“ ต้องบอกว่า ระเบิดเวลา ก็มีอยู่ของมัน เพียงแต่ระเบิดเวลานี้อาจจะนาน 3 ปี หรือ 4 ปี ถ้าเกิดท่านนายกฯ ไม่เลิกสมัยนี้ จะเอาต่อในสมัยหน้า มันอาจจะค่อยไประเบิดในสมัยหน้า หรือระเบิดใน 2 ปี ช่วงจะมีการเลือกตั้ง”
เรื่อง : พุทธชาติ แซ่เฮ้ง สถานการณ์การเมืองเริ่มร้อนระอุ ประชาชนหลายกลุ่มต่างนัดรวมตัวชุมนุมพุ่งเป้าไปที่การล้มรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” โดยฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ต่างมีกลยุทธ์วิธีเคลื่อนไหวที่หลากหลาย “สยามรัฐ” มีบทสัมภาษณ์พิเศษ “รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวณิก” ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ถึงสถานการณ์การเมืองหลังช่วงสงกรานต์ โดยเชื่อว่า “ระเบิดเวลา” ของรัฐบาลยังทอดเวลาอีกยาวไกล และที่แน่ๆ ยังไม่มีการยุบสภาฯเกิดขึ้น ! -การเมืองหลังสงกรานต์ มีเหตุการณ์อะไรที่รอนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลอยู่ข้างหน้าบ้าง การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีการนัดหมายกันคงจะเกิดขึ้น มีการชุมนุม และจะไปถึงไหนก็ยังไม่แน่นอน แต่ที่สำคัญคนที่จะแกนนำการชุมนุมประกาศค่อนข้างชัดว่า จะมาล้มรัฐบาล ฉะนั้นต้องเผชิญกัน อีกส่วนกลุ่มคนที่จะไปจัดในลักษณะค่าย ที่ไม่รู้ว่าจะพูดคุยอะไรกันขนาดไหน หลังจากค่ายก็อาจจะมีการชุมนุมมากขึ้น หรือมีการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการเคลื่อนไหว ทั้งารูปแบบที่เป็นอยู่เดิม หรือรูปแบบใหม่ ก็จะต้องมุ่งเป้ามาที่รัฐบาล และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเรื่องกฎหมายต่างๆ ที่อาจจะยังไม่เรียบร้อย หากไม่สามารถผ่านไปได้ เช่น กฎหมายประชามติ อาจะมีแรงทำให้คนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง รวมถึงประชาชนจำนวนหนึ่งก็ถาโถมมาที่รัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร และเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งตอนนี้ถือว่าพับไป จะเริ่มขึ้นและเดินหน้าอย่างไร เป็นโจทย์ที่รัฐบาลจะต้องเผชิญ นอกเหนือจากนั้น เป็นเรื่องการปรับ ครม. รัฐมนตรีที่เข้ามาใหม่ๆ จะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน เป็นไปตามสิ่งที่ประชาชนคาดหวังหรือไม่ เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องไปเดินหน้าจัดการ และเรื่องราวทั่วไปทางการเมืองก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประท้วงคงไม่หนีหายไปไหน -มีกระแสกดดันให้นายกฯ ยุบสภา มองสถานการณ์เดินไปถึงจุดนั้นหรือไม่ ยังบอกไม่ได้ แต่แนวโน้มไม่น่าจะไปในทิศทางนั้น ซึ่งโดยรวมของฝั่งรัฐบาลมีความได้เปรียบอยู่หลายประการ คือ ความเหนียวแน่นของสภา ทั้งในส่วนของ ส.ส. และส.ว. แม้ว่าจะมี ส.ส. ส่วนหนึ่งติติงว่ากล่าวการมี ส.ว. ทำให้เกิดปัญหา หรือมีการก่อหวอดกันบ้างในสภา แต่โดยรวมความเหนียวแน่นในสภา เขายังอยากอยู่เป็นสภา ส.ส.แต่ละคนก็ยังอยากอยู่เป็น ส.ส. ฉะนั้นการมีแรงกระเพื่อมจากข้างนอกถึงขั้นให้เกิดการยุบสภา คงจะยากอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลยึดเป็นหลักอยู่ แต่ว่ารัฐบาลยึดหลักนี้มากเกินไป คิดว่าสามารถสร้างนัยยะทางการเมือง ทำให้สภาไม่อยากที่จะปลอดล็อก หากปล่อยไปนานก็อาจจะเกิดปัญหาได้ เพราะแรงกระเพื่อมจะเพิ่มขึ้น และการที่รัฐบาลวางเฉยไม่ทำอะไร ก็จะกลายไปเพิ่มแรงให้กับฝั่งผู้ชุมนุม ถึงแม้ไม่ไปในทิศทางนั้น ก็ไม่ได้แปลว่า จะไม่ไปเลย อยู่ที่การกระทำของรัฐบาลด้วย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลคงจะอ่านเกมนี้ว่า มีวิธีทางที่จะผลักดันให้มีการยุบสภา กลุ่มผู้ชุมนุมก็จะออกมา แต่ถ้าออกมาแล้วมีเหตุผลที่ดีในการขับไล่รัฐบาล มีตรรกะ คนออกมาจำนวนมากพอ แรงสนับสนุนจากประชาชนมีมาก ก็ลำบากแล้ว แต่คิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะรัฐบาลคงจะอ่านออกว่า ปล่อยให้มีสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ก็คงจะปรับเปลี่ยน แต่อยู่ที่ว่า ท้ายที่สุดรัฐบาลเหลิง หรือคิดว่าตัวเองเอาอยู่ คิดว่าแนวโน้มก็พอมี -พรรคร่วมรัฐบาลมีความขัดแย้งกันเอง จะต้องทนอยู่กันไปจนครบเทอม และเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ทนครับ... เพราะความเป็นรัฐบาลมันเย้ายวนอยูแล้ว โดยเฉพาะสำหรับนักการเมืองประเทศไทย ใครๆ ก็อยากเป็นรัฐบาล เป็น ส.ส.ฝั่งรัฐบาล ฉะนั้นอย่างที่ผมบอกแรงกระเพื่อมถ้าไม่มากพอ ไม่สามารถทำให้โยกคลอนถึงขั้นอยู่กันไม่ได้ เขาก็ต้องทนอยู่กันไป อยู่เป็นรัฐบาลแบบลุ่มๆ ดอนๆ หรือมีปัญหานี้ ปัญหานั้น ดีกว่าไปเสียเงินเลือกตั้งใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เราเชื่อว่าประเทศไทยมีระบบการเลือกตั้งแบบใช้เงินกันอยู่ คนก็ไม่อยากไปเลือกตั้ง ถ้าได้เป็น ส.ส.อยู่แล้ว ไม่อยากไปเลือกตั้ง ก็ทู่ซี้กันไป อยู่กันไป -การเมืองระดับท้องถิ่น เชื่อมโยงมาถึงระดับชาติหรือไม่ เชื่อมโยงอยู่แล้ว แม้จะบอกว่า การสมัครท้องถิ่น ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค แต่เราสังเกตเห็นว่า การเมืองท้องถิ่นระดับจังหวัด จนมาถึงท้องถิ่นระดับเทศบาล และจะเห็นต่อการเมืองท้องถิ่นระดับตำบล มีการเชื่อมโยงกับพรรคการเมือง บางกลุ่มอาจจะไม่ใช้พรรคการเมืองโดยตรง แต่ใช้เป็นคณะ เช่น คณะก้าวหน้า ก็เป็นการเชื่อมโยงกับการเมืองส่วนกลาง ที่รู้กันคณะก้าวหน้า ก็เชื่อมโยงกับพรรคก้าวไกล จึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวกันมา เกี่ยวกันไป และท้ายที่สุดก็ต้องมีการเลือกตั้งทั่วไป เนื่องจากคนที่ลงท้องถิ่นยังอยู่ ถ้าเขาสนับสนุนใคร เป็นคนของพรรคใด เขาก็ต้องผลักดันเพื่อที่จะให้คนของพรรคตัวเอง หรือคนที่ตัวเองสนับสนุนได้เข้ามาเป็น ส.ส. ในการเมืองส่วนกลาง -มองบทบาทของฝ่ายค้าน ครึ่งเทอมหลังจะเป็นอย่างไร บทบาทของฝ่ายค้านไม่ได้แตกต่างจากที่เป็นอยู่แล้ว เพราะตั้งแต่เริ่มต้นฝ่ายค้านออกตัวแรงมาตั้งแต่แรก ออกตัวมาก็จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ อภิปรายทั่วไปไม่ลงมติ จะแก้รัฐธรรมนูญ กล่าวอ้างถึงความไม่ชอบธรรมการที่รัฐบาลเข้ามาดำรงตำแหน่ง ฉะนั้นจะมีพลวัฒน์การเปลี่ยนแปลงไม่มาก อย่างมากจะมีพลวัฒน์ในการยกระดับ หรือว่าจะเพิ่มความถี่ตั้งกระทู้มากขึ้น หรือใช้วิธีทางในสภาทำอะไรมีนัยยะสำคัญทางการเมืองเพิ่มขึ้นเท่านั้น เพราะออกตัวแรงมาตั้งแต่แรก ก็คงออกตัวตามนั้นต่อไป -บทบาทภาคประชาชน กับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ภาคประชาชนมีบทบาทมากแน่นอน เพียงแต่ว่าบทบาทของภาคประชาชนที่เราจะได้เห็นต่อๆ ไป ไม่ทราบว่าจะเป็นการยกระดับทั้งแนวราบ และแนวดิ่งอย่างไร แนวราบคือ มีประชาชนเพิ่มกลุ่มมากขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น มีการนำเสนอที่มีนัยยะทางการเมืองที่แตกต่างจากที่เป็นอยู่มากขึ้นหรือไม่ ส่วนแนวดิ่งคือ การยกระดับของกลุ่มที่ชุมนุมอยู่แล้ว จะเพิ่มเนื้อหาเข้าไป เพิ่มความรุนแรงเข้าไป หรือจะเพิ่มประเด็นและเรียกจำนวนคนมาเพิ่มได้มากน้อยแค่ไหน เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า การเมืองภาคประชาชนจะมีนำหนักมากขึ้น หรือน้อยลงอย่างไร แต่ว่าการเมืองภาคประชาชน โดยเฉพาะการคลื่อนไหวในท้องถนนมีอยู่แล้ว ไม่หายไปไหน แต่จะมีมากขึ้น หรือน้อยลง จะมีแรงบวก หรือแรงลบ มีแรงสนับสนุน หรือแรงต้านอย่างไร อันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่ามีแน่นอนไม่หายไปไหนหรอก -การเคลื่อนไหวของม็อบจะจุดติดหรือไม่ หลังมีการชุมนุมกันมาข้ามปี ปัจจัยที่จะจุดติดม็อบ มีปัจจัยทั้งจากฝั่งของม็อบเอง และฝั่งของรัฐบาล โดยฝั่งม็อบคือ รวมตัวกันได้ติดมากแค่ไหน มีคนเข้ามาร่วมเพิ่มขึ้นอย่างไร ได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนเพิ่มขึ้นหรือไม่ ส่วนฝั่งรัฐบาลคือ ถ้ารัฐบาลมีปัจจัยบวกมาก เช่น ทำหน้าที่ได้ดี นำเสนอสิ่งต่างๆ ที่ถูกใจประชาชน อย่างที่เราเห็น อาทิ โครงการไทยชนะ โครงการคนละครึ่ง เป็นปัจจัยบวกของรัฐบาล ก็จะเป็นปัจจัยลบของม็อบ แต่หากรัฐบาลทำอะไรได้ไม่ดี ไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนได้ รวมทั้งการดำเนินการส่วนของฝ่ายบริหาร เชื่อมโยงกับฝ่ายนิติบัญญัติ ทำไม่ได้ดีพอ จะทำให้เกิดปัจจัยด้านลบในส่วนของรัฐบาล แต่จะกลายเป็นปัจจัยบวกของม็อบ -สถานการณ์แบบไหน จะเป็นระเบิดเวลาที่นายกฯ ต้องปลดชนวน ขณะนี้ต้องบอกว่า ระเบิดเวลา ก็มีอยู่ของมัน เพียงแต่ระเบิดเวลานี้อาจจะนาน 3 ปี หรือ 4 ปี ถ้าเกิดท่านนายกฯ ไม่เลิกสมัยนี้ จะเอาต่อในสมัยหน้า มันอาจจะค่อยไประเบิดในสมัยหน้า หรือระเบิดใน 2 ปี ช่วงจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น หรือเป็นระเบิดเวลาที่เกิดขึ้นเร็ว ถ้ารัฐบาลประคับประคองได้ดี และทำความเข้าใจว่า แม้ม็อบจะอ่อนแรงอย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีสิ่งที่จะต้องทำในฐานะเป็นรัฐบาล จะนิ่งเฉยไม่ได้ ต้องทำหน้าที่หลายๆ เรื่อง เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปประเทศ รวมถึงการนำเสนอนโยบาย และการทำงานที่เป็นส่วนการทำงานของรัฐมนตรี เชื่อมโยงการทำหน้าที่ในส่วนของรัฐบาล และทำงานในส่วน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลในสภา ซึ่งมีการเชื่อมโยงกันหมด ถ้าทำได้ดี ระเบิดเวลาก็ทอดเวลาไปยาว ถ้าทำได้ไม่ดีระเบิดเวลาก็สั้นลง -อยากฝากถึงรัฐบาล ฝ่ายค้าน และภาคประชาชน กับสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้อย่างไร อยากให้เอาประโยชน์ของบ้านเมือง พี่น้องประชาชนเป็นตัวตั้ง อย่าไปเอาตามอำเภอใจของท่าน อย่าไปเอาความอยาก -ไม่อยากของท่านเป็นตัวตั้ง ผลประโยชน์ทางการเมืองต่างๆ ของท่านเป็นแรงขับเคลื่อน แต่เอาสิ่งที่เป็นเนื้อหาอย่างแท้จริงของบ้านเมือง เป็นความเจริญก้าวหน้าที่อยากให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองเป็นตัวหลัก ถ้าทำได้แบบนั้น ก็จะทำให้การชุมนุม เป็นการชุมนุมแบบมีน้ำหนัก เพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ทำให้บ้านเมืองดีขึ้น ส่วนการทำหน้าที่ของรัฐบาล ก็จะเป็นไปเพื่อทำให้บ้านเมืองมีการพัฒนา มีศักยภาพในการขับเคลื่อนมากขึ้น แต่ถ้าเอาความอยากของตัวเอง เอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง เอาความรู้สึกเป็นหลัก ทั้งหมดจะทำให้ท้ายที่สุดไม่สร้างประโยชน์อะไรให้กับบ้านเมือง สำหรับพวกท่านไม่รู้ว่าจะได้อะไรหรือเปล่า แต่ต่อให้ได้ก็ไม่ยั่งยืน