นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 1/2564 ว่า การปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2564 จากคาดการณ์อยู่ที่ 3.2% เหลือ 3% ในปี 2565 จากระดับ 4.8% เหลือ 4.7% จะเห็นว่าการปรับประมาณการครั้งนี้ยังไม่ได้นำปัจจัยการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 เข้ามารวมในการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจครั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์เพิ่งเกิดขึ้น โดย ธปท.อาจต้องรอติดตามพฤติกรรมของประชาชน และมาตรการของภาครัฐที่จะออกมาพิจารณาด้วย ทั้งนี้ ธปท.ได้มีการทำแบบจำลองภายใต้สมมติฐาน 2-3 แบบคือ กรณีไทยมีการระบาดของโควิด-19 นระลอก 3 ในช่วงครึ่งของปีนี้ และวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้การเปิดประเทศเลื่อนออกไปเป็นปี 2565 และกรณีไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์รุนแรงจนวัคซีนปัจจุบันใช้ไม่ได้ผล และต้องมีการพัฒนาคิดค้นวัคซีนใหม่ และเกิดการระบาดทั่วโลกระทบ Global Supply Chain จนทำให้การเปิดประเทศอาจต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 2566 ซึ่งภายใต้สมมติฐานดังกล่าวจะทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะหดตัวรุนแรงใกล้เคียงกับการระบาดรอบแรกได้ “ประมาณการเศรษฐกิจที่ออกมาครั้งนี้ยังไม่รวมปัจจัยการระบาดระลอก 3 เข้าไป แต่เราได้มีการทำสมมติฐานไว้ เพราะเราไม่รู้ว่าโควิด-19 จะกลับมาเมื่อไรก็ได้ เราจึงมีการทำแบบจำลองไว้กรณีสีส้มและสีแดง แต่ยังไม่สามารถประมาณการได้ เพราะเราต้องดูการยับยั้งการระบาดว่ามีการเข้มข้นมากน้อยเพียงใด จะดำเนินการป้องกันการระบาดแบบไหน และประชาชนจะมีความระมัดระวังขนาดไหนทำให้การท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ลดลงหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่เราตามดูอยู่” น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การปรับประมาณการอัตราการเติบโตจาก 3.2% เหลือ 3% ปัจจัยสำคัญมาจาก 4 ข้อด้วยกันคือ 1.การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงปลายปี 2563 ซึ่งกระทบไตรมาสที่ 1 ปีนี้ แม้ว่าจากข้อมูลเร็วเครื่องชี้เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว 2.การฟื้นตัวไม่ทั่วถึง โดยมีการปรับจำนวนนักท่องเที่ยวจาก 5.5 ล้านคน เหลือ 3 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการฉีดวัคซีนที่คาดว่าจะฉีดได้ 30-50% ของประชาชกร ทำได้ช้าลง คาดว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้วไม่ต้องกักตัว 14 วัน แต่จากข้อมูลพบว่ายังคงต้องกักตัว ทำให้การเปิดรับนักท่องเที่ยวอาจจะต้องเลื่อนออกไป 3.เศรษฐกิจโลกขยายตัวดีทุกประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินมหาศาลและมาตรการต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อประเทศคู่ค้าและส่งออกของไทย 4.มาตรการภาครัฐของไทยยังคงมีบทบาทสำคัญ โดยจะเห็นว่าในไตรมาสที่ 1-2 ภาครัฐมีมาตรการออกมาค่อนข้างหลายโครงการ ทำให้ภาครัวเรือนและภาคธุรกิจมีเบาะรองรับ ทั้งนี้มองภาพเศรษฐกิจไปข้างหน้ายังคงมีความเสี่ยงของการระบาดโควิด-19 ที่จะมาเมื่อใดก็ได้ ซึ่งหากรวมปัจจัยการระบาดระลอก 2 ส่งผลให้จีดีพีหดตัว-1.1% แต่หากรวมปัจจัยบวกเรื่องการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าที่มีผลบวกต่อการส่งออก และมาตรการภาครัฐที่ช่วยประคองเศรษฐกิจ ส่งผลให้อัตราการเติบโตจีดีพีหดตัวสุทธิ-0.2% จากระดับ 3.2% เหลือ 3% “หากดูการเติบโตไตรมาสที่ 1 ปีนี้ เทียบกับปีก่อนจะเห็นว่าปีก่อนเศรษฐกิจยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดรอบแรก ทำให้เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จะเห็นจีดีพีเติบโตหดตัวติดลบ เช่นเดียวกับหากเทียบไตรมาสก่อนหน้าก่อนก็หดตัวติดลบ และหากดูแนวโน้มไตรมาสที่ 2 จะต้องรอดูผลการระบาดรอบ 3 ซึ่งตอนนี้ยังเร็วเกิน เพราะต้องดูการปรับตัวของประชาชนและมาตรการภาครัฐ”