สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เปิดเผยรายงานประเมินการกีดกันทางการค้ากับประเทศคู่ค้า ประจำปี 2564 (2021 National Trade Estimate Report on FOREIGN TRADE BARRIERS) หนึ่งในนั้นคือ ประเทศไทย ที่สหรัฐระบุว่ามีรายการที่เข้าข่ายการกีดกันทางการค้า โดยยกประเด็นไทยผูกพันอัตราภาษีกับองค์การการค้าโลก (WTO) ที่ 75.2% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 27.9% ซี่งกลุ่มสินค้าที่มีอัตราสูงนี้ ถือเป็นการขัดขวางการเข้าถึงตลาดของสินค้าสหรัฐหลายรายการ
นอกจากนี้ ยังระบุถึงการห้ามนำเข้า จำหน่าย และมีปนเปื้อนในอาหาร จาก 3 สารเคมี พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตที่กำหนดให้เป็นบัญชีสารพิษอันตราย ซึ่งจะส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ, การห้ามนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศที่อนุญาตให้มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างสหรัฐ, การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่ไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจับตามมอง (Watch List in the Special 301 Report) และยังอ้างความเป็นห่วงในกฎหมายหลายฉบับของไทยที่เป็นอุปสรรคการค้า
หัวข้อที่น่าติดตามและเรียกว่าเป็นมหากาพระหว่างสหรัฐฯกับไทย หนีไม่พ้นเรื่อง “ห้ามนำเข้าหมูสหรัฐที่มีสารเร่งเนื้อแดง” ซึ่งรายงานฉบับดังกล่าว ระบุไว้ว่า ไทยมีการเข้มงวดการนำเข้าเนื้อสุกร นับตั้งแต่ปี 2555 หลังจากที่หน่วยงานมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ โคเด็กซ์ (CODEX) กำหนดมาตรฐานห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในหมู โดยไทยได้นำประเด็นนี้มาเป็นเหตุผลห้ามนำเข้าเนื้อหมูจากประเทศที่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูได้ หนึ่งในนั้นคือสหรัฐฯที่เกษตรกรสามารถใช้สารนี้ได้อย่างอิสระ
เท่ากับว่าไทยยืนหยัดคัดค้านเรื่องนี้มาตลอดเวลากว่า 9 ปี เพราะไม่ต้องการให้ชิ้นส่วนและเครื่องในหมูจากสหรัฐที่อุดมไปด้วยสารเร่งเนื้อแดงเข้ามาทำร้ายสุขภาพคนไทยและทำลายอุตสาหกรรมหมูไทย เพราะทั้งหัว ขา โดยเฉพาะเครื่องใน นั้นมีการตกค้างของสารเร่งเนื้อแดง และทั้งหมดคือส่วนที่คนอเมริกันไม่กิน จึงไม่ต่างจากการเปิดรับขยะของคนอเมริกัน และการเลี้ยงหมูของสหรัฐฯที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทยมากกว่าครึ่งนั้น ย่อมกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของหมูไทยอย่างแน่นอน
ความพยายามของไทยด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยทางอาหาร ทำให้สุดท้ายสหรัฐฯต้องพับแผนต่อสู้มาตลอด จนกระทั่งครั้งนี้ ภายใต้การนำของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 46 รุกหนัก โดยอ้างถึงปี 2562 ที่ไทยและสหรัฐฯ มีข้อตกลงร่วมกันในการทบทวนการจัดการเรื่องเกณฑ์การใช้สารเร่งเนื้อแดง แม้ว่ากระบวนการจะขาดความต่อเนื่อง จนถึงเดือนตุลาคม 2563 ที่อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ทรัมป์ ได้เพิกถอนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ CGP กับไทย ในฐานะประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าจากสหรัฐฯ โดยอ้างเรื่องการกีดกันหมูสหรัฐเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการตัดสินใจในครั้งนี้
การใช้เรื่องการตัดสิทธิ GSP เป็นเครื่องมือกดดันไทยอย่างหนักในครั้งนั้น ไม่ทำให้ไทยหวั่นวิตก รัฐบาลยังคงเดินหน้าคัดค้าน ด้วยเหตุผลการปกป้องคนไทยทุกคนจากพิษภัยของสารเร่งเนื้อแดง ตราบใดที่ไทยกับสหรัฐฯ ยังมีการเลี้ยงหมูที่แตกต่าง วันนี้สหรัฐฯยังใช้สารปรับสภาพซาก คือ สารเร่งเนื้อแดง-แร็กโตพามีน (Ractopamine) ได้อย่างปกติ ในขณะที่ไทยถือว่าสารนี้เป็นสารต้องห้ามตามกฎหมาย 2 ฉบับ ทั้งประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงเป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์ พ.ศ.2545 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องมาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ พ.ศ.2546 กลายเป็นข้อกำหนดที่ไม่สอดคล้องกัน
ดังนั้นการผลักดันหมูที่มีสารเร่งเข้ามาในไทย จึงเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ทั้งในแง่กฎหมาย และสุขภาพของคนไทย รัฐบาลไทยต้องยืนหยัดปกป้องคนไทย ต้องไม่ยอมให้เนื้อหมูสหรัฐเข้ามาขายปะปนกับหมูไทย ที่ขึ้นชื่อในเรื่องอาหารปลอดภัยที่สุดในภูมิภาคและในระดับโลก จากผลผลิตหมูคุณภาพดี สะอาด ปลอดภัย ปลอดโรค โดยเฉพาะ ASF ซึ่งเป็นโรคสำคัญในหมู ที่ไทยยังคงเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียและอาเซียนที่คงสถานะปลอดจากโรคนี้จนถึงปัจจุบัน
รัฐบาลไทยต้องปกป้องประชาชนไทยจากกรงเล็บของพญาอินทรีย์ ไม่ปล่อยให้หมูสหรัฐเข้ามาทำลายอุตสาหกรรมหมู ที่วันนี้กำลังไปได้สวยทั้งแง่มาตรฐานการเลี้ยง การป้องกันโรค และการเป็นพระเอกของสินค้าเกษตรที่สามารถส่งออกและนำเงินตราต่างประเทศได้ในวิกฤตโควิดเช่นนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินมาถูกทางในการต่อสู้เพื่อคนไทย และทำถูกต้องที่สะกัดกั้นไม่ให้หมูมะกันที่เต็มไปด้วยสารอันตรายเข้ามาสร้างปัญหาสุขภาพให้กับคนไทย และไม่ให้มาทำลายอาชีพเกษตรกรไทยอีกหลายแสนคนได้ อย่ายอมอ่อนข้อให้สหรัฐฯ และไม่เปิดรับระเบิดเวลาเข้ามาทำลายสุขภาพคนไทยได้เด็ดขาด
โดย : ปฏิภาณ กิจสุนทร นักวิชาการอิสระ : [email protected]