เกษตรฯ กำชับชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ตัดทุเรียนคุณภาพเริ่มดีเดย์ 10 เม.ย.นี้ หวังสกัดปมปัญหาทุเรียนอ่อน พร้อมยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยตั้งแต่สวนทุเรียน โรงคัดบรรจุ (ล้ง) และตั้งชุดเฉพาะกิจตรวจสอบ สร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อทุเรียนช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ เมื่อวันที่ 9 เม.ย. นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้เร่งขับเคลื่อนงานส่งเสริมและพัฒนาไม้ผลภาคตะวันออก ปี 2564 โดยคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้มีแผนบริหารจัดการผลไม้ โดยเฉพาะผลผลิตทุเรียนที่เริ่มออกสู่ตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว ภาพรวมผลผลิตทุเรียนปีนี้อยู่ที่ 579,542 ตัน แบ่งเป็น กระจายผลผลิตในประเทศ 115,279 ตัน แปรรูป 55,030 ตัน และส่งออก 409,233 ตัน แต่ปัญหาที่ยังมีอยู่บ้างเป็นเรื่องของการเก็บเกี่ยวให้ได้ระยะที่ถูกต้อง จึงมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ประสานความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก สมาคมทุเรียนไทย ผู้ประกอบการส่งออก ภายใต้การกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อกำหนดแนวทางในการควบคุมป้องกันและแก้ไขทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่ประกาศดีเดย์ให้วันที่ 10 เมษายน 2564 เป็น “วันทุเรียนแก่” ของทุเรียนหมอนทองภาคตะวันออกโดยไม่แยกรายจังหวัด ซึ่งจะเป็นช่วงเน้นหนักในการตรวจสอบคุณภาพ เพื่อให้เกษตรกร ล้ง และผู้ส่งออก รับรู้ทั่วกันอย่างเป็นทางการ ซึ่งหากเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวทุเรียนให้แจ้งความประสงค์ที่กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน หรืออาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เพื่อแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ให้ลงไปตรวจสอบความสุกแก่ของทุเรียนตามมาตรฐานที่กำหนด โดยทุเรียนที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว สำนักงานเกษตรอำเภอจะออกใบรับรองเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียนเฉพาะตัวอย่างแนบไปกับรถขนส่งทุเรียนเข้าโรงคัดบรรจุพร้อมสำเนาใบรับรองแหล่งผลิต GAP พืช เพื่อคุมเข้มสกัดกั้นไม่ให้ทุเรียนอ่อนออกนอกพื้นที่ ส่วนโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ให้แจ้งความประสงค์ที่ด่านตรวจพืชตามพื้นที่ความรับผิดชอบของด่านตรวจพืชแต่ละด่าน โดยให้ด่านตรวจพืชฯ ประสานแจ้งไปยังสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 เพื่อตรวจคุณภาพทุเรียนตามมาตรฐาน ซึ่งโรงคัดบรรจุที่รับซื้อทุเรียนจะต้องตรวจสอบใบรับรองเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียนและสำเนาใบรับรองแหล่งผลิต GAP พืชจากสวนเกษตรกรด้วย เพื่อใช้ในการยื่นต่อด่านตรวจพืชก่อนส่งออก นอกจากนี้ กรมฯ ยังสั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดจัดตั้งจุดเฉพาะกิจตรวจสกัดกั้นทุเรียนอ่อน และสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง จัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังทุเรียนอ่อนเพื่อติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังการตัดทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด ส่วนบทลงโทษการซื้อขายทุเรียนที่เก็บเกี่ยวก่อนระยะเหมาะสม กรณีเกษตรกรจะพิจารณาพักหรือเพิกถอนการใช้ใบรับรองแหล่งผลิต GAP พืช เช่นเดียวกับโรงคัดบรรจุ (ล้ง) จะพักหรือเพิกถอนการใช้ใบรับรองโรงคัดบรรจุ GMP ทั้งนี้ จากผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าว พบว่า เกษตรกรมีความตื่นตัวให้ความร่วมมือในการนำทุเรียนมาให้สำนักงานเกษตรอำเภอตรวจสอบเป็นจำนวนมาก และราคาทุเรียนในพื้นที่ไม่ลดต่ำเหมือนปีที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดและผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในคุณภาพผลผลิต รวมทั้งยังส่งผลถึงภาพลักษณ์คุณภาพทุเรียนไทยก่อนส่งออกต่างประเทศอีกด้วย ด้านนายธีรภัทร อุ่นใจ ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน บริษัท แปลงใหญ่ทุเรียนคิชฌกูฏ จำกัด กล่าวว่า ทางกลุ่มได้มีการประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกในกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนทั้งหมด ทำทุเรียนให้ได้ตามมาตรฐาน GAP ซึ่ง GAP เป็นการสร้างมาตรฐานขั้นต้นสำหรับเกษตรกรชาวสวนโดยทั่วไป เมื่อได้มาตรฐาน GAP เรียบร้อยก็ปฏิบัติตามระเบียบทั้ง 8 ข้อ อันดับแรก คือ เรื่องการจดบันทึกวันที่ดอกบาน สำหรับทุเรียนหากบันทึกวันดอกบานจะรู้ถึงระยะการเก็บเกี่ยวได้อย่างชัดเจน เช่น หมอนทองอายุการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 120 วัน ถ้าส่งออกอยู่ที่ 100 ถึง 110 วัน จะได้ไม่มีปัญหาทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด อันดับสอง สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคโดยกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนจะทำระบบคิวอาร์โค้ดเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้แปะไว้ที่ขั้วของทุเรียน ซึ่งผู้บริโภคจะได้ทราบวันเก็บเกี่ยว รวมถึงรู้ว่าทุเรียนนี้มาจากสวนใครและรับประทานได้วันไหน เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ซื้อทุเรียนในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้