รศ.รอ.ดร.กนต์ธร ชำนิประศาสน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาความเป็นสากล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operation Center, EOC) เป็นประธานประชุมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เตรียมความพร้อมบุคลากรทางการแพทย์ ห้องความดันลบรองรับผู้ป่วยปานกลางและผู้ป่วยหนัก จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่มีอาการ สถานที่สำหรับกักตัว รวมถึงมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นเพื่อรับมือการแพร่ระบาดหลังหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ รศ.รอ.ดร.กนต์ธร ชำนิประศาสน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาความเป็นสากล ประธานศูนย์ EOC มทส. กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ซึ่งมีแนวโน้มของผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ติดเชื้อและมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ตรวจหาเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก มทส. ได้ระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับมาตรการเฝ้าระวังและพร้อมรับมือหากสถานการณ์มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง พร้อมนี้ได้ยกระดับความพร้อมการดำเนินงานของ รพ.มทส. ให้เป็นไปตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงหลักสุขอนามัยพื้นฐานทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ เพื่อร่วมมือกับจังหวัดนครราชสีมาและประเทศ ในการฝ่าวิกฤติ COVID-19 จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยในเบื้องต้นมีนโยบายลดความแออัดของประชาชนที่จะมาติดต่อกับโรงพยาบาลโดยการจัดให้มีบริการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ เลื่อนกรณีรักษาที่ยังไม่จำเป็น ปิดคลินิกนอกเวลา ปิดคลินิก รพ.มทส. ที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อมากขึ้นและสามารถดึงอัตรากำลังมาเสริมที่คลินิก ARI ได้มากขึ้น ไม่รับผู้ป่วยส่งต่อจากนอกพื้นที่ยกเว้นกรณีจำเป็นเร่งด่วน และขอความร่วมมือในการงดเยี่ยมผู้ป่วย เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและญาติ สำหรับการเตรียมความพร้อมที่อาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ซึ่งจัดไว้เป็นสถานที่รองรับการเข้าพักรักษาตัวของผู้ป่วยปานกลางและผู้ป่วยหนัก จัดเตรียมห้องความดันลบรองรับ 43 ห้อง ที่ชั้น 7 และ 9 สำหรับชั้น 11 จัดไว้เป็นสถานที่กักตัวของบุคลากรทางการแพทย์ของ รพ.มทส. จัดเตรียมสถานที่กักตัวเฝ้าระวังที่หอพักสุรนิเวศ 17 (S17) 66 ห้อง สำหรับบุคลากร มทส. และบุคคลภายนอก จัดสถานที่กักตัวเฝ้าระวังสำหรับนักศึกษา มทส. ที่หอพักสุรนิเวศ 13, 14 การจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการป่วยเล็กน้อย 200 เตียง ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ รวมถึงการปิดสนามกีฬา สวนสาธารณะ ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าใช้บริการ นอกจากนี้ แผนรับมือ หากมีการติดเชื้อและแพร่ระบาดในวงกว้าง เกิน 1,000 ราย ในจ.นครราชสีมา และเมื่อได้รับการจัดสรรวัคซีน COVID-19 รพ.มทส. สามารถรองรับการฉีดวัคซีนได้สูงสุดวันละ 500 คน โดยจัดเตรียมสถานที่รองรับการฉีดวัคซีนไว้ที่อาคารโภชนาการชั้น 2 สำหรับนักศึกษา บุคลากร และบุคคลภายนอก “การเตรียมการดังกล่าวข้างต้น เราหวังว่าจะสามารถรับมือกับวิกฤติ COVID-19 ได้อย่างเท่าทันสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม COVID-19 จะยังคงอยู่ไปอีกนาน เพราะฉะนั้นทุกคนจึงจำเป็นต้องปรับตัวตามวิถีใหม่ เพื่อให้เท่าทันกับการแพร่ระบาดของโรค ไม่ไปในที่สุ่มเสี่ยง สถานที่อโคจร สถานที่ชุมชนที่มีคนแออัด คำนึงถึงการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล (Social Distancing) การดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เพราะการดูแลตัวเองคือวัคซีนที่ดีที่สุด ทั้งยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ถือปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง” รศ.รอ.ดร.กนต์ธรกล่าว