนไปนำเสนอข่าว อยากขอร้องให้ตรวจสอบข้อมูลต่างๆให้ชัดเจนก่อน อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า นายสามารถ เจนชัยจิตย์วาณิชย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ไปเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษนี้โดยนายสามารถจะออกมาชี้แจงด้วยตนเอง ทั้งนี้จากการทำงานร่วมกับนายสามารถ ดูพื้นฐานเป็นคนที่ภาษาอังกฤษดี ทำให้เรื่องการส่งคนไปสอบแทนก็น่าคิดอยู่ การที่เอาข่าวออกมาในช่วงนี้อาจจะทำให้เกิดผลกระทบเกี่ยวกับการเลือกกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ เพราะกำลังจะมีการประชุมพรรคในอีกไม่นานนี้ ส่วนกรณีที่นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ออกมาวิเคราะห์ว่ารัฐบาลกำลังถูกปัญหารุมเร้า พรรคร่วมรัฐบาลเริ่มถอยห่างเตรียมตีจาก อาจเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองยุบสภาในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้านั้น ล่าสุดนายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า หากมีการเลือกตั้งใหม่พรรคภูมิใจไทยพร้อมลงสมัครรับเลือกตั้ง แม้จะยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและต้องเลือกตั้งในกติกาเดิมก็ตาม โดยมีส.ส.และบุคคลากรของพรรคที่ทำงานในพื้นที่ พร้อมทั้งเตรียมนโยบายใหม่ไว้แล้ว ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า เรื่องการยุบสภาไม่มีน้ำหนัก เป็นเพียงความเห็นของคนที่ไม่ได้เป็นส.ส.และที่อยากจะรีบเข้าสภาฯเท่านั้น จึงปลุกกระแสดังกล่าว แต่คนที่เป็นส.ส.อยู่ในปัจจุบันไม่มีใครกลัวการยุบสภา พร้อมถามเลขาธิการพรรคก้าวไกลว่าความเห็นของส.ส.พรรคก้าวไกลแล้วหรือยังว่าอยากจะให้ยุบสภาหรือไม่ ด้านนายประมวล เอมเปีย หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวถึงเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาลว่าส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้อาจอยู่ไม่นาน เพราะกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการคว่ำร่างแก้ไขมาตรา 256 ในวาระสามทิ้งไป แล้วมาแก้รายมาตรา แค่ในพรรคร่วมรัฐบาลเดียวกันยังใช้ร่างญัตติต่างกันคือ สามพรรคร่วมรัฐบาลจับขั้วหนึ่งแก้ปรับลดอำนาจส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่พรรคหลักรัฐบาลคือพลังประชารัฐไม่ร่วมด้ว พร้อมเตือนว่า ครม.ชุดนี้ล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือถึงเวลาต้องยุบสภาฯ เนื่องจากรัฐบาลล้มเหลวก็หมดความชอบธรรมที่จะอยู่บริหารประเทศต่อไป ขณะที่นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญร่างแรกของพรรคประชาธิปัตย์ คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยจะแก้ไขเพื่อให้สิทธิของประชาชนได้กลับคืนมา อาทิ มาตรา 29 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสิทธิในการเข้าถึงด้วยความสะดวกรวดเร็ว และเป็นธรรมสิทธิในการตรวจสอบข้อเท็จจริงตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ, มาตรา 43 สิทธิชุมชนเป็นเรื่องที่สำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิถีชีวิตของประชาชนและชุมชน, มาตรา 46 สิทธิผู้บริโภค ทุกคนเป็นผู้บริโภคหมด, มาตรา 72 สิทธิในการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับประชาชน เป็นสิ่งสำคัญที่สุดซึ่งจะต้องเป็นหลักประกันแก่ประชาชนให้มีที่ดินทำกิน “เรื่องร่วมรัฐบาลอย่านำมาโยงกับเรื่องนี้เพราะจุดหมายคือมุ่งผลสำเร็จในการแก้รัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ ถ้าคิดเพื่อให้ทุกอย่างเดินไม่ได้คิดง่ายเกินไป” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว