สาขาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) จัดแสดงนิทรรศการผลงานนักศึกษา เรื่อง “เส้นสายลายตอง” บอกเล่าเรื่องราวของใบตองกับวิถีชีวิตคนไทย ที่มีการหลอมรวมเป็นวัฒนธรรมจากใบไม้สู่มูลค่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา หลักการจัดนิทรรศการทางวัฒนธรรม (Principles of Principles of Cultural Exhibition) โดยมี ผศ.ธาตรี คำแหง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นประธานกล่าวเปิด เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 ณ หอศิลป์ศรีวิชัย อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา (อาคารคณะมนุษยศาสตร์ฯ) . ดร.ศิริอร เพชรภิรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และเป็นผู้สอนรายวิชาหลักการจัดนิทรรศการทางวัฒนธรรม เปิดเผยว่า การแสดงนิทรรศการดังกล่าวนี้ เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาหลักการจัดนิทรรศการทางวัฒนธรรม สอนเกี่ยวกับแนวคิดด้านการจัดนิทรรศการที่ครอบคลุมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎี ประเภท หลักการ องค์ประกอบ แนวคิดในการเขียนและออกแบบการจัดแสดงนิทรรศการ เทคนิคการจัดนิทรรศการ ปฏิบัติการออกแบบจัดแสดงนิทรรศการทางวัฒนธรรม เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติจริง เรียนรู้จากเเนวคิดทฤษฏีที่ได้ศึกษา ตลอดฝึกการทำงานเป็นทีม สร้างความรับผิดชอบ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ โดยการนำวัฒนธรรมมาจัดการให้มีความดึงดูดอย่างน่าสนใจผ่านรูปแบบของสื่อทางวัฒนธรรม . สำหรับการแสดงนิทรรศการ เรื่อง “เส้นสายลายตอง” เป็นการเลือกจัดหัวข้อโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาการจัดการทางวัฒนธรรม เพื่อจัดแสดงความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับใบตองในด้านต่างๆ ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาพร้อมทั้งการใช้วัสดุทดแทนใบตอง มีการจัดแสดงความรู้ทั้งในรูปแบบงานประดิษฐ์ งานหัตถกรรม ภาพถ่าย บันทึกต่างๆ ที่เกี่ยวกับใบตอง เพราะในอดีตมนุษย์พยายามเรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติเน้นความกลมกลืนในรูปแบบของการพึ่งพาอาศัยซึ่งกัน ภายใต้กรอบของการรับและการให้อย่างเหมาะสม สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งมนุษย์ได้ดัดแปลงมาจากธรรมชาติ ล้วนแล้วแต่ถูกนำไปใช้อย่างให้เหมาะสมและมีความสมดุล ใบตองเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่พบเจอได้ทั่วไปมีลักษณะพันธุ์ที่เหมาะสมกับการใช้งานในรูปแบบต่างๆ แตกต่างกันไป ผูกสัมพันธ์กับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนไทยมาตั้งแต่อดีต ประดิษฐ์ คิดค้น และสร้างสรรค์จนกลายเป็นทั้งงานศิลปะ และภูมิปัญญาแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิต เป็นวัฒนธรรมที่หลอมรวมจนเป็น สื่อกลางของคนและธรรมชาติ รวมไปถึงสิ่งเหนือธรรมชาติ อันเป็นแรงจูงใจ ให้มนุษย์สรรค์สร้าง และพัฒนา ใบไม้ธรรมดาจนเกิดเป็นคุณค่า และสร้างมูลค่าคู่วิถีชีวิตคนไทย . เชิญพบกับความเป็นไทย ที่เล่าเรื่องราวของใบตอง กับวิถีชีวิตคนไทย ผ่านรูปแบบนิทรรศการ “เส้นสายลายตอง” ที่ได้แบ่งออกเป็น 6 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 เส้นสาย Line ตอง ทำความเข้าใจถึงประวัติความเป็นมาและแหล่งกำเนิดของต้นกล้วย ในแต่ละยุคว่ามีความเกี่ยวพันอย่างไรกับวิถีชีวิตของคนไทย โซนที่ 2 Banana Gene รู้จักกับพันธุ์กล้วยในประเทศไทย ส่วนประกอบรวมไปถึงประโยชน์ของต้นกล้วย โซนที่ 3 (ผี) ตองเหลือง ชนเผ่าโบราณ “มลาบรี” การดำรงชีวิต และความสัมพันธ์ระหว่างชนเผ่า กับใบตอง โชนที่ 4 กำเคียวเกี่ยวตอง เรียนรู้ประโยชน์ และความสำคัญเกี่ยวกับการสร้างอาชีพจากใบกล้วย โซนที่ 5 คลี่พับจับจีบ วัฒนธรรมไทยที่แสดงถึงวิถีชีวิตที่โยงเอาใบตองเข้าไปเป็นส่วนต่างๆ ของวิถีไทย และโซนที่ 6 ใบตอง Upcycle รู้จักใบตองที่นำมาดัดแปลงในรูปแบบต่างๆ ได้ระหว่างวันที่ 5-9 เมษายน 2564 เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ หอศิลป์ศรีวิชัย อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี