เมื่อวันที่ 11 เม.ย. นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์บทความในเพจเฟซบุ๊กว่ามีคนเคยถามผมว่า #ดรไตรรงค์กำลังกลัวอะไร… บทความนี้ คือ คำตอบของผมครับ (บทความนี้ค่อนข้างยาวเพราะจะมีทั้งสิ้น 15 ข้อนะครับ ถ้ามีคนอ่านจบเพียง 3 คน ผมก็ดีใจแล้ว) 1) ผมเคยเดินทางไปศึกษาเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศในลาตินอเมริกา โดยเริ่มต้นจากการไปศึกษาเรื่องดังกล่าวกับนักวิชาการในสถาบันของสหประชาชาติที่ประจำอยู่ที่กรุงซานติอาโก (Santiago) ประเทศชิลี (CHILE) เมื่อได้ข้อมูลทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาแล้ว ผมก็จะหาข้อมูลเพิ่มเติมจากการอ่านหนังสือจำนวนมากพอสมควรก่อนจะตัดสินใจเดินทางไปดูของจริง พบปะกับนักการเมืองและนักวิชาการในประเทศที่ผมเลือกจะศึกษา คือประเทศเม็กซิโก อาร์เจนตินา และเปรู ข้อมูลที่ผมได้มาผมได้นำไปปรึกษากับศาสตราจารย์หลายท่านที่ทำการศึกษาในเรื่องนี้ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) เมื่อตอนผมเข้าศึกษาในโครงการพิเศษว่าด้วยเรื่อง “ความเป็นผู้นำ (Leadership)” ในปลายปีพ.ศ. 2554    ผลของการศึกษาทั้งหมดก็จะเลือกมาเล่าให้ FC ฟัง  (หมายเหตุ : ถ้ามีคนอ่านจบสัก 3 คน ผมก็ดีใจแล้วครับ) โดยจะเลือกเฉพาะประวัติศาสตร์ของประเทศเม็กซิโกเป็นประเทศแรกดังต่อไปนี้ครับ 2) ตั้งแต่กองทัพประชาชนเพื่อกู้เอกราช นำโดยนายพลฮัวเรซ (JUAREZ) และนายพลดิอาซ (DIAZ) สามารถขับไล่กองทัพฝรั่งเศสที่มายึดครองเม็กซิโกเป็นเมืองขึ้นออกไปได้ใน ค.ศ. 1866 เป็นครั้งแรกที่ได้เอกราชอย่างสมบูรณ์หลังจากนั้นก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ นายพลฮัวเรซลงสมัครรับเลือกตั้งชนะด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกของเม็กซิโก ได้รับเลือกตั้งถึง 2 สมัย คือ ค.ศ. 1867 และ 1871 การทำงานหนักเกินไปจึงเสียชีวิตเพราะโรคหัวใจวาย นายพลดิอาซ (DIAZ) จึงขึ้นรับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีแทน 3) ปี ค.ศ. 1876 ประธานาธิบดีดิอาซ ยึดอำนาจตนเองประกาศเป็นเผด็จการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งต้องดำรงตำแหน่งได้เพียงสมัยเดียว (NO RE-ELECTION) เป็นที่ชื่นชมของประชาชนจำนวนมาก หลังจากนั้นท่านประธานาธิบดีดิอาซ ก็ลงเลือกตั้งได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเป็นประธานาธิบดีอยู่ 4 ปี พอถึง ค.ศ. 1880 ท่านดิอาซก็ไม่ลงสมัคร ประกาศสนับสนุนให้คนใกล้ชิดของตนคือนายกอนซาเลซ ลงสมัครเป็นประธานาธิบดีก็ชนะด้วยเสียท่วมท้นอีก แต่การบริหารราชการแผ่นดินจริงๆ นั้นก็คือนายพลดิอาซที่คอยสั่งการอยู่ข้างหลังไม่ว่าจะเป็นการโยกย้ายแต่งตั้งนายพลในทั้ง 3 กองทัพ รวมทั้งในกรมตำรวจ ผู้จะดำรงตำแหน่ง กกต. เป็นต้น อยู่ต่อมาอีก 4 ปี คือ ค.ศ. 1884 ท่านดิอาซ (DIAZ) ก็ประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เขาก็ชนะด้วยเสียงท่วมท้นหลังจากนั้นเขาก็ได้กระชับอำนาจของตนด้วยนโยบายหลายวิธี เช่น 3.1) แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีเป็นติดต่อกันหลายสมัยได้ 3.2) กระชับการนำนายพลทหารทั้ง 3 กองทัพมาเป็นลูกน้องโดยเขาบอกพรรคพวกว่าต้องให้เงินแก่นายพลทั้งหลายให้มากๆ จนเขาพอใจที่จะไม่เป็นศัตรูกับเรา เขาพูดแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “The dog with the bone in it’s mouth cannot bark and bite” แปลเป็นไทยได้ว่า “หมาที่มีกระดูกอยู่ในปาก จะทำให้มันไม่สามารถเห่าและกัดได้” ) ให้มีการจัดตั้งกองทัพประชาชน โดยการซื้ออาวุธปืนที่มีคุณภาพสูงให้แก่หัวคะแนนไว้ควบคุมคะแนนเสียงในทุกตำบล 3.4) ใช้นโยบายประชานิยมโดยการแจกเงินเสมือนเป็นเงินเดือนให้หัวคะแนน และให้หัวคะแนนประจำตำบลทำโครงการเพื่อเอาใจคนในตำบลโดยเสนอโครงการโดยตรงให้รัฐบาล ประชาชนจะพอใจ และหัวคะแนนก็จะได้หาเศษหาเลยจากโครงการเหล่านั้นด้วย 3.5) ออกกฎหมายให้ต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ไม่ว่าจะเพื่อทำการเกษตรหรืออุตสาหกรรม แต่ต่างชาติเหล่านั้นต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้แก่ประธานาธิบดี เขาจึงเป็นคนที่มีเงินมากมายมหาศาล ไม่มีคู่แข่งการเมืองใดๆ จะสู้ได้ 3.6) เมื่อ กกต. ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นล้วนเป็นคนของประธานาธิบดี การเลือกตั้งทั้งระดับชาติ (ส.ส. หรือ ส.ว.) และระดับท้องถิ่น เช่น ผู้ว่าราชการรัฐ และนายกเทศมนตรี ท่านดิอาซก็แทบจะกำหนดได้เกือบ 100% โดยใช้ทั้งเงินซื้อเสียง+อำนาจปืน+อำนาจการโกงการนับคะแนนการเลือกตั้ง 4) โดยวิธีนี้ท่านดิอาซ (DIAZ) จึงสามารถชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้ถึง 7 ครั้ง ครองอำนาจอยู่ถึง 30 ปี (ค.ศ. 1880 - 1910) 5) ค.ศ. 1910 เกิดมีเด็กหนุ่มหัวก้าวหน้ามีไฟแรงจากครอบครัวที่ร่ำรวยชื่อ Francisco I. Madero ขอเรียกสั้นๆ ว่า นายมาเดโร่ เขาประกาศลงสมัครเป็นประธานาธิบดีแข่งกับท่านดิอาซ เขาได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง เพราะเขาประกาศจะปฏิรูปที่ดินให้ต่างชาติถือครองได้น้อยลงให้คนเม็กซิกันที่ไม่มีที่ดินจะได้มีที่ดินทำกินและจะปรับปรุงรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เขาชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1913 (ทั้งๆที่ถูกกลั่นแกล้งขัดขวางทุกประการจากนายพลดิอาซและพรรคพวก) แต่ก็ปฏิรูปอะไรไม่ได้เลยเพราะสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่เป็นคนของท่านนายพลดิอาซ (DIAZ) เมื่อแก้อะไรไม่ได้ ประชาชนก็เริ่มเบื่อเขา ท่านดิอาซจึงให้นายพลเฮอร์ต้า (HUERTA) ผบ.ทบ. ยึดอำนาจและฆ่าประธานาธิบดีมาเดโร่และรองประธานาธิบดีเสีย นายพลเฮอร์ต้าก็ตั้งตัวเองเป็นประธานาธิบดีภายใต้การสนับสนุนของนายพลดิอาซและรัฐบาลเยอรมัน 6) ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศคว่ำบาตรไม่รับรองรัฐบาลของนายพลเฮอร์ต้า สหรัฐจึงแอบสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองโจรขึ้นหลายกลุ่มเพื่อให้ทำสงครามรบกับกองทัพแห่งชาติของนายพลเฮอร์ต้า นายพลเฮอร์ต้าจึงต้องหนีออกนอกประเทศ สหรัฐฯ ก็ประกาศแต่งตั้งหัวหน้ากองโจรที่ใหญ่ที่สุดคือนายคารันซ่า (CARRANZA) ขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1914 และหลังจากนั้นประธานาธิบดีใหม่ก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ปี ค.ศ. 1917 โดยการนำข้อเรียกร้องของกลุ่มโจรต่างๆ มาบรรจุเป็นนโยบายแห่งรัฐ เช่น การจำกัดการถือครองที่ดินของคนต่างชาติ การให้หลักประกันสังคมแก่แรงงาน นโยบายปฏิรูปที่ดินให้คนจน การยกฐานะหญิงให้เท่ากับชาย การปฏิรูปการศึกษาให้เยาวชนได้ศึกษาฟรีจนถึง ม.3 เป็นต้น 7) แม้นโยบายจะดีแต่การแบ่งผลประโยชน์ให้แก่ผู้นำกองโจรทั้งหลายไม่ลงตัว ทำให้กองโจรต่างๆ ประกาศเลิกสนับสนุน ประกาศเป็นศัตรูกับรัฐบาลจนถึงปี ค.ศ. 1920 ผบ.ทบ. ชื่อนายพลอ๊อปเรกอน (Obregon) ก็เข้ายึดอำนาจ ฆ่าประธานาธิบดี CARRANZA และตั้งตัวเองเป็นประธานาธิบดี 8) ค.ศ. 1924 ประธานาธิบดี Obregon ก็ประกาศสนับสนุนให้คนใกล้ชิดของเขาคือ นายคาลเลซ (CALLES) ลงสมัครเป็นประธานาธิบดี โดยมีนโยบายจะปฏิรูปทุกอย่างตามที่ระบุไว้ว่าเป็นนโยบายแห่งรัฐในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1917 ท่านนายพล Obregon ก็ได้ใช้ระบบของนายพล DIAZ ที่ได้วางเอาไว้จนทำให้นายคาลเลซ (CALLES) ได้เป็นประธานาธิบดี สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ก็เป็นของรัฐบาล ผู้ว่าราชการมลรัฐต่างๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นของรัฐบาล นายกเทศมนตรีส่วนใหญ่ก็เป็นของรัฐบาล (ซึ่งแน่นอนผ่านการซื้อเสียง การใช้ปืนบังคับ และการนับคะแนนโกง) 9) ค.ศ. 1929 นายพล Obregon และประธานาธิบดีคาลเลซ (CALLES) ก็ได้ร่วมกันประกาศตั้งพรรคการเมืองชื่อว่า PNR โดยได้รวบรวมสมาชิกของกองโจรต่างๆ เข้ามาเป็นสมาชิก และแบ่งตำแหน่งและผลประโยชน์ให้ทุกกลุ่มจนเป็นที่พอใจ กลุ่มโจรทั้งหลายยังได้ทั้งเงินและปืนเพื่อไปควบคุมประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป ทำให้ CALLES ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในปี ค.ศ. 1929 10) ค.ศ. 1934 ประธานาธิบดีคาลเลซ (CALLES) หมดวาระ ประกาศให้คนใกล้ชิดที่ไว้วางใจได้คือนายคาร์ดีน่า (CARDENA) ลงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ซึ่งผลออกมาก็ชนะเสียงท่วมท้นเหมือนเคย ประธานาธิบดีคนใหม่คือคาร์ดีน่าได้กระชับอำนาจการควบคุมประชาชนให้ดียิ่งขึ้น โดยการให้ทุกตำบลจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน (Corporatism) เพื่อให้ทุกตำบลเสนอของบประมาณโดยตรงต่อพรรค PNR ทางพรรคฯ ก็จะนำไปเสนอรัฐสภาให้อนุมัติยอดเงินดังกล่าวเพื่อให้ถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นที่ชอบใจของทั้งหัวคะแนนและประชาชนในทุกตำบลทั่วทั้งประเทศ  จึงต่อจากนี้ไปก็เกิดประเพณีทางการเมืองขึ้นมาอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ให้อดีตประธานาธิบดีที่กำลังจะครบวาระตามรัฐธรรมนูญได้ชี้นิ้วประกาศให้บุคคลใดเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ซึ่งก็จะได้เป็นตามนิ้วที่ชี้ก็โดยผ่านประชาธิปไตยจอมปลอมมาโดยตลอดจนถึงปี ค.ศ. 1946 ก็มีการเปลี่ยนชื่อพรรค PNR เป็นพรรค PRI ผูกขาดอำนาจการเมืองการปกครองมาจนถึง ค.ศ. 2000 โดยผู้สมัครพรรคฯ อื่นๆ ไม่มีทางที่จะได้เป็นประธานาธิบดีเลย 11) ตลอดระยะเวลาของการผูกขาดอำนาจทางการเมืองและการปกครอง นำโดยประมุขของประเทศที่เรียกกันว่า “ประธานาธิบดี” ตั้งแต่ ค.ศ. 1911 จนถึง ค.ศ. 1994 กินเวลาประมาณมากกว่า 80 ปี ตัวประธานาธิบดีเองซึ่งเป็นประมุขของรัฐจะใช้นโยบายกระชับฐานอำนาจเพื่อรักษาอำนาจของตนและพรรคพวกผ่านการเลือกตั้งจอมปลอมพอเป็นหน้าฉากไว้อ้างว่าประเทศของตนเป็นประชาธิปไตย วิธีการนี้ในทางรัฐศาสตร์เรียกว่าเป็นระบบเผด็จการทางรัฐสภา (TOTALITARIANISM) ซึ่งจะกระทำเช่นนั้นได้ พวกเขาต้องกระทำการหลายอย่างดังต่อไปนี้ 11.1) ต้องยึดกองทัพทั้งสามไว้ให้ได้ (รวมทั้งกองกำลังของตำรวจแห่งชาติ) ซึ่งนายพลดิอาซ (DIAZ) เคยให้นโยบายเอาไว้ว่า “The dog with the bone in it’s mouth cannot bark and bite” แปลเป็นไทยว่า “หมาที่ปากเต็มไปด้วยกระดูกจะไม่สามารถเห่าและกัดได้” ดังนั้นนอกจากจะมีการแจกเงินท่านนายพลทั้งหลายแล้ว รัฐบาลยังต้องทำแกล้งเป็นไม่เห็นถ้าหากมีนายพลซึ่งเป็นพวกของรัฐบาลแอบอยู่เบื้องหลังการค้ายาเสพติดทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ตำรวจ และทหารที่เป็นคนดีแต่ไม่ดูตาม้าตาเรือ อาจจะโดนพวกค้ายาเสพติดยิงตายแล้วก็จับคนยิงไม่ได้ คดีเหล่านี้เกิดขึ้นเนืองๆ 11.2) ต้องยึดพวกอัยการไว้เป็นพวกให้ได้ ซึ่งก็คงใช้ยุทธวิธีแบบที่ใช้กับทหารและตำรวจในข้อ 11.1) 11.3) ประธานาธิบดีเป็นประมุขสูงสุดย่อมมีอำนาจตามกฎหมายในการแต่งตั้งผู้พิพากษาอยู่แล้ว โดยเฉพาะคณะตุลาการในศาลฎีกาหรือศาลสูง (SUPREME COURT) 11.4) การควบคุมประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องใช้ทั้งเงินและปืนจึงจะกำหนดได้ว่าจะให้ประธานาธิบดีได้คะแนนเสียงเท่าใด ให้ได้ ส.ส., ส.ว. จำนวนเท่าใด ให้ได้ผู้ว่ามลรัฐและนายกเทศมนตรีจำนวนเท่าใด 11.5) คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ทุกระดับต้องเป็นคนของประธานาธิบดี เพื่อจะได้เปิดโอกาสให้พรรคของประธานาธิบดีทำผิดกฎหมายเลือกตั้งได้ และคอยจับผิดพรรคที่เป็นฝ่ายตรงกันข้าม 12) เมื่อทำทุกอย่างครบทั้ง 5 ข้อดังอธิบายไว้ในข้อ 11 ก็สามารถจะมั่นใจได้ว่าการเมืองการปกครองภายใต้การนำของประมุขแห่งรัฐที่เรียกว่า “ประธานาธิบดี” นั้น จะไม่มีทางที่จะมีหลักนิติธรรม หลักศีลธรรม และหลักมนุษยธรรม ในระดับมาตรฐานของโลกได้เลย ตัวอย่างเช่น เฉพาะในการเลือกตั้งระดับชาติแต่ละครั้งจะมีการฆ่าทั้งหัวคะแนนและผู้สมัครทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก ผู้สมัครอาจจะตายเป็นร้อย แต่หัวคะแนนอาจจะตายเป็นพันๆ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในประวัติศาสตร์การเมืองของเม็กซิโก 13) ระยะแรกรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานาธิบดีอยู่ในวาระ 4 ปี ต่อมาก็แก้เป็น 6 ปี แต่ที่สำคัญกว่าจำนวนปีก็คือประเพณี DIDAZO กล่าวคือ เมื่อประธานาธิบดีคนใดกำลังจะหมดวาระตามรัฐธรรมนูญก็จะมีการประชุมใหญ่ของพรรคฯ (CONUENTION) ประธานาธิบดีจะกล่าวสุนทรพจน์อำลาและจะจบลงโดยการใช้มือชี้ (DILDO) ไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่จะให้สืบอำนาจต่อไป บุคคลที่ถูกชี้นั้นจะเรียกกันว่า DIDAZO ด้วยวิธีการนี้ จะทำให้ตัวประธานาธิบดีคนที่กำลังจะจากไปจะได้มั่นใจได้ว่า ประธานาธิบดีคนใหม่จะช่วยปกป้องไม่ให้ใครมาขุดคุ้ยสิ่งที่ตนทำผิดกฎหมาย ผิดหลักนิติธรรม และผิดหลักมนุษยธรรมเอาไว้ 14) ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ เช่น ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1988 มีการแข่งขันต่อสู้กันอย่างเข้มข้นระหว่างตัวแทนพรรค PRI คือ นายซาลีนาซ (SALINAS) ซึ่งต้องลงแข่งขันกับนายคาร์ดีนาซ (CARDINAS) ซึ่งเป็นลูกชายของอดีตประธานาธิบดีของพรรค PRI เขาลาออกจากพรรค PRI ลงมาสู้กับผู้สมัครของพรรค PRI เพราะต้องการทำลายการผูกขาดทางการเมือง เขาจึงได้รับการสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้านทุกพรรค  แต่เนื่องจาก กกต. ผู้ว่าราชการ นายกเทศมนตรี สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ ทหาร และตำรวจส่วนใหญ่ยังเป็นคนของพรรค PRI ผลการเลือกตั้งที่ กกต. ประกาศก็คือ SALINAS  จากพรรค PRI ได้เสียง 50% แต่คาร์ดินาซได้เพียง 30% ทั้งๆ ที่ NGO จากต่างประเทศทั่วโลกที่ไปสังเกตการณ์ (ทั้งการหาเสียง การลงคะแนน และการนับคะแนน) เห็นว่า นาย CARDINAS เป็นผู้ชนะแต่ถูกโกงโดยการนับคะแนน แม้แต่หนังสือไทม์ (TIME MAGAZINE) ก็ทำเป็นสารคดีสืบเนื่องจากภาพหน้าปก เพื่อแฉให้ดูว่าวิธีการโกงการนับคะแนนนั้นเขาทำกันอย่างไร 15) เมื่อ Salinas อยู่ครบ 6 ปี ในฐานะเป็นประธานาธิบดี เขาก็ใช้วิธีตั้ง DIDAZO โดยชี้นิ้วไปที่อกของนายโคโลซิโอ (COLOSIO) ซึ่งเป็นคนสนิทที่เขาไว้วางใจ เพื่อให้ลงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 1994 ก็โดยหวังจะให้นาย COLOSIO ช่วยปกปิดความผิดและความชั่วของตนเอาไว้ แต่ในครั้งนี้เกิดมีคนที่รักชาติขึ้นหลายกลุ่มต้องการจะปฏิรูปประเทศ คงทนไม่ไหวอีกต่อไป ดังนั้นในระหว่างที่กำลังหาเสียงอยู่ในตอนเช้าของวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1994 ก็มีคนแอบยิงนาย COLOSIO จนถึงแก่ความตาย พรรค PRI หาผู้สมัครใหม่มาแทนไม่ได้ เพราะรัฐมนตรีที่รักษาการณ์อยู่ถูกห้ามโดยกฎหมายมิให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี คงเหลืออดีตรัฐมนตรีอยู่เพียงคนเดียว ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีของประธานาธิบดี SALINAS แต่ทนดูพฤติกรรมของ SALINAS ไม่ไหว จึงขอลาออกไปทำงานอย่างอื่นให้แก่พรรค PRI พรรค PRI จึงจำใจต้องเชิญบุคคลผู้นี้คือซาดิลโล่ (ZADILLO) ให้ลงสมัครเป็นประธานาธิบดีในนามของพรรค PRI เมื่อผลออกมาปรากฏว่า ZADILLO ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี เขาก็จัดการอย่างกว้างขวางเพื่อทำลายระบอบผูกขาดทางการเมืองของพรรค PRI เขาขอความร่วมมือจากตำรวจสากลขุดคุ้ยคดีต่างๆ และตามยึดทรัพย์ของอดีตประธานาธิบดี SALINAS ที่หนีออกไปอยู่ต่างประเทศและนำเงินที่โกงไปหลายหมื่นล้านนำไปแอบฝากไว้ทั้งที่ในธนาคารประเทศสวิสและธนาคารในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ส่วนในประเทศเม็กซิโกเองก็ได้เกิดการฆ่าล้างแค้นล้างบางกันสนั่นทั้งประเทศ เช่น น้องเขยของ SALINAS ถูกฆ่าตาย (หาคนฆ่าไม่เจอ) พี่ชายของ SALINAS ชื่อ RAUL SALINAS ถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุก 50 ปี ฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา น้องชายอีกคนของ SALINAS คือ ENRIQUE SALINAS ถูกถุงพลาสติกครอบหัวและรัดคอตายอยู่ในรถเก๋งส่วนตัว ผลงานการปฏิรูปโดยประธานาธิบดี ZADILLO มีผลทำให้การเมืองในเม็กซิโกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น (โดยเฉพาะการปฏิรูป กกต.) ในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 2000 จึงเป็นครั้งแรกที่ผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้านคือพรรค PAN ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี(ภายหลังปี ค.ศ. 2000ประธานาธิบดี ZADILLO ได้ลี้ภัยไปเป็นศาสตราจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยYALEสหรัฐอเมริกา) #สรุปทั้งหมดที่เล่ามา เพื่อให้เป็นตัวอย่างของการสรรหาประมุขของประเทศ สำหรับประเทศที่ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นรากแก้วของประเทศ จะเห็นได้ว่ามันจะเต็มไปด้วยความสกปรก ไร้ธรรมาภิบาล ไร้หลักนิติธรรม และไร้มนุษยธรรม เหตุการณ์คล้ายๆ กันก็เคยเกิดขึ้นในประเทศอาร์เจนตินา สมัยประธานาธิบดีเปรอง (PERON) และเคยเกิดขึ้นในประเทศเปรู สมัยประธานาธิบดีฟูจิมูริ (FUJIMURI) จะต่างกันตรงที่องค์กรไล่ล่าคู่ต่อสู้ทางการเมืองของเปรอง ชื่อว่า หน่วย NLA และหน่วยไล่ล่าดังกล่าวของฟูจิมูริชื่อหน่วย SIN  และจะน่าเศร้ามากยิ่งขึ้นถ้าศึกษาให้เห็นถึงการสรรหาประมุขของประเทศ (ที่เรียกว่าประธานาธิบดี) จนเกิดความแตกแยกนิรันกาลอย่างที่เกิดขึ้นในปากีสถาน บังคลาเทศ และเวเนซุเอลา เป็นความโชคดีของประเทศไทยแล้ว ที่เราไม่ต้องมาแข่งขันเลือกตั้งเพื่อหาประมุขของประเทศ เพราะเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขภายใต้การปกครองในระบบรัฐสภาเหมือนประเทศอังกฤษ ที่กษัตริย์จะไม่ก้าวก่ายการบริหารราชการของรัฐบาลแต่ยังคงมีสิทธิและอำนาจในการให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลเมื่อเห็นว่าชาติกำลังจะมีภัย (PREROGATIVE) แต่ก็มีบางครั้งที่เคยฉายแสงความชั่วร้ายของระบบเผด็จการรัฐสภาได้เคยเกิดขึ้น กล่าวคือ อดีตนายกรัฐมนตรีสามารถชี้นิ้ว (DILDO)มาจากต่างประเทศ เพื่อตั้ง DIDAZO ให้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศได้ถึง 3 ครั้ง อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในทางเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท มีการฆ่าคนตายไปหลายร้อยคนโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมอย่างที่รู้ๆกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผมจึงยังเห็นว่า #ประเทศไทยโชคดีมากที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างน้อยเราก็จะไม่มีวันที่จะมีประมุขของรัฐไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่นร่วมกับพวกนักการเมืองและข้าราชการกังฉินและก็ไม่มีทางที่ประมุขของเราจะไปหาประโยชน์จากขบวนการค้ายาเสพติด และปล่อยให้ทหารตำรวจดีๆ ถูกขบวนการอุบาทว์เหล่านั้นฆ่าตายอย่างน่าเวทนา เพราะประมุขของเราไม่ต้องใช้เงินสกปรกในการรักษาตำแหน่งของตน เป็นตำแหน่งที่ชอบธรรมทางประวัติศาสตร์ที่ประชาชนรักและหวงแหนให้ดำรงอยู่ เพราะเป็นจิตวิญญาณของสังคมไทยมาแต่โบราณกาลที่ต้องการเช่นนั้น เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจดุจรากแก้วของประเทศในการสานคนในชาติให้เกิดความสามัคคีเป็นชาติเดียวกัน ใครก็ตามที่มีส่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องพึงระวังเอาไว้ว่าอย่าไปสร้างเงื่อนไขเปิดโอกาสให้นักการเมืองเลวสร้างระบบ DIDAZO ขึ้นมาเพื่อเอาไว้ป้องกันมิให้มีการขุดคุ้ยการกระทำผิดกฎหมายของบุคคลผู้ชี้นิ้ว (DILDO) มิฉะนั้นประเทศก็จะต้องประสบกับความเสียหาย ไร้หลักนิติธรรม ไร้ศีลธรรม และไร้มนุษยธรรม เพราะที่ Mexico ในอดีตกาล เผด็จการเขาใช้หลักที่ว่า #หมาที่มีกระดูกอยู่ในปากจะไม่เห่าและจะไม่กัด แต่ในประเทศไทยนั้น #หมาที่ได้กระดูกมันจะทั้งเห่าและทั้งกัดคนที่ขัดผลประโยชน์ของเจ้านายผู้ให้กระดูกมัน พวกเขาต้องการสร้างประธานาธิบดีที่เป็นเผด็จการรัฐสภาที่คนไทยผู้รู้ทันไม่ควรสนับสนุนและควรช่วยกันขัดขวาง ผมขอเรียนว่าบทความที่ลงในเฟซบุ๊ก เป็น #ความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรคปชป.แต่อย่างใด