รศ.ดร.ไพโรจน์ สถิรยากร คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดนิทรรศการผลงานนักศึกษาทุน “สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงานกับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ที่ โรงแรมแคนทารี่ โคราช จังหวัดนครราชสีมา ว่า โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เป็นการให้ทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาที่มีความยากจนได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษา ซึ่งในโครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ดีมากที่ทุกฝ่ายควรให้การสนับสนุน เพราะการให้ทุนการศึกษาเพื่อจะให้สามารถไปพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้ดีต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาคนขึ้นมาก่อน ฉะนั้นทุนของ กสศ.ในครั้งนี้จึงน่าสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง และเรากำลังจะมีนักศึกษาทุนในโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นแรกที่กำลัง จะสำเร็จการศึกษาออกไปในไม่กี่วันข้างหน้า ส่วนการต่อยอดโครงการดังกล่าวนี้ คือ ทาง กสศ.เองควรจะหาวิธีการว่าทำอย่างไรจึงจะให้ทุนเช่นนี้มีจำนวนมากขึ้นและเข้าให้ทั่วถึงกับคนไทยทุกคน ที่ควรจะได้รับโอกาสการศึกษาในครั้งนี้ตนคิดว่าการให้ทุนการศึกษาด้านอาชีวะของ กสศ.ครั้งนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญเพราะหลังจากที่เราจบการศึกษาด้านอาชีวะแล้วสามารถออกไปประกอบอาชีพได้เลย ซึ่งผู้รับทุนยังสามารถกลับไปช่วยเหลือครอบครัวได้และกลับไปช่วยประเทศชาติพัฒนาทั้งเศรษฐกิจสังคมต่อไปได้ โดยการดำเนินโครงการดังกล่าวนี้ รุ่นแรกจะจบการศึกษาในปีนี้และรุ่น 2 กำลังศึกษาอยู่ ส่วนรุ่น 3 อยู่ระหว่างการคัดเลือกโดยเน้นที่เด็กนักเรียนยากจน และด้อยโอกาสมีผลการเรียนที่ดี โดยได้รับเงินสนับสนุนคนละประมาณ 7,500 บาท/เดือน เด็กกลุ่มนี้จะได้ผ่านการฝึกด้านทักษะกับสถานประกอบการ และได้ฝึกด้านวิชาการกับครูอาจารย์ในสถานศึกษา ซึ่งจะทำให้เด็กนักศึกษาเหล่านี้แข็งแกร่งและมีความรู้เพียงพอที่จะออกไปรับใช้สังคม ขณะเดียวกัน ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมดวงตะวัน จ.เชียงใหม่ กสศ. จัดงาน โครงการปัจฉิมนิเทศ “สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงานกับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” สำหรับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง โดยมี ผศ.ดร.ปานเพชร ชินินทร อนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูง เป็นประธาน ผศ.ดร.ปานเพชร เปิดเผยว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นการรวบรวมเด็กนักศึกษาทุน กสศ. ตามโครงการนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นแรก และรุ่นน้อง ปวช.กับ ปวส. จากพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ทั้ง 9 จังหวัด มาร่วมโครงการปัจฉิมนิเทศ เพื่อเตรียมความพร้อม ก้าวออกจากเซฟโซนเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน ให้เรียนรู้ว่าหลังจากนี้ น้อง ๆ ต้องพบกับอะไรบ้าง ขณะเดียวกัน กิจกรรมดังกล่าวก็จัดขึ้น เพื่อเป็นการรวบรวมโอกาส ในการทำงาน โดยทางกองทุน กสศ. เชิญตัวแทนจากภาคธุรกิจ ชุมชน เข้าร่วมจัดนิทรรศการ และออกบูทส์กิจกรรม พร้อมรับสมัครงาน ผศ.ดร.ปานเพชร กล่าวว่า ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ช่วยเติมความฝันให้กับน้อง ๆ ได้เป็นจริง ซึ่งนักศึกษาทุนทางภาคเหนือตอนบน ส่วนใหญ่เป็นเด็กในพื้นที่สูงและกลุ่มชาติพันธ์ ที่ครอบครัวทำการเกษตร ซึ่งที่ผ่านมา นักศึกษาทุนทุกคนมีความฝัน ที่อยากสานต่ออาชีพของครอบครัว ให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งการขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษา ทุนทรัพย์ในการเรียน และองค์ความรู้ที่จะนำไปต่อยอด ทำให้ความฝันต้องดับลง แต่เมื่อมีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น ทำให้ได้โอกาสเรียนรู้จากนักวิชาการและผู้มีประสบการณ์ รวมถึงโอกาสในการศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนนวัตกรรมต่าง ๆ ตามโครงการที่ กสศ.จัดขึ้น กิจการของหลายครอบครัว กลับมามีความหวัง บางรายนำความรู้ที่ได้ ไปต่อยอดทำฟาร์มสุกร เปิดร้านกาแฟสร้างแบรด์จากยอดดอย หรือเปิดร้านอาหาร จำหน่ายเมนูฟิวชั่นจากวัตถุดิบที่หาได้จากท้องถิ่น คาดหวังว่า หลังจากนี้อนาคตของน้อง ๆ รุ่นนี้ จะสดใส และกลับมาบอกเล่าประสบการณ์ที่ได้ ให้รุ่นน้อง รุ่นต่อไป ได้มีความหวัง และสานฝันที่ตัวเองวาดไว้ พร้อมกลับมาทำคุณประโยชน์คืนสู่สังคมได้ต่อไป ขณะที่ นายวัศพล สมิสสุตานนท์ อายุ 20 ปี นักศึกษาชั้นปี 2 ปวส. สาขาเทคนิคยานยนต์ วิทยาลัยเทคนิคปากช่อง หนึ่งในนักศึกษาที่ได้รับทุน กล่าวว่า ตนเองได้รับทุนตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ซึ่งโครงการนี้ทำให้ตนเองมีโอกาสทางการศึกษา และยังทำอาชีพเสริมได้ด้วย โดยได้ทุนไปใช้ในการซื้ออุปกรณ์ซ่อมรถ ใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนเปิดร้านซ่อมรถเล็ก ๆ สำหรับเพื่อนที่สนิทกันก็จะนำรถมาซ่อมทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และขณะเดียวกันก็ได้เรียนต่อในระดับชั้นสูงขึ้น และยังแบ่งรายได้ไปจุนเจือครอบครัวอีกด้วย ด้าน น.ส.สร้อยทอง นระมาตย์ อายุ 21 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ปวส.สาขาเครื่องมือกล วิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ กล่าวว่า ได้ทุนโครงการนี้ 2 ปี ต้องขอบคุณทุนจากกสศ. ตอนแรกตนเองจะไม่ได้เรียนต่อแล้ว เพราะทางบ้านฐานะยากจน อาศัยอยู่กับแม่ เพราะพ่อเสียชีวิต มีน้องอีก1คน เงินที่ได้จากทุนการศึกษาเดือนละ 7,500 บาท นำไปใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงเรียน ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และแบ่งให้น้องไปโรงเรียนและยังมีเงินเก็บอีกเล็กน้อย หลังจากจบชั้น ปวส.แล้ว ตั้งใจจะออกไปทำงาน โดยอยากทำงานในแผนกออกแบบ หรือ QA ตามที่เรียนมา อย่างไรก็ตามอยากขอบคุณกสศ.ที่มองเห็นความตั้งใจของเราว่าเราต้องการเรียนต่อ ด้าน น.ส.บุญยม โปธามูล หัวหน้าแผนกวิชาคหกรรม สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ วิทยาลัยเทคนิคลำพูน เปิดเผยว่า จากที่ได้เข้ามาร่วมงานกับ กสศ. เห็นถึงความตั้งใจขององค์กรมาโดยตลอด ที่ต้องการเปิดพื้นที่ให้โอกาสน้อง ๆ ที่เป็นเด็กเรียนดี มีความประพฤติที่เหมาะสม แต่เกือบไม่มีโอกาสได้ศึกษาต่อเพราะขาดทุนทรัพย์ เนื่องจากฐานะทางบ้าน ได้กลับมารับโอกาสทางการศึกษาอีกครั้ง ซึ่งนั้นเปรียบเสมือนการยื่นเบ็ดและสอนวิธีการหาปลา ได้มีวิชาความรู้ติดตัวไปประกอบอาชีพในอนาคตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และยังเป็นการสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคม เพราะมีการปลูกฝังจิตสาธารณะให้เป็นพื้นฐานในการใช้ชีวิต ตั้งแต่ได้ร่วมงานกับ กสศ. มาตั้งแต่รุ่นแรก จนถึงปัจจุบัน พบว่า กสศ.ไม่ได้ส่งเสริมแต่นักศึกษา แต่ยังเป็นการพัฒนาครูให้มีความพร้อม และเป็นแม่พิมพ์ที่ดี เพื่อผลิตบุคลากรที่ดีของประเทศอีกด้วย ขณะที่ น.ส.สุกัญญา ขันสวะ นักศึกษา ปวส. ชั้นปีที่ 2 แผนกวิชาอาหารและโภชนาการ วิทยาลัยเทคนิคลำพูน เปิดเผยว่า รู้สึกภูมิใจ และดีใจที่ตัวเองไม่ปิดกั้นโอกาสดี ๆ ให้กับชีวิต เพราะที่ผ่านมาเป็นคนไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าพูดและไม่มีสังคม แต่เมื่อได้รับโอกาสจากคุณครู ผ่านการอบรม ฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ในชีวิต โดยเฉพาะการพูด การนำเสนอผลงานในที่ชุมชน ทำให้ขณะนี้มีความกล้า เห็นคุณค่าในตัวเองและมีสังคมกว้างขึ้น ส่วนการสนับสนุนของ กสศ. ส่งไปอบรมต่อยอดทางสายวิชา ทำให้ขณะนี้ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ มาสร้างนวัตกรรมให้กับสินค้าท้องถิ่น เป็นผงปรุงรสน้ำพริกอ่องเสริมอินทผลัมและซอสผัดไทยลำไย ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตเกษตรในพื้นที่ของตัวเอง และยังทำให้ตัวเอง มีรายได้จากงานวิทยากร จากการสอนอาชีพให้กับชาวบ้านในชุมชน และในอนาคต ที่สำคัญต้องการให้น้อง ๆ ได้รับโอกาส และมาสานต่อโครงการที่มีประโยชน์ต่อคนในชุมชนและประเทศชาติต่อไป