ปลัดมท.สั่งด่วนทุกจังหวัด ยกเครื่องแก้น้ำท่วม-แล้งทั้งระบบ หวังเอาอยู่ ป้องปัญหาลูกโซ่กระทบไล่หลัง กำชับใช้งบประมาณ "ระบายน้ำ -ขุดหลุมเก็บกัก- ขอเชื้อเพลิง" อย่าทุจริต! วันที่ 17 ก.ย.60 นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย(มท.) ได้สั่งการด่วนผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ทั่วประเทศ ให้ดำเนินการระบายน้ำและกักเก็บน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง มีเนื้อหาระบุว่า ขณะนี้มีพื้นที่หลายจังหวัดเกิดภาวะฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่บางแห่ง และเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่เนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้นั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง และสามารถนำน้ำท่วมขังดังกล่าวมากักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งด้วย จึงให้จังหวัดดำเนินการดังนี้ 1.สำรวจพื้นที่ใกล้เคียงว่ามีแหล่งน้ำธรรมชาติหรือพื้นที่สาธารณะเพียงพอที่จะใช้ทำเป็นพื้นที่รับน้ำได้หรือไม่ เพื่อหาวิธีการชักน้ำหรือขุดเจาะทำเป็นหลุมรูดึงนำลงไปเก็บไว้ใต้ดิน ใต้พื้นหรือทำเส้นทางระบายน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมมากักเก็บไว้ให้ประชาชนใช้ในฤดูแล้งหรือในยามขาดแคลน 2.การทำเส้นทางระบายน้ำหรือการเปิดทางน้ำ เพื่อให้น้ำไหลออกมานั้น อาจใช้รถแบคโฮ (backhoe) หรือรถขุด ตักดิน หรือเครื่องมือ เครื่องจักรที่มีในพื้นที่ โดยให้ประสานงานกับอปท.เช่น อบจ. เทศบาลในพื้นที่เข้าไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่หรือประสานหน่วยทหารพัฒนา หน่วยทหารช่าง หรือภาคเอกชน เพื่อขอรับการสนับสนุนเครื่องมือดังกล่าว โดยจังหวัด อำเภอ หรือ อปท. ในพื้นที่อาจสนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามระเบียบของทางราชการ สำหรับกรณีที่จะใช้วิธีการขุดเจาะรูเพื่อระบายน้ำลงไปเก็บไว้ใต้ดินนั้น ให้ประสานงานกับหน่วยงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดหรือภาคเพื่อหารือร่วมกันในการทำโครงการขุดเจาะรูหรือขุดหลุมเพื่อนำนำ้ไปเก็บไว้ใต้ดินหรือในสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อไว้ใช้ในฤดูแล้ง ปลัดมท.ระบุต่อว่า ในการดำเนินการตามแนวทางข้างต้นนี้ให้พิจารณาใช้งบประมาณของปภ.จังหวัดหรือเงินงบประมาณพัฒนาจังหวัด กลุ่มจังหวัดที่เหลือจ่ายจากโครงการอื่นๆหรืองบประมาณแก้ไขปัญหาจังหวัดหรือแจ้งอปท.ให้พิจารณาใช้งบประมาณการแก้ไขปัญหาสาธารณภัยของอปท.ที่ได้ตั้งไว้ตามข้อบัญญัติจังหวัดหรือเทศบัญญัติด้วยก็ได้ แต่ให้กำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณทุกส่วนราชการให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการโดยเคร่งครัด อย่าให้เกิดการทุจริตจากโครงการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ด้วย 3.ในกรณีที่ไม่มีพื้นที่สาธารณะหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่มีพื้นที่ของประชาชนที่มีความเหมาะสมในการทำเป็นที่พักน้ำหรือแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ ให้หาวิธีการเจรจาเพื่อขอใช้พื้นที่ดังกล่าวจากเจ้าของพื้นที่ โดยอาจใช้วิธีการแลกเปลี่ยนกันโดยให้เจ้าของพื้นที่ได้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลาหรือสัตว์น้ำอื่นโดยทางราชการจัดทำเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อให้ส่วนราชการด้านการประมงหรือการเกษตรนำพันธุ์ปลาหรือสัตว์น้ำไปแจกจ่ายให้ประชาชนเจ้าของพื้นที่เป็นการเเลกเปลี่ยนในการสละพื้นที่เพื่อใช้เป็นที่พักน้ำในฤดูฝนซึ่งมีบางจังหวัด เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ใช้วิธีการนี้ดำเนินการแล้ว จึงให้จังหวัดอื่นๆได้นำแนวทางนี้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ตนเองหรือใช้วิธีการขอเช่าที่ดินจากเจ้าของ โดยให้ส่งรายละเอียดเกี่ยวกับพื้นที่และค่าเช่า มาที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)เพื่อพิจารณาหาแนวทางสนับสนุนงบประมาณตามระเบียบกฎหมายต่อไป 4.ให้จังหวัดและอำเภอสำรวจคูคลองทั้งหมดในทางกายภาพ พร้อมทั้งจัดหา รวบรวมแผนที่แสดงระดับความสูงต่ำของพื้นที่ในแต่ละแห่งรวมทั้งเส้นทางการไหลของน้ำ และเส้นทางการระบายน้ำ พร้อมทำการขุดลอกคลองหรือเส้นทางน้ำสายหลัก ตลอดจน อาจจัดหาโดรนเพื่อใช้ประกอบการทำแผนที่ วางแผนและเตรียมเส้นทางการทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนและกำหนดตำแหน่งศูนย์อพยพในแต่ละพื้นที่ รวมถึงเส้นทางการเข้าถึงศูนย์อพยพนั้นทุกทางด้วย 5.ในการบริหารจัดการตามวิธีการดังที่กล่าวมา จังหวัดอาจแต่งตั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าคณะทำงานดำเนินการ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำและการเกษตร รวมทั้งหน่วยงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรวมทั้งผู้แทนอปท.ในพื้นที่และ หน่วยงานทางวิชาการองค์กรวิชาชีพเข้าร่วมด้วย หรือจังหวัดอาจติดต่อประสานงานกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ เพื่อขอคำแนะนำหรือเชิญมาร่วมในการกำหนดจัดทำยุทธศาสตร์รับมือภัยพิบัติจากน้ำท่วมหรือภัยแล้งด้วยก็ได้ "ขอให้จังหวัดถือเป็นนโยบายสำคัญในการดูแลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างรวดเร็ว ทันเวลา และทุกมิติรอบด้านอย่างยั่งยืน เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบเชิงลูกโซ่ตามมาเมื่อปัญหาใดปัญหาหนึ่งสิ้นสุดลง" นายกฤษฎา ระบุ