พิษร้ายเหลือส่งผลกระทบไปแทบจะทุกภาคส่วนของโลกเรา สำหรับ เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาด ณ ชั่วโมงนี้ โดยอาละวาดลุกลามไปแล้วในพื้นที่ 219 ประเทศทั่วโลก พร้อมกับทำผู้คนติดเชื้อไปแล้วกว่า 131 ล้านคน ในจำนวนนี้กว่า 2.86 ล้านคน ถูกโควิดฯ ปลิดชีพไป หลังจากไวรัสมรณะเขย่าโลกใบนี้มาตั้งแต่ปลายปี 2019 (พ.ศ. 2562) ต่อเนื่องตลอดขวบปี 2020 (พ.ศ. 2563) ถึง ณ ปัจจุบัน ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสร้าย จะยุติจบสิ้นลงเมื่อไหร่ แม้ว่าได้มีวัคซีนขนานต่างๆ ออกมาฉีดให้แก่ผู้คนไปหลายสิบล้านโดสแล้วก็ตาม นั่น! เป็นผลกระทบที่มีต่อระบบสาธารณสุขโลก ขณะที่ ระบบเศรษฐกิจโลก ก็ต้องบอกว่า สลบซบเซาไปตามๆ กัน ต่างกระทบกระเทือนแทบจะถ้วนทั่วหลายภูมิภาค แต่ที่ได้รับการจับตามากกว่าใครๆ ในฐานะภูมิภาคที่เป็นพลังขับเคลื่อนของเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ ก็ได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งผนวกควบรวมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์เราไปด้วยนั้น ถูกจับจ้องมองจากบรรดาสถาบันการเงิน และเศรษฐกิจระหว่างประเทศกันอย่างไม่กระพริบตา ยกตัวอย่าง “ธนาคารโลก” หรือ “เวิลด์แบงก์ (World Bank)” เป็นอาทิ โดยเวิลด์แบงก์ ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ ออกมาเปิดเผยถึงการประมาณการทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จากการได้รับผลกระทบของวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ ในภูมิภาคแห่งนี้ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ทางธนาคารโลก ระบุว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะยังต้องทนทุกข์ทรมานกับ “แผลเป็น” ของวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิดฯ ที่สร้างบาดแผลต่อระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคแห่งนี้ต่อไปอีกหลายปี พร้อมกันนี้ เวิลด์แบงก์ก็ได้ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในปี 2021 (พ.ศ. 2564) ที่ผ่านพ้นไตรมาสแรกของปีนี้ไปแล้วว่า เศรษฐกิจจะเติบโตในอัตราเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 7.4 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว หรือ 2020ร้อยละ 1.2 เนื่องจากประเทศต่างๆ ถูกไวรัสโควิดฯ เล่นงานอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขประมาณการจะออกมาว่า ขยายตัวจากปีก่อน แต่ทางเวิลด์แบงก์ ก็ส่งเสียงเพรียกเตือนว่า สถานการณ์การเติบโตจะเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น คือ ไม่สม่ำเสมอ ดังนั้น จึงจำต้องพึงระวังในการดำเนินมาตรการต่างๆ ในอันที่จะส่งผลให้เกิดการกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวไปอย่างต่อเนื่อง รายงานของเวิลด์แบงก์ ระบุว่า จีนแผ่นดินใหญ่ หรือพญามังกร จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าใครเพื่อนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ด้วยตัวเลขสูงถึงร้อยละ 8.1 เลยทีเดียว สำหรับการขยายตัวในปี 2021 นี้ เปรียบเทียบแล้วมากกว่าปีก่อนที่เติบโตในอัตราร้อยละ 2.3 อีกประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ทางธนาคารโลก เปิดเผยว่า จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง นั่นคือ “เวียดนาม” โดระบุว่า จะมีอัตราการขยายตัวในปี 2021 นี้ ที่ประมาณร้อยละ 6.6เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของเวียดนามในปีที่แล้ว ที่เติบโตในอัตราร้อยละ 2.9 อันเป็นผลจากเงินทุนที่บรรดากลุ่มผู้ลงทุน แห่ตบเท้าเข้าไปลงทุนในแดนญวนแห่งนี้ “เวิลด์แบงก์” ยังเผยในรายงานด้วยว่า หากจะกล่าวถึงประเทศที่สถานการณ์เศรษฐกิจ หวนกลับฟื้นคืน จนมีความใกล้เคียงกับเมื่อช่วงก่อนการเกิดวิกฤติแพร่ระบาดไวรัสโควิดฯ ทั่วโลก ก็คงต้องยกให้สองประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกแห่งนี้ นั่นคือ จีนแผ่นดินใหญ่ กับเวียดนาม นั่นเอง ขณะที่ เมื่อเอ่ยถึงประเทศอื่นๆ รายงานของธนาคารโลก ระบุว่า ยังต้องเฝ้าระวังกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก แม้ว่าจะมีอัตราเติบโต หรือขยายตัวกันอยู่บ้างก็ตาม อาทิ มาเลเซีย ร้อยละ6 ลาว ร้อยละ 4.6 อินโดนีเซีย ร้อยละ 4.4 กัมพูชา ร้อยละ 4 ส่วนฟิลิปปินส์ และไทย แม้มีสัญญาฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยไทยอาจเติบโตได้ร้อยละ 3.4 แต่ก็ต้องดำเนินมาตรการอื่นๆ ที่ไม่พึ่งแต่เฉพาะการท่องเที่ยวเพียงเท่านั้น ซึ่งยังได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดฯ ส่วนประเทศเมียนมา นั้นแทบจะไม่ต้องพูดถึง เพราะนอกจากได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ก็ยังเผชิญหน้ากับวิกฤติการเมืองภายใน หลังจากที่กองทัพ หรือตั๊ดมาดอว์ ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. เป็นต้นมา ถึง ณ วินาทีนี้ สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายหนักขึ้น โดยจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของเมียนมาในปีนี้ ให้หดตัว หรือติดลบ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 เลยทีเดียว สำหรับ ความสำคัญของเอเชีย-แปซิฟิก ก็ถือเป็นภูมิภาคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ ด้วยจำนวนประชากรรวมแล้วกว่า 4.5 พันล้านคน หรือคิดเป็นเกือบร้อยละ 60 ของประชากรโลก และที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยแล้วมากเกือบร้อยละ 6 มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นยุโรปที่เติบโตเพียงร้อยละ 2.3 อเมริกาเหนือที่ร้อยละ 2.3 ละตินอเมริกาเฉลี่ยกว่า ร้อยละ 2 และแอฟริกา ร้อยละ 3.7