ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (ระบบธ.พ.ไทย) อาจขยับขึ้นในไตรมาส 1/2564 โดยแม้รายได้จากธุรกิจหลักของ ธ.พ.ไทยจะยังไม่ฟื้นตัวกลับมา เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายๆส่วนของไทยยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 แต่ระดับกำไรสุทธิในไตรมาส 1/2564 มีโอกาสขยับขึ้น 75% QoQ เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2563 ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการลดลงของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้เสียที่ชะลอลง (แต่ยังเป็นระดับสำรองฯ ที่มากกว่าระดับปกติ) อย่างไรก็ดี ประเมินว่า การประคองทิศทางผลประกอบการระบบ ธ.พ.ไทยในระยะที่เหลือของปีอาจมีความท้าทายมากขึ้น เพราะคงต้องยอมรับว่าโควิด 19 ระลอกสาม มีผลกระทบต่อจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รายได้หลักของธุรกิจธนาคาร และประเด็นคุณภาพหนี้ แม้กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (ระบบ ธ.พ.ไทย) ในไตรมาส 1/2564 อาจขยับขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากผลของค่าใช้จ่ายที่ลดลง แต่รายได้จากธุรกิจหลักไม่ฟื้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 และเศรษฐกิจยังไม่ปกติ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กำไรสุทธิของระบบ ธ.พ.ไทยอาจขยับขึ้นมาที่ 2.57 หมื่นล้านบาทในไตรมาสที่ 1/2564 เพิ่มขึ้นประมาณ 75.0% QoQ เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2563 ที่มีกำไรสุทธิที่ 1.47 หมื่นล้านบาท โดยกำไรสุทธิที่ขยับขึ้นในไตรมา 1/2564 หลักๆเป็นผลมาจากการปรับตัวลงของค่าใช้จ่ายใน 2 ส่วน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่ชะลอลง หลังจากเร่งตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนหน้าตามปัจจัยเชิงฤดูกาล และรายจ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (การตั้งสำรองฯ) ซึ่งแม้จะอยู่สูงกว่าในช่วงปกติ แต่ก็น่าจะลดลงจากในช่วงไตรมาสที่ 4/2563 อย่างไรก็ดีรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1/2564 ทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย อาจขยับลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 รอบใหม่ที่ทำให้แรงส่งจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยขาดความต่อเนื่อง โดยรายได้ดอกเบี้ยในภาพรวมชะลอลงสอดคล้องกับสถานการณ์การปล่อยสินเชื่อที่เป็นไปอย่างระมัดระวัง ประกอบกับมีการทยอยชำระคืนหนี้ตามปัจจัยฤดูกาล ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลทำให้สินเชื่อของระบบธ.พ. ไทยชะลอการเติบโตลงมาอยู่ในกรอบ 4.0-4.5% YoY ในไตรมาส 1/2564 (จาก 5.8% ในไตรมาส 4/2563) ขณะที่ผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงก่อนหน้านี้ กดดันให้ NIM ไตรมาส 1/2564 ชะลอลงมาอยู่ในกรอบ 2.53-2.57% (จาก 2.59% ในไตรมาส 4/2563) นอกจากนี้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยยังคงหดตัวลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ เพราะแม้จะไม่มีการล็อกดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจในวงกว้างในไตรมาสแรก แต่บรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศที่ซบเซาก็มีผลกดดันรายได้ค่าธรรมเนียมหลายประเภท อาทิ ค่าฟีบัตรเครดิต บริการโอนเงินและเรียกเก็บเงิน รวมถึงค่าธรรมเนียมจัดการ และค่านายหน้า ขณะที่การปรับตัวขึ้นอย่างมากของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยก็เพิ่มแรงกดดันต่อการตีมูลค่าเงินลงทุนในตราสารหนี้ผ่านงบกำไรขาดทุนของธนาคารพาณิชย์ ประเด็นคุณภาพหนี้ในพอร์ตลูกหนี้ของ ธ.พ.ถูกกระทบอีกครั้งจากโควิด 19 รอบใหม่ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) ของระบบธนาคารพาณิชย์ (ภาพรวมของธ.พ.ไทย+สาขาธ.พ. ต่างประเทศ) อาจขยับขึ้นมาที่ 3.20-3.35% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 1/2564 จากระดับ 3.12% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 3/2564 โดยกลุ่มลูกหนี้ที่มีสัญญาณอ่อนแอ ได้แก่ ลูกหนี้ SMEs ลูกหนี้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว และลูกหนี้รายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่ออุปโภคบริโภคอื่นๆ ที่ล้วนมีสัดส่วนสินเชื่อ Stage 2 (สินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต) เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว สถานการณ์หนี้ด้อยคุณภาพจะยังคงเป็นประเด็นที่ธนาคารพาณิชย์ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และส่งผลทำให้สัดส่วนการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ (Credit Cost) ยังคงทรงตัวอยู่ในกรอบสูงที่ประมาณ 1.45-1.50% ในไตรมาส 1/2564 ชะลอลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 1.54% ไตรมาส 4/2563 เนื่องจากคาดว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งจะยังคงตั้งสำรองฯ ในระดับสูงกว่าสถานการณ์ปกติ เนื่องจากสัญญาณโควิด 19 ในประเทศปะทุขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ต้นปี 2564 ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความไม่แน่นอนของแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังส่งผลซ้ำเติมความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้า ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน ประมาณการผลประกอบการไตรมาส 1/2564 ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและกระจายเป็นวงกว้างของโควิด 19 ระลอกสามจะเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันและทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง ควบคู่ไปกับการเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่อาจต้องดำเนินการต่อเนื่องตลอดช่วงที่เหลือของปี 2564 ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สินเชื่อระบบธ.พ.ไทย อาจมีทิศทางการเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการปล่อยสินเชื่อใหม่ผ่านมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟูฯ) แต่ผลต่อรายได้ดอกเบี้ยอาจจะไม่มากนัก เพราะอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อฟื้นฟูในระยะแรกยังถูกกำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 2.0% นอกจากนี้สถาบันการเงินโดยภาพรวมจะยังคงพิจารณาความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้กู้อย่างระมัดระวังสำหรับสินเชื่อปล่อยใหม่ในส่วนอื่นๆ สำหรับประเด็นด้านคุณภาพสินเชื่อนั้น แม้มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้อาจช่วยบรรเทาแรงกดดันที่มีต่อลูกหนี้ธุรกิจในบางกลุ่ม แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงคาดว่า สินเชื่อด้อยคุณภาพของระบบธ.พ. จะยังคงมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ และจะมีผลต่อแนวทางการตั้งสำรองฯ ของระบบธนาคารพาณิชย์ เพราะเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหยุดชะงักลงอีกครั้งท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เสมือนกับการล็อกดาวน์บางส่วนเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 สุดท้ายนี้ จังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เลื่อนเวลาออกไป ย่อมเป็นปัจจัยที่เพิ่มความท้าทาย และ/หรือซ้ำเติมปัญหาการขาดสภาพคล่องของหลายๆธุรกิจ ซึ่งทำให้ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ที่กฎหมายผ่านแล้ว และคงจะทยอยมีความชัดเจนของความคืบหน้าในการดำเนินโครงการและการกระจายสภาพคล่องมากขึ้นตั้งแต่ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ประสิทธิผลของมาตรการควบคุมสกัดการแพร่ระบาดของโควิด 19 จะเป็นตัวแปรสำคัญที่บ่งชี้ถึงความเพียงพอของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยในกรณีที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันควบคุมการระบาดได้ดีและภาครัฐเดินหน้าเยียวยาเศรษฐกิจตามแผนที่วางไว้ คาดว่า มาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่มีอยู่ น่าจะช่วยประคองสถานะทางการเงินของผู้ประกอบการไปได้ระดับหนึ่ง เพียงแต่อาจต้องขยายเวลาช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยให้ครอบคลุมช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า สถานการณ์ในระยะข้างหน้ายังคงมีความไม่แน่นอน (ทั้งในเรื่องการสกัดการระบาดและความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่) และอาจทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นสัญญาณที่สะท้อนถึงความจำเป็นที่ทางการไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องกลับมาทบทวนความเพียงพอ-เหมาะสมของมาตรการทางด้านการเงินและมาตรการอื่นๆ ที่มีอยู่ และอาจต้องปรับปรุงเงื่อนไขของมาตรการ หรือเตรียมกลไก-มาตรการช่วยเหลืออื่นๆเพิ่มเติมให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของวิกฤตครั้งนี้