ตามที่ได้มีคำสั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ 7469/2563 เรื่อง มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 คำสั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ 16/2564 (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 4 มกราคม 2564ให้จำกัดเวลาการให้บริการและให้ปิดสถานที่ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง และตามคำสั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ 610/2564 เรื่อง มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ฉบับที่ 31) ลงวันที่ 29 มกราคม 2564 คำสั่งจังหวัดสุราษฏร์ธานี ที่ 1175/2564 (ฉบับที่ 33)ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564และคำสั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ 2069/2564 (ฉบับที่ 35) ลงวันที่ 3 เมษายน 2564 กำหนดมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้ แต่เนื่องจากปัจจุบันพบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยยังไม่ยุติลงและขยายไปในวงกว้างทั่วทั้งภูมิภาค จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง อาศัยอำนาจตามความในข้อ 7 แห่งข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548(ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ข้อ 5 แห่งข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 16) ลงวันที่ 3 มกราคม 2564 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 19)ลงวันที่ 9 เมษายน 2564 ประกอบกับมาตรา 22 มาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 จึงมีคำสั่ง ดังนี้ ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 3 เกี่ยวกับผู้เดินทางกลับจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) และพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) ตามคำสั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ 2069/2564 เรื่อง มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ฉบับที่ 35) ลงวันที่ 1 เมษายน 2564 ข้อ 2 มาตรการเกี่ยวกับผู้เดินเข้าพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก. ผู้ที่เดินทางมากจาก กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และนครปฐม เมื่อเดินทางเข้ามาพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้วจะต้องดำเนินการ ดังนี้ (1) SCAN QR CODE (SAVE SURAT) ตามรายละเอียดแนบท้ายคำสั่งฉบับนี้เพื่อระบุรายละเอียดผู้เดินทางเข้าพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามแบบฟอร์มที่กำหนดก่อนเข้าพื้นที่ หมู่บ้าน/ชุมซน หรือสถานที่อื่นใด แล้วแต่กรณี (2) เมื่อผู้ที่เดินทางกลับจากจังหวัดตามข้อ ก. กลับเข้าถึงพื้นที่ปลายทาง หมู่บ้าน/ชุมชน หรือสถานที่อื่นใด ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าบ้าน หรือเจ้าของสถานที่ หรือเจ้าของสถานประกอบการ หรือ หัวหน้าหน่วยงาน หรือผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครองบ้านในฐานะเป็นเจ้าของ ผู้เช่า หรือในฐานะอื่นใดก็ตาม ต้องรีบไปแจ้ง การเดินทางกลับมาถึงของบุคคลตามข้อ ก. ต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อฯ ในพื้นที่ทราบ ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาทราบ การมาถึงพื้นที่ อาทิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ฯลฯ (3) ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อฯ (สังกัดกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสังกัดกระทรวงมหาดไทย) ในพื้นที่ เข้าไปดำเนินการประเมินความเสี่ยงตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดของบุคคลที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ตามที่เจ้าบ้าน หรือเจ้าของสถานที่ หรือเจ้าของสถานประกอบการ หรือ หัวหน้าหน่วยงาน หรือผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครองบ้านในฐานะเป็นเจ้าของ ผู้เช่า หรือในฐานะอื่นใดก็ตามได้มาแจ้ง ซึ่งหากประเมินแล้วพบว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อฯ ให้แจ้งบุคคลนั้น กักกันตัว อยู่กับบ้านหรือสถานที่ที่ห่างจากบุคคลอื่นตลอดเวลาที่อยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีหรือจนครบ 14 วัน แล้วแต่กรณี และหากพบว่าเป็นผู้เสี่ยงสูงตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ให้รีบแจ้งให้บุคคลนั้นไป ตรวจหาเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านในทันที (4) หากเจ้าบ้าน หรือเจ้าของสถานที่ หรือเจ้าของสถานประกอบการ หรือหัวหน้าหน่วยงาน หรือผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครองบ้านในฐานะเป็นเจ้าของ ผู้เช่า หรือในฐานะอื่นใดก็ตามฝ่าฝืน ไม่รีบไปแจ้งการมาถึงของบุคคลตามข้อ ก. อาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ข. หากมีการประกาศพื้นที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเพิ่มเติมจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) กำหนดพื้นที่การควบคุมสูงสุด (สีแดง) นอกเหนือจากจังหวัดตามข้อ ก. ให้ถือว่าบุคคลที่เดินทางมาจากจังหวัดนั้น 1 และบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องถือปฏิบัติตามข้อ (1) - (4) ด้วยโดยอนุโลม ข้อ 3 มาตรการเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ก. การจัดกิจกรรมการประชุม อบรม สัมมนา การจัดแสดงสินค้า กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม งานเลี้ยงและงานประเพณี ให้ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดโดยเคร่งครัด ดังนี้ (1) ให้ผู้จัดกิจกรรม/ผู้เข้าร่วมถือปฏิบัติตามมาตรการ D M H T T โดยเคร่งครัด D = Distancing เว้นระยะระหว่างกัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น M = Mask wearing สวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย ตลอดเวลา H = Hand washing ล้างมือบ่อย ๆ จัดให้มีจุดบริการเจลล้างมือ อย่างทั่วถึง เพียงพอ = Testing ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ตรวจหาเชื้อโควิด-19 (เฉพาะกรณี) T= Thaichana ติดตั้งและใช้แอปพลิเคชั่นไทยชนะ (2) ให้ควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมิให้แออัด โดยให้ลดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมให้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของขนาดพื้นที่ปกติ และให้จัดโต๊ะ เก้าอี้ ให้มีระยะห่างระหว่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตร ข. การจัดแสดงคอนเสิร์ต และกิจกรรมอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน (1) ให้ผู้จัดกิจกรรม/ผู้เข้าร่วมถือปฏิบัติตามมาตรการ D M H T T โดยเคร่งครัด (2) ให้ควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีให้แออัด โดยให้ลดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมให้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของขนาดพื้นที่ปกติ และให้จัดโต๊ะ เก้าอี้ ให้มีระยะห่างระหว่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตร (3) ห้ามมิให้มีการเต้นรำ หรือรวมตัวกันในลักษณะมั่วสุม ข้อ 4 ให้ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 14 วัน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2564 เป็นต้นไป ประกอบด้วย ก. สถานบริการที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 ทุกแห่ง ข. สถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ได้แก่ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ทุกแห่ง ข้อ 5 ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำที่อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ตามมาตรา 16 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และการดำเนินการตามคำสั่งนี้เป็นกรณีที่มีสถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อย และเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยเนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งตามมาตรา 30 วรรคสอง(1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 อนึ่ง บรรดาคำสั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีหรือประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สุราษฎร์ธานีใดที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงบังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ข้อ 6 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ เป็นความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง สั่ง ณ วันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2564 นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดสุราษฎร์ธานี