จากกรณีที่กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนเรียกร้องสิทธิให้ซื้อวัคซีนเองได้ ตามที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว ว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขยินดีอย่างยิ่ง หากภาคเอกชนจะเข้ามาแบ่งเบาภาระ และที่ผ่านมา ได้ให้เอกชน ไปหารือกับผู้ผลิต หาวัคซีนมาขึ้นทะเบียน และให้บริการ โดยไม่มีการห้าม ประเทศไทย ก็ต้องการมีทางเลือกที่เพิ่มขึ้น หากเอกชนไปหารือกับทางไฟเซอร์สำเร็จ ก็นำมาขึ้นทะเบียนกับ อย.ได้ กระทรวงสาธารณสุข ทำทุกทาง เพื่อให้ไทยได้วัคซีนเข้ามาใช้อย่างเหมาะสม เคยพูดคุยกับผู้ผลิตหลายต่อหลายเจ้า ผู้ผลิตพร้อมขึ้นทะเบียนกับไทย แต่มีเงื่อนไขว่าไทยต้องซื้อวัคซีนเท่านี้ จัดส่งได้ตามระยะเวลานี้ ซึ่งไทยไม่ได้ต้องการขนาดนั้น และระยะเวลาการจัดส่งก็อาจจะช้าไปแล้ว การพูดคุยก็ยุติลง แต่ไทยไม่เคยลดละความพยายามที่จะให้ทางผู้ผลิตมาขึ้นทะเบียน
ปัจจุบัน ไทยขึ้นทะเบียนวัคซีนไป 3 ยี่ห้อ ได้แก่ แอสตราเซนนิกา ซิโนแวค และจอห์นสัน แอนด์จอห์นสัน ซึ่งแบรนด์ตัวสุดท้ายไทย ได้ขอซื้อแล้ว แต่ทางนั้น ส่งวัคซีนได้ช่วงปลายปี ชนกับรอบการผลิตของแอสตราเซนนิกาพอดี ตอนนั้น เราไม่มีความจำเป็นขนาดนั้นแล้ว
สำหรับประเทศไทย แผนการจัดหา วางไว้โดยคำนึงเรื่องของการกลายพนธุ์ของเชื้อด้วย ไทยจึงไม่ซื้อวัคซีนมามากมายมหาศาล แต่เราซื้อให้ทันฉีด ทันใช้ ไม่มีเหลือค้างสต็อกจำนวนมากมาย เพราะเราต้องมีแพลนบี ไว้สำหรับรองรับกรณีเชื้อกลายพันธุ์ ด้วย ไม่ใช่ว่าซื้อวัคซีนมาแล้ว เสียเงินมหาศาล งบหมด ได้วัคซีนมากองกันไว้ แต่ใช้ไม่ได้ เพราะ ไม่ทันกับเชื้อโรค
ส่วนประเด็นเรื่องโรงพยาบาลเอกชน ไม่รับตรวจโควิด 19 ตรงนี้ ได้หารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ปัญหาคือ โรงพยาบาลเอกชน ถ้าตรวจเจอ แล้วต้องรักษา จึงกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งภาครัฐได้เข้าไปคุยแล้วว่าจะจัดการตรงนี้ให้ ปัญหาตรงนี้ น่าจะคลี่คลายในเร็ววันนี้ สำหรับประชาชน โรงพยาบาลของรัฐ ยังให้บริการ ขอให้อ่านข่าวอย่างเข้าใจ เพราะบางคนไปตีความแล้วว่าเตียงไม่พอ โรงพยายาลเอกชนไม่รับตรวจ รับรักษา วิกฤติแล้ว ทั้งที่สถานการณ์ไม่ใช่แบบนั้น