“น้ำ” ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย โดยถ้าหากว่า สรรพสิ่งมีชีวิต ขาดเสียแล้วซึ่งน้ำ ก็มิอาจดำรงชีพต่อไปได้ ด้วยประการฉะนี้ จึงมีผู้รู้กล่าวว่า “น้ำคือชีวิต” ก็ว่าได้ เมื่อมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด บรรดากูรู ผู้เชี่ยวชาญประดามี ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในเรื่องน้ำ จึงพยายามรณรงค์ผ่านโครงการต่างๆ เพื่อพยายามอนุรักษ์น้ำ ให้มีสภาพดี มีปริมาณมากเพียงพอ หรือเกินพอ สำหรับการอุปโภค บริโภค ถึงขนาดองค์การระหว่างประเทศอย่าง “สหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็น” สถาปนา “องค์การน้ำแห่งสหประชาติ” หรือ “ยูเอ็น วอเตอร์ (UN water)” ขึ้น เพื่อมาดูแลเรื่องน้ำ ร่วมกับหน่วยงานของยูเอ็นอื่นๆ ได้แก่ “องการอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ” หรือ “เอฟเอโอ” เป็นต้น พร้อมทั้งจัดทำโครงการต่างๆ ที่มาดูแลน้ำ อย่าง “โครงการน้ำเพื่อชีวิต (Water for Live)” เป็นอาทิ นอกจากนี้ ยังประกาศให้มี “วันน้ำโลก (World Water Day)” โดยกำหนดให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปี เป็นวันดังกล่าว ซึ่งเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1993 (พ.ศ. 2536) ตามผลมติที่ประชุมสมัชชาของยูเอ็นที่มีขึ้นเมื่อปีก่อนหน้า พร้อมกับการรณรงค์อนุรักษ์พิทักษ์น้ำ และแนวโน้มทิศทางของน้ำ ในช่วงเวลานั้นๆ ให้โลกได้ตระหนักและตื่นตัวกันอีกด้วย สำหรับ ในปีปีนี้ “ธีม” ประเด็นสำคัญของ “วันน้ำโลก 2021 (พ.ศ. 2564)” ก็คือ “คุณค่าของน้ำ (Valuing Water)” ซึ่งจะเป็นแนวทางการรณรงค์ให้ประชาคมโลกได้ตระหนักและตื่นตัวใน “คุณค่าของน้ำ” เป็นประการสำคัญในปีนี้ แตกต่างจากปีที่แล้ว ที่กำหนด “ธีม” ไว้ที่เรื่อง “น้ำกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ” หรือ “น้ำกับภาวะโลกร้อน” พร้อมกันนี้ ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่อง “คุณค่าของน้ำ” อันเป็นธีมสำคัญของ วันน้ำโลกประจำปีนี้ ทางยูเอ็น ก็ยังได้กำหนดประเด็นที่ต่อเนื่องตามมา คือ การเชิญชวนให้ประชาคมโลก เข้ามามีส่วนร่วม ในการบอกเล่าเรื่องราว ความคิด และความรู้สึก ของตนเองเกี่ยวกับน้ำ ผ่านทางโซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์ ต่างๆ อีกด้วย เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดธีม “คุณค่าของน้ำ” ดังกล่าวขึ้น ก็มาจากทางยูเอ็น พร้อมด้วยบรรดากูรู ผู้เชี่ยวชาญ เห็นพิษภัยของการเกิดปัญหามลภาวะทางน้ำ และจากกรณีที่พื้นที่หลายแห่งของโลกเรา มีน้ำในปริมาณไม่เพียงพอต่อการบริโภค อุปโภค ในช่วงที่ผ่านมา ดังปรากฏเป็นรายงานสถานการณ์ของปัญหามลภาวะทางน้ำ และการขาดแคลนน้ำสำหรับการบริโภค อุปโภค ไม่เพียงพอต่อความต้องการ พร้อมเปิดเผยภาพของปัญหาข้างต้น เพื่อให้ประชาคมโลกได้ตระหนักและตื่นตัวถึงคุณค่าของน้ำที่มีต่อพลเมืองโลกเรา โดยผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า ราว 4 พันล้านคนของประชาคมโลก ล้วนเคยมีประสบการณ์ขาดแคลนน้ำกิน น้ำใช้ เป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และราว 1.6 พันล้านคน หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรโลก มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงน้ำที่สะอาด ปลอดภัยต่อการบริโภค อุปโภค นอกเหนือจากการเผชิญกับปัญหามลภาวะทางน้ำ หรือน้ำเสีย ที่กำลังคุกคามในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประเทศยากจน ยิ่งซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนน้ำที่จะใช้อุปโภค บริโภค ให้หนักขึ้นไปอีก พร้อมหยิบยกปัญหามลภาวะทางน้ำในหลายพื้นที่มุมโลกเรา ออกมาเป็นกรณีตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็นที่นครเซาเปาโล เมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศบราซิลถิ่นแซมบา ที่ปรากฏว่า “แม่น้ำตีเอเต” ลำน้ำที่เปรียบเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเมือง ต้องกลายเป็นแม่น้ำที่เต็มไปด้วยมลภาวะ จากขยะมูลฝอย และน้ำเสีย ที่ระบายมาจากบ้านเรือนโดยไร้การบำบัด “อ่าวฮันน์” ซึ่งเป็นน่านน้ำย่านกรุงดาการ์ เมืองหลวงของประเทศเซเนกัล ซึ่งผจญกับปัญหามลภาวะกันแทบทั้งหาดหน้าอ่าว จากการที่นิคมอุตสาหกรรมในย่านนั้น พากันปล่อยน้ำเสีย ลงสู่แหล่งน้ำ โดยที่ไม่ผ่านการบำบัด ถึงขนาดประชาชนพลเมืองชาวกรุงดาการ์ เอ่ยปากว่า ไม่ผิดอะไรกับอาศัยในแหล่งเชื้อโรค ซึ่งพวกเขาสุ่มเสี่ยงที่จะล้มป่วยด้วยโรคต่างๆ ได้ง่ายๆ ทั้งนี้ ความเสียหายของอ่าวแห่งนี้ แม้ว่าทางการเซเนกัล จัดสรรงบประมาณมาจัดการมลภาวะทางน้ำ ด้วยวงเงินสูงถึง 168 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การป้องกันล่วงหน้า ดีกว่าการแก้ไขในภายหลัง ขณะที่ บางประเทศในภูมิภาคยุโรปก็ไม่น้อยหน้า เพระเผชิญหน้ากับมลภาวะทางน้ำอย่างรุนแรงด้วยเช่นกัน อาทิ เมืองพริโบย ประเทศเซอร์เบีย ซึ่ง “แม่น้ำลิม” หนึ่งในเส้นเลือดใหญ่ของพวกเขา กลายเป็นลำน้ำแห่งมลภาวะ จากพลาสติกที่ถูกลงแหล่งน้ำอย่างไร้ระเบียบ โดยการประเมินก็ระบุว่า ลำน้ำแม่ลิมของเมืองพริโยสายนี้ มีขยะพลาสติกรวมกันแล้วมากกว่า 2 หมื่นลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีรายงานด้วยว่า ขยะพลาสติกพวกนี้ นอกจากเซอร์เบียที่ทิ้งเองแล้ว ก็ยังมีมอนเตเนโกร และบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา สองประเทศที่อยู่ลำน้ำสายเดียวกันนี้ ร่วมกันทิ้งลงลำน้ำ ส่วนที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์เรา ทางผู้เชี่ยวชาญก็หยิบยกปัญหามลภาวะทางน้ำของลำ “แม่น้ำจีตารุม” ซึ่งไหลผ่านเมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย เป็นกรณีตัวอย่าง เพราะถูกระบุว่า เป็นหนึ่งในแม่น้ำที่มีปัญหามลภาวะรุนแรงที่สุดสายหนึ่งของโลก จากบรรดาของเสียต่างๆ ที่เททิ้งลงไป ทั้งจากบ้านเรือนประชาชน และโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งนี้ แม้ทางการจาการ์ตา ระดมทุ่มงบประมาณเพื่อแก้ไขบำบัด แต่ทว่า ปัญหามลภาวะทางน้ำก็หาได้ลุล่วงไปไม่ โดยทางกูรู ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า การป้องกันด้วยการให้ประชาคมโลกได้ตระหนักและตื่นตัวถึงคุณค่าของน้ำในเบื้องต้น ดีกว่าตามแก้ไขในภายหลัง ซึ่งเป็นการยากที่จะทำให้ดีดังเดิม