สภาโหรงเหรง! ส.ส.ภท.-ปชป.ลาประชุมตรวจโควิด ขณะที่ มติรัฐสภายืนกรานปชช.เข้าชื่อทำประชามติ 5 หมื่นชื่อ ขณะที่”เพื่อไทย” ชงแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ-รายมาตรา ปัดตอบกระแสเปลี่ยนตัวประธานวิปฝ่ายค้าน “ตำรวจ”ออกหมายเรียก 40 คน “ม็อบไทยไม่ทน” ทั้งหัวโจก-ผู้เชิญชวนไม่รอด ส่วน“ศาลอาญา” สั่งจำคุก “ปารีณา” 1ปี-ปรับ1แสนบาท คดีหมิ่น“ช่อ” เอี่ยวบึ้มกรุงปี 62 ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 8 เดือน ปรับ 66,666 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา2 ปี ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 7 เม.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) โดยมีระเบียบวาระเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ..ปรากฎว่า ในห้องประชุมมีส.ส.เข้าร่วมบางตา เนื่องจากส.ส.พรรคภูมิใจไทยทั้งหมดได้ลาประชุม เพื่อไปตรวจโควิด ที่โรงพยาบาลบําราศนราดูร เนื่องจาก นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคฯ ต้องกักตัว เพราะติดเชื้อโควิด รวมทั้งข้าราชการกระทรวงคมนาคมได้รับเชื้อไวรัสมรณะ เช่นเดียวกับส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บางส่วนที่ลาไปตรวจเชื้อไวรัส จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ได้ชี้แจงถึงรายละเอียดการแก้ไขเนื้อหามาตรา 10-11 และมาตรา 20/3 ที่คณะกรรมการกฤษฎีกานำไปปรับปรุงให้สอดคล้องกับเนื้อหามาตรา9 ที่รัฐสภามีมติให้ปรับปรุงแก้ไขในการประชุมครั้งที่แล้ว โดยในส่วนมาตรา10 การให้ทำประชามติภายใน 90-120 วัน นับจากวันที่ประธานรัฐสภา ส่งเรื่องการทำประชามติให้นายกฯทราบ ไม่มีสมาชิกคนใดคัดค้าน ที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 449 ต่อ 0 งดออกเสียง 2 ส่วนมาตรา 11 เรื่อง จำนวนผู้เสนอเข้าชื่อ ทำประชามติ ที่ร่างกมธ.เสียงข้างมากระบุ ให้มีประชาชนเข้าชื่อ 50,000 คนขึ้นไป โดยมีกมธ.เสียงข้างน้อย และสมาชิกหลายคน อาทิ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ,นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ,พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ, นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เห็นแย้งว่าเป็นจำนวนมากเกินไป ควรกำหนดแค่ 10,000 คน ก็เพียงพอ เพราะไม่ว่าจะเสนอไปกี่รายชื่อ อำนาจชี้ขาดจะทำประชามติหรือไม่ก็ยังอยู่ที่ครม. นายชูศักดิ์ ศิรินิล กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า การทำประชามติไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่ครม.มีมติเห็นสมควร เพราะอาจมีกรณีอื่นๆที่ทำประชามติได้ เช่น การทำประชามติระดับพื้นที่ ระดับภาค ที่ไม่ต้องใช้ประชาชนทั้งประเทศเข้าชื่อ ดังนั้นการไปเพิ่มจำนวนผู้เข้าชื่อทำประชามติเป็น 5หมื่นชื่อนั้น ถ้าต้องทำประชามติในพื้นที่ จะเป็นจำนวนมากเกินไป การเข้าชื่อเพื่อทำประชามติตามมาตรา 11นั้น แม้ประชาชนจะเข้าชื่อ แต่สุดท้ายต้องให้ครม.เป็นผู้พิจารณาจะอนุญาตให้ทำประชามติหรือไม่ ถ้าครม.ไม่เห็นชอบก็ทำประชามติไม่ได้ การให้ประชาชนเข้าชื่อเป็นการริเริ่มทำประชามติเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า จะสำเร็จผลต้องทำประชามติ จึงควรกำหนดไว้ 10,000 คน น่าจะเหมาะสมแล้ว หลังจากที่ประชุมอภิปรายครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมลงมติเห็นด้วยตามที่กมธ.เสียงข้างมากเสนอมาด้วยคะแนน 347ต่อ154 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 2 ส่วน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน วิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยว่า พรรคเพื่อไทยจะยื่นขอแก้รัฐธรรมนูญ 2 แบบ คือ แก้ทั้งฉบับ และแก้แบบรายมาตรา ถ้าจะต้องทำประชามติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องทำ ถ้าประชาชนเอาด้วย ในสภาก็ไม่มีสิทธิจะมาโต้แย้ง เพราะเป็นความต้องการของประชาชน ส่วนกระแสข่าวการเปลี่ยนตัวประธานวิปฝ่ายค้านนั้น ยังไม่ทราบ แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ เรื่องตำแหน่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ได้บอกว่าไม่มี อะไรก็เป็นไปได้ วันเดียวกัน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวถึงกรณีการชุมนุมของกลุ่ม”ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน” ที่มี นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. และนายอดุลย์ เหลืองบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม เมื่อวันที่ 4 เม.ย. และวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินและ พ.ร.บ.ควบคุม โรค เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ ประกาศห้ามมีการชุมนุมเด็ดขาด โดยในการชุมนุมวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงครามได้รับความร้องทุกข์ ตามความร้องทุกข์คดีความอาญาที่ 205/2564 ดำเนินคดีกับนายอดุลย์เหลืองบริบูรณ์ พร้อมพวก 28 คน ซึ่งทางพนักงานสอบสวนจะได้ออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาตามกฎหมายต่อไป โดยมีการนัดหมายเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1.เรียกมารับทราบข้อหา 14 คน ในวันที่ 15 เม.ย. กลุ่มที่ 2 เรียกมา 14 คน ในวันที่ 16 เม.ย.64ส่วนการชุมนุมในวันที่ 5 เม.ย.พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงครามได้รับคำร้องทุกข์ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอีก 12 คน ตามคดีอาญาที่ 207 /2564 กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น.ให้แจ้งว่าการกระทำใดๆ การชุมนุมใดๆ ในเขตกรุงเทพฯ ขณะนี้เป็นการกระทำผิดกฎหมาย ผู้ประกาศเชิญชวน ไม่ว่าจะเป็นการเชิญชวนทางโซเชียลฯผู้ร่วมชุมนุม ผู้มีส่วนปราศรัยการชุมนุมตลอดจนผู้สนับสนุนการชุมนุม ทั้งรถสุขา เวที เครื่องเสียงถือเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกฎหมายทั้งสิ้น จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งหมด ที่ศาลอาญา นัดอ่านคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทหมิ่นผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328กรณีเมื่อวันที่ 4 ส.ค.62 เวลากลางวัน น.ส.ปารีณา จำเลยได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กกล่าวหาใส่ร้ายทำนองว่าน.ส.พรรณิการ์และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ขณะนั้น มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับเหตุระเบิดในหลายพื้นที่กรุงเทพฯ และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งล้วนเป็นข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง โดยศาลไต่สวนมูลฟ้องเห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา ขณะที่ น.ส.ปารีณา จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี ล่าสุดศาลพิเคราะห์เห็นว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 พิพากษา จำคุกจำเลย 1 ปี ปรับ 100,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาบ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 8 เดือน ปรับ 66,666 บาท ไม่ปรากฏว่า จำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี