สัมภาษณ์พิเศษ
เรื่อง :ชนิดา สระแก้ว
หมายเหตุ: “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ “สยามรัฐ” ถึงการทำงานของวุฒิสภาในช่วงครึ่งเทอมแรก โดยต้องยอมรับว่า “250 ส.ว.” เผชิญหน้ากับแรงกดดันทางการเมือง ทั้งในและนอกสภาฯ มาอย่างต่อเนื่อง
และจากนี้ไปยังมี “วาระร้อนๆ” ด้วยกันอีกหลายประการ ที่ต้องอาศัยเสียงจากวุฒิสมาชิกให้ความเห็นชอบ โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่
-ตลอดช่วงครึ่งเทอมแรกของรัฐสภา ในฐานะประธานวุฒิสภา มองการทำงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญปี 60 มีความแตกต่าง คือเพิ่มภาระงานจากวุฒิสภาชุดที่ผ่าน ๆมา เดิมมีหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมายให้สมบูรณ์ขึ้นให้เหมาะสม หรือสกรีนกฎหมายที่ผ่านมาจากส.ส. ไม่ใช่ว่าส.ส. จะทำไม่ดี เพียงแต่เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยเบรกรถวิ่งเร็วๆได้ ถ้าทำไปโดยที่ไม่ถึงเวลา หรือไม่ได้ฟังความเห็นรอบด้าน เช่นรัฐบาลเสนอกฎหมายทำแท้ง แต่วุฒิสภาคัดค้าน เพราะมีพล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นแกนนำ การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นไปตามความต้องการของประเทศชาติและประชาชน
แต่ส.ว.ชุดนี้รัฐธรรมนูญต้องการให้มาดำเนินการปฏิรูปประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นไปตามแผนไม่ใช่ส.ว.ทำเอง จึงได้คัดเลือกส.ว.จากหลายสาขาอาชีพมาช่วยกันขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศให้สำเร็จ สมาชิกวุฒิสภาจึงจำเป็นต้องลงไปรับฟังความเห็นของประชาชน ถ้าอ่านจากหนังสือเราก็ไม่ได้อะไรที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล และส.ว.มีหน้าที่สรรหากรรมการองค์กรอิสระ ดังนั้นสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือส.ว.ต้องทำแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ
ดังนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมา ส.ว. ทำงานในระดับดีพอสมควร เพราะงานกลั่นกรองกฎหมาย สมาชิกวุฒิสภามีวุฒิภาวะ และความรู้ความสามารถทุกคน การลงนามสนธิสัญญา กรอบข้อตกลงระหว่างประเทศ และกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปที่ทำร่วมมือกับสภาผู้แทนราษฎร ถือว่าส.ว.ได้ร่วมมือกันอย่างแข็งขัน แม้ว่าการพิจารณากฎหมายบางฉบับจะมีปัญหาในการพิจารณาร่วมกันของข้อกฎหมาย ซึ่งวุฒิสภาก็ถูกต่อว่า เช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่วุฒิสภาก็ทำภายใต้ขอบเขตอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ไปเกเรในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
-ผลงานของวุฒิสภาชุดนี้ มีอะไรที่รู้สึกพอใจ และมีอะไรที่คิดว่าต้องปรับหรือเพิ่มเติมอีก
การทำงานนิติบัญญัติก็ทำเต็มที่ ตามภาระหน้าที่ ถ้าเทียบกับวุฒิสภาสมัยก่อนจะเห็นว่าเราทำงานมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณากฎหมาย หรือการพิจารณาร่วมกันของรัฐสภา ทั้งในแง่ปริมาณ และคุณภาพ โดยเฉพาะการลงนามในสนธิสัญญากับต่างประเทศ วุฒิสภาก็ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ส่วนการตั้งกระทู้สอบถามรัฐบาลก็ทำได้ดีพอสมควร ส่วนแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ หลายคนก็ถามว่าเมื่อไหร่จะเห็นผล ซึ่งวุฒิสภาเราต้องการความเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับในการทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดขึ้น
บางคนอาจจะมองว่าวุฒิสภามีขึ้นเพื่อทำหน้าที่เพียงเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่อยากให้เพื่อน ในสภาด้วยกัน ประชาชน และสื่อเข้าใจผิดอย่างนั้น เราต้องการให้สังคมและประเทศเราเดินหน้าไปได้ด้วยความเชื่อมั่นว่าวุฒิสภาจะทำสิ่งเหล่านี้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง
-ความเข้มข้นทางการเมืองจากสภาผู้แทนฯดูเหมือนจะลุกลามมาถึงสภาสูง คิดว่าจากนี้ไปเราจะรับมืออย่างไร
คงไม่ได้รับมืออะไร ขึ้นอยู่กับการทำงานของวุฒิสภา ทำกฎหมายปฏิรูปประเทศเพื่อพัฒนาประเทศก้าวหน้าต่อไปเราทำด้วยความรู้ ความรู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ การที่วุฒิสภามาจากคสช. เป็นเรื่องธรรมดาที่อาจจะมองว่าเราไม่ได้มาจากประชาชน ก็เป็นความกดดัน ความเข้มข้นทางการเมือง เพราะหลักคือการบริหารประเทศโดยพรรคการเมือง ที่มีนโยบายตามในแต่ละพรรค
ดังนั้นความเข้มข้นทางการเมืองก็มาตกที่วุฒิสภา มีปัญหาอะไรก็มาลงที่วุฒิสภา เช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วุฒิสภาพร้อมเดินหน้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดกระบวนการแก้กฎหมายให้ส.ว.มีส่วนร่วม เพราะเน้นการปฏิรูปประเทศ จึงไม่ให้ล้มล้างรัฐธรรมนูญได้โดยง่าย
ผมเข้าใจความรู้สึก ตามกลไกของรัฐธรรมนูญต้องการกดดันทางด้านการเมือง ดังนั้นเขาต้องการความเชื่อมั่นว่าการทำงานของส.ว.จะมีอิสระตามความตั้งใจของส.ว.แต่ละคนมีความรู้ความสามารถ ผมก็เชื่อมั่นแบบนั้น
-การเมืองวันนี้ เรามองว่ายังอยู่ในจุดที่กระทบต่อการบริหารนโยบายของรัฐบาล
ถ้าพูดถึงเรื่องการเมืองพูดยาก แต่รัฐบาลประสบปัญหาในด้านเศรษฐกิจ จึงต้องเข้าใจว่าประเทศไทยมีรายได้สำคัญมาจากการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันรัฐบาลก็พยายามส่งเสริมให้มีงานทำ การพัฒนาถนนหนทาง ระบบการคมนาคม การดูแลแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ล้วนแต่ใช้เงิน เมื่อต้องการใช้เงินมากรัฐบาลก็ต้องจำเป็นต้องกู้ ปัญหาเศรษฐกิจก็กระทบปัญหาการเมือง เพราะเป็นของคู่กัน
ถ้าเศรษฐกิจมีปัญหา รัฐบาลก็แก้ตัวลำบาก ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องพยายามดูแลและเปลี่ยนแปลงการใช้งบประมาณให้ถูกต้อง ไม่ใช่เฉพาะงบประมาณของรัฐ ต้องดูแลงบประมาณในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มีเงินไม่ใช่เก็บอยู่เฉยๆต้องให้เงินไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นต้องใช้เวลา
ปัญหาทางการเมืองไม่ว่าประเทศไหนมักจะโจมตีรัฐบาลเรื่องเศรษฐกิจ แต่ผมเห็นว่ารัฐบาลนี้ต้องตั้งใจทำเป็นอย่างมาก พยายามหาจุดอ่อน จุดแข็งให้ได้ แต่จะให้สมบูรณ์แบบไม่มีโควิดคงยากต้องใช้เวลา
-วุฒิสภามีส่วนช่วยรัฐบาลอย่างไรบ้าง
วุฒิสภาก็จะระงับการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ หรือกิจกรรมที่ไม่จำเป็น ไม่มีผลตอบแทน ก็ไม่ทำ แต่บางอย่างก็คงไว้ แต่บางครั้งก็ลำบาก เช่นการจัดสัมมนาก็จำเป็นต้องทำ จะได้มีความรู้ และกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย แต่เราก็ต้องกลัวโควิดด้วย ก็ยังไม่สามารถทำได้ และดูเหมือนว่าโควิดจะกลับมาอีกรอบ เพราะในต่างประเทศก็มีการส่งสัญญาณมีการติดเชื้อตลอดเวลา เช่นในประเทศทางยุโรป เพราะเป็นประเทศมีพลเมืองหนาแน่น เป็นประเทศเล็กๆแต่คนเยอะ เชื้อที่จะแพร่กระจายเยอะ แต่ก็ไม่ใช่อย่างประเทศสหรัฐฯเป็นประเทศกว้างใหญ่ แต่คนกระจุกรวมกันในเมือง
-การเปิดประเทศวันที่ 1 กรกฎาคมต้อนรับนักท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเกรงว่าเชื้อโควิด-19 จะระบาดหรือไม่
ต้องชั่งน้ำหนักกัน เราก็อยากให้นักท่องเที่ยวเข้ามา แต่รัฐบาลต้องดูไประยะหนึ่ง ตอนนี้ก็กระตุ้นให้ฉีดวัคซีน ถ้าจะมาก็ต้องฉีดวัคซีน การกักตัวก็คงจะทำแบบนักท่องเที่ยว ไม่ต้องกักในโรงพยาบาล อาจจะเป็นในโรงแรมในเขตเฉพาะ เช่น ในภูเก็ต ก็ให้กักอยู่ในเฉพาะภูเก็ตไม่ต้องให้เดินทางไปที่อื่น ควบุคมเป็นจุด ๆโควิดรักษาได้ สิ่งที่ร้ายกว่าคือแพร่กระจายได้ เพราะฉะนั้นต้องให้อยู่กับที่ ที่จะสามารถบริหารจัดการได้ ส่วนคนในพื้นที่ก็ต้องฉีดวัคซีน และใส่หน้ากาก รัฐบาลก็ต้องระวัง เพราะครั้งนี้คนจำนวนมาก เชื่อว่ารัฐบาลทำเฉพาะที่ไม่ให้ห้ามกระจาย แต่ห้ามไม่ได้หมด
-ความพยายามของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้านที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา
การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราสามารถเสนอได้เรื่อยๆ แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีการพูดคุยร่วมกันทุกฝ่ายจนตกผลึกการแก้ไขก็จะง่ายกว่า แต่ที่ผมสังเกตยังไม่ทันไรก็เสนอมาแล้ว เป็นการโยนหินถามทาง แต่ผมเห็นว่าฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ว. ควรจะมีการพูดกันก่อนการแก้ไขจะง่ายกว่าการนำเข้าที่ประชุมรัฐสภา ส่วนจะมีการเสนอตัดอำนาจของส.ว.ในการเลือกนายกฯก็สามารถเสนอได้ ส.ว.พร้อมที่จะรับฟังเหตุผล
-มองการทำงานร่วมกันของรัฐสภาหลังจากนี้จะราบรื่นหรือไม่
ถ้าอยากจะให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ ต้องยอมพูดคุยกัน ทำความเข้าใจ ส่วนกฎหมายต่างๆไม่มีอะไรไม่มีปัญหา ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องไม่พอใจรัฐบาลมากกว่า
-มองว่าการทำงานของรัฐสภาเล่นเกมกันเมืองกันมากเกินไปหรือไม่
ที่ผ่านมารัฐสภาเป็นเรื่องของการเมือง ถ้าต้องการในเรื่องของอำนาจมากเกินไปก็จะเกิดความขัดแย้ง ทางการเมืองกันมากขึ้น ซึ่งก็เป็นแบบนี้ ถ้าได้มีการพูดคุย ทำความเข้าใจมากขึ้น เพราะการทำงานจะเชื่อมโยงกับฝ่ายบริหาร ถ้าทุกอย่างมีการพูดคุยก็จะทำงานกันด้วยดี แต่ถ้าเห็นด้วยกันทุกเรื่องก็จะเป็นเผด็จการรัฐสภา ซึ่งเราก็ไม่ต้องการเช่นนั้น ประชาชนก็พูดอะไรไม่ได้เลย
จึงขอฝากถึงพี่น้องประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์อยากจะขอร่วมมือจากพี่น้องประชาชนให้เล่นสงกรานต์อยู่ในขอบเขต ของการป้องกันโรคโควิด การประแป้งกันก็อย่าใกล้ชิดกัน น้ำที่จะใช้สาดกันก็ขอให้เป็นน้ำสะอาด ต้องยอมคิดว่าเราเสียสละไว้ก่อน